แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ผู้คัดค้านที่ 3 ไม่อาจเข้ารับมรดกแทนที่ อ. เพราะ อ. ถึงแก่ความตายภายหลังเจ้ามรดกก็ตาม แต่ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นบุตรของ อ. ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายเพราะเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย ซึ่งไม่มีสามีและบุตร และบิดามารดาตายไปก่อนแล้ว เมื่อ อ. ถึงแก่ความตายภายหลังผู้ตาย ทรัพย์มรดกในส่วนของ อ. จึงตกแก่ผู้คัดค้านที่ 3 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 ดังนั้น ผู้คัดค้านที่ 3 ย่อมเป็นทายาทผู้สืบสิทธิของ อ. ในการรับมรดกของผู้ตาย จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสีย มีสิทธิขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้
ย่อยาว
คดีนี้ เดิมศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 6712/2547 ของศาลชั้นต้น โดยให้เรียกนางอาภรณ์ ผู้ร้องในสำนวนดังกล่าวซึ่งเป็นผู้คัดค้านที่ 1 ในสำนวนนี้ว่า ผู้ร้อง เรียกนายพศวัตร์ ผู้คัดค้านที่ 1 ในสำนวนดังกล่าวและผู้คัดค้านที่ 2 ในสำนวนนี้ว่า ผู้คัดค้านที่ 1 และเรียกนายทรงชัย ผู้คัดค้านที่ 2 ในสำนวนดังกล่าวซึ่งเป็นผู้ร้องในสำนวนนี้ว่า ผู้คัดค้านที่ 2 และเรียกนายนิมิตร ผู้คัดค้านที่ 3 ในสำนวนนี้ว่าผู้คัดค้านที่ 3 แต่คดีดังกล่าวยุติไปแล้วในศาลชั้นต้นเนื่องจากผู้ร้องถึงแก่ความตายคงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะสำนวนนี้
ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคัดค้านขอให้มีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแต่ผู้เดียว
ผู้ร้องยื่นคัดค้าน ขอให้ยกคำร้องขอ
ผู้คัดค้านที่ 3 ยื่นคำคัดค้านและแก้ไขคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องขอของผู้คัดค้านที่ 2 และตั้งผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคัดค้านผู้คัดค้านที่ 3 ขอให้ยกคำขอของผู้คัดค้านที่ 3
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งตั้งนายพศวัตร์ผู้คัดค้านที่ 1 นายทรงชัยผู้คัดค้านที่ 2 และนายนิมิตรผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันของนางสาวแดง ผู้ตาย ให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 2 ประการแรก ผู้คัดค้านที่ 3 มีสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกได้หรือไม่ โดยผู้คัดค้านที่ 2 ฎีกาว่าผู้คัดค้านที่ 3 เป็นบุตรของนางอาภรณ์ ผู้ร้องซึ่งถึงแก่ความตายหลังผู้ตายผู้คัดค้านที่ 3 จึงไม่อยู่ในฐานะทายาทซึ่งจะเป็นผู้รับมรดกแทนที่ผู้ตาย เห็นว่า แม้ว่ากรณีจะไม่ใช่เรื่องที่ผู้คัดค้านที่ 3 เข้ารับมรดกแทนที่ผู้ร้องเพราะผู้ร้องถึงแก่ความตายภายหลังเจ้ามรดกก็ตาม แต่ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นบุตรของผู้ร้อง ซึ่งผู้ร้องเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับผู้ตาย เมื่อผู้ตายไม่มีสามีและบุตร บิดามารดาตายไปแล้ว ผู้ร้องจึงเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย เมื่อผู้ร้องถึงแก่ความตายภายหลังผู้ตาย ทรัพย์มรดกในส่วนของผู้ร้องจึงตกแก่ผู้คัดค้านที่ 3 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 ผู้คัดค้านที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรของผู้ร้องย่อมเป็นทายาทผู้สืบสิทธิของผู้ร้องในการรับมรดกของผู้ตาย จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสีย มีสิทธิขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 2 ประการต่อไปว่า สมควรตั้งผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้คัดค้านที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า ในการจัดการมรดกนั้น ผู้จัดการมรดกต้องมีหน้าที่รวบรวมทรัพย์สินตลอดจนหนี้สินของผู้ตาย ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับผู้ตาย จึงเป็นทายาทที่มีความใกล้ชิดผู้ตายมากกว่าผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 3 ซึ่งเป็นหลานของผู้ตาย อีกทั้งผู้คัดค้านที่ 2 อ้างว่าได้ประกอบธุรกิจร่วมกับผู้ตายก่อนที่ผู้ตายถึงแก่ความตาย ผู้คัดค้านที่ 2 จึงอยู่ในฐานะที่จะทราบเกี่ยวกับทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ตายอันจะเป็นประโยชน์ในการจัดการมรดกของผู้ตายและจะเป็นการสะดวกในการจัดการมรดกมากกว่าที่ให้มีผู้จัดการมรดกหลายคน ตามพฤติการณ์แห่งคดีจึงเห็นสมควรที่จะให้ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกเพียงคนเดียว ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 2 ข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ตั้งนายทรงชัย ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวแดง ผู้ตาย แต่ผู้เดียวกับให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ