คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1230/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกหกล้อ และเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 3 โดยจ้างจำเลยที่ 3 เป็นคนขับรถไปรับจ้างบรรทุกสินค้าพืชไร่ต่าง ๆ ตามปกติจำเลยที่ 3 เอารถไปเก็บไว้ที่บ้านของจำเลยที่ 3 เสมอโดยความยินยอมของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 วันเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ขับรถยนต์บรรทุกมันสำปะหลังไปส่ง แล้วนำรถไปเก็บที่บ้านของจำเลยที่ 3 ต่อมาตอนกลางคืนจำเลยที่ 3 ขับรถดังกล่าวไปส่งผู้ป่วยที่โรงพยาบาลจังหวัดนครราชสีมา ขากลับจากโรงพยาบาลจำเลยที่ 3 จึงขับไปชนรถยนต์ของโจทก์เสียหาย ดังนี้ ถึงแม้เหตุจะเกิดขึ้นในระหว่างที่จำเลยที่ 3 ขับรถไปธุระส่วนตัวโดยจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ไม่ทราบก็ตาม แต่เนื่องจากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 3 นำรถคันเกิดเหตุไปเก็บไว้ที่บ้านของจำเลยที่ 3 ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 3 นำรถออกไปใช้ได้ตลอดเวลา ตราบใดที่รถยังไม่กลับไปอยู่กับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ผู้เป็นนายจ้างก็ย่อมต้องถือว่าจำเลยที่ 3 ขับรถไปในทางการที่จ้าง จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในผลละเมิดด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกหกล้อและเป็นนายจ้างของจำเลยที่ ๓ รับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ เนื่องจากจำเลยที่ ๓ ขับรถยนต์คันดังกล่าวไปในทางการที่จ้างโดยประมาทเลินเล่อชนรถยนต์โจทก์เสียหาย
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธความรับผิด เหตุเกิดเพราะความผิดของคนขับรถยนต์ของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าเหตุเกิดเพราะความผิดของจำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๓ กระทำละเมิดต่อโจทก์เป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน ๑๑๓,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ เห็นว่าเหตุเกิดเพราะความผิดของจำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๑ ที่ ๒เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุและเป็นนายจ้างของจำเลยที่ ๓ แต่จำเลยที่ ๓ ไม่ได้ขับรถยนต์บรรทุกนั้นไปในทางการที่จ้าง เป็นการขับรถไปโดยพลการ จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ จึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๓ ในผลแห่งละเมิด พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ รับผิดต่อโจทก์ด้วย
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์วิทยุตำรวจทางหลวงหมายเลขทะเบียนโล่ ๐๒๒๓๓ จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกหกล้อ หมายเลขทะเบียน ลบ. ๑๔๙๔๘ และเป็นนายจ้างของจำเลยที่ ๓ โดยจ้างจำเลยที่ ๓ เป็นคนขับรถไปรับจ้างบรรทุกสินค้าพืชไร่ต่าง ๆ ตามปกติจำเลยที่ ๓ เอารถไปเก็บไว้ที่บ้านของจำเลยที่ ๓ เสมอ โดยความยินยอมของจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ เกิดเหตุวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๒๑ เวลาประมาณ๑ นาฬิกา จำเลยที่ ๓ ขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไปตามถนนสายโชคชัย -เดชอุดม มุ่งหน้าไปอำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมาและด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง จำเลยที่ ๓ ได้ขับรถยนต์ดังกล่าวชนรถยนต์วิทยุของโจทก์ตรงหลักกิโลเมตรที่ ๒๒ – ๒๖ ได้รับความเสียหายคิดเป็นเงิน ๑๑๓,๒๒๕ บาท วันเกิดเหตุจำเลยที่ ๓ ขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุบรรทุกมันสำปะหลังไปส่งแล้วนำรถไปเก็บที่บ้านของจำเลยที่ ๓ ซึ่งอยู่ห่างบ้านจำเลยที่ ๑ ประมาณ ๑ กิโลเมตร คืนวันเกิดเหตุ จำเลยที่ ๓ ขับรถไปส่งผู้ป่วยที่โรงพยาบาลจังหวัดนครราชสีมา ขากลับจากโรงพยาบาลจำเลยที่ ๓ จึงขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุชนรถยนต์ของโจทก์เสียหาย ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยที่ ๓ ได้ขับรถไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ หรือไม่ และวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ถึงแม้เหตุจะเกิดขึ้นระหว่างที่จำเลยที่ ๓ ขับรถไปธุระส่วนตัว โดยจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ไม่ทราบก็ตาม แต่เนื่องจากจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ยินยอมให้จำเลยที่ ๓ นำรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไปเก็บไว้ที่บ้านของจำเลยที่ ๓ ถือได้ว่าจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ยินยอมให้จำเลยที่ ๓ นำรถออกไปใช้ได้ตลอดเวลา ตราบใดที่รถยังไม่กลับไปอยู่กับนายจ้างก็ย่อมต้องถือว่าจำเลยที่ ๓ ขับรถไปในทางการที่จ้าง จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จึงต้องร่วมรับผิดในผลละเมิดด้วย
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

Share