แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นไม่ได้ชี้สองสถาน โดยนัดสืบพยานวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2544 หลังจากสืบพยานผู้ร้องไปบางส่วนแล้ว เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2544 คู่ความแถลงร่วมกันขอให้ทำแผนที่พิพาท ศาลชั้นต้นจึงสั่งให้จัดทำแผนที่พิพาท สำนักงานที่ดินจังหวัดระยองจัดทำแผนที่ดินพิพาทส่งมาถึงศาลวันที่ 13 กรกฎาคม 2544 ซึ่งคดีอยู่ในระหว่างการสืบพยานผู้คัดค้าน ข้อเท็จจริงจึงปรากฏว่าเนื้อที่ดินที่รุกล้ำอยู่นั้นเป็นจำนวนเนื้อที่ 25.7 ตารางวา ไม่ใช่ 14 ตารางวา ตามที่ผู้ร้องคิดคำนวณเองและระบุในคำร้อง ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้ร้องก็ไม่อาจทราบได้ จึงเป็นกรณีที่มีเหตุอันสมควรที่ไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนนั้น ประกอบกับตามคำร้องขอที่ผู้ร้องเสนอคดีต่อศาลระบุอาคารของผู้ร้องบางส่วนปลูกสร้างอยู่บนที่ดินพิพาท ผู้ร้องคำนวณเนื้อที่ส่วนนี้ได้ 14 ตารางวา ผู้ร้องครอบครองอย่างเป็นเจ้าของซึ่งหมายถึงครอบครองส่วนที่รุกล้ำอยู่ทั้งหมด จำนวนเนื้อที่ระบุในคำร้องขอจึงเป็นส่วนของรายละเอียดในคำร้องขอ จึงเป็นการขอแก้ไขในส่วนของรายละเอียดให้ชัดเจน ถือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือผิดหลงเล็กน้อย แม้ขณะร้องขอแก้ไขได้มีการสืบพยานเสร็จแล้ว คดีอยู่ระหว่างนัดฟังคำพิพากษาแต่ก็ถือว่าคดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณา ผู้ร้องยื่นคำร้องขอแก้ไขได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180
ผู้ร้องรับรองความเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทของผู้คัดค้านมาโดยตลอด ไม่ได้ครอบครองโดยแย่งกรรมสิทธิ์ แม้เมื่อปี 2541 ถึงปี 2542 ผู้คัดค้านรังวัดที่ดิน ผู้ร้องไม่ยอมลงชื่อรับรองเขตเจ้าของที่ดินข้างเคียง ก็ยังไม่พอฟังว่าผู้ร้องแสดงเจตนาต่อผู้คัดค้านเปลี่ยนการยึดถือเพื่อตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของอาคารพาณิชย์เลขที่ 009/4 ซึ่งปลูกบนที่ดินบางส่วนของโฉนดที่ดินเลขที่ 13287 ตำบลท่าประดู่ อำเภอเมืองระยอง ของนายวสันต์ โสภณ ตั้งแต่ปี 2500 ที่ดินดังกล่าวมีเนื้อที่ประมาณ 25 ตารางวา ในปี 2519 นายวสันต์ขายที่ดินบางส่วนในโฉนดที่ดินดังกล่าวออกให้บุคคลภายนอกเช่าตั้งแต่ปี 2500 จนถึงปัจจุบัน ผู้ร้องครอบครองที่ดินดังกล่าวโดยสงบเปิดเผยเจตนาเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ติดต่อกันจนได้รับกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายแล้ว ขอให้มีคำสั่งว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 13287 ตำบลท่าประดู่ อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง บางส่วนประมาณ 25 ตารางวา เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 และขอให้มีหนังสือแจ้งให้พนักงานที่ดินจังหวัดระยอง ทำนิติกรรมแบ่งแยกและแก้ทะเบียนเป็นชื่อผู้ร้องในที่ดินประมาณ 25 ตารางวา ของโฉนดที่ดินเลขที่ 13287 ตำบลท่าประดู่ อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า เมื่อปี 2499 นายเขียว โสภณ ซึ่งเป็นบิดาผู้ร้องและนายวสันต์ โสภณ ยกที่ดินโฉนดเลขที่ 100 ตำบลท่าประดู่ อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ให้ผู้ร้อง และยกที่ดินโฉนดเลขที่ 101 ตำบลท่าประดู่ อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ให้นายวสันต์ ซึ่งที่ดินทั้งสองแปลงอยู่ติดกัน ในปี 2500 นายเขียวสร้างอาคารพาณิชย์บนที่ดินดังกล่าวจำนวน 7 คูหา มีอาคารพาณิชย์เลขที่ 009/4 ปลูกรุกล้ำที่ดินโฉนดเลขที่ 101 โดยเขียว นายวสันต์และผู้ร้องทราบดี นายวสันต์ได้ยินยอมให้ผู้ร้องครอบครองแทนมาโดยตลอด และการให้บุคคลอื่นเช่าอาคารเลขที่ 009/4 มาตลอด ถือว่าผู้เช่าได้ครอบครองแทนนายวสันต์ ในปี 2518 นายวสันต์ได้ยกที่ดินโฉนดเลขที่ 101 ให้นางวลัยภรณ์ โสภณ ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2518 นางวลัยภรณ์ได้ขายที่ดินบางส่วนให้ผู้คัดค้านและผู้คัดค้านได้ขอแบ่งแยกที่ดินออกเป็นโฉนดเลขที่ 13287 ในปี 2540 ผู้คัดค้านได้ทำการรังวัด แต่ผู้ร้องไม่ยอมรับแนวเขต การที่ผู้ร้องหรือผู้เช่าครอบครองที่ดินที่รุกล้ำดังกล่าวตั้งแต่ปี 2500 ถึง 2530 และถึงปี 2540 ถือเป็นการครอบครองแทนนายวสันต์และครอบครองแทนผู้คัดค้านผู้ร้องไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์
ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินจัดทำที่พิพาทแสดงอาณาเขตและเนื้อที่พิพาท ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินจัดทำแล้วปรากฏว่าที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ 25.7 ตารางวา ไม่ใช่ 14 ตารางวา ตามที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอครั้งแรก เมื่อสืบพยานเสร็จทั้งสองฝ่าย ผู้ร้องยื่นคำร้องขอแก้ไขคำร้องขอ โดยขอแก้ไขจำนวนเนื้อที่ที่ขอแสดงกรรมสิทธิ์จาก 14 ตารางวา เป็น 25.7 ตารางวา ผู้คัดค้านยื่นคำแถลงคัดค้าน ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วอนุญาตให้ผู้ร้องแก้ไขคำร้องขอได้ตามคำขอ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้องขอ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องและผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องและผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งฟังได้ว่า ผู้ร้องและนายวสันต์ โสภณ เป็นบุตรนายเขียว โสภณ นายเขียวเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 100 และ 101 ตำบลท่าประดู่ อำเภอเมืองระยอง ที่ดินทั้งสองแปลงมีอาณาเขตติดต่อกัน ปี 2499 นายเขียวยกที่ดินโฉนดเลขที่ 100 ให้แก่ผู้ร้องและยกที่ดินโฉนดเลขที่ 101 ให้แก่นายวสันต์ ปี 2500 นายเขียวสร้างอาคารห้องแถว 7 ห้อง บนที่ดินทั้งสองแปลงเป็นอาคารเลขที่ 009/1-7 ต่อมานายเขียวยกอาคารเลขที่ 009/1-3 ให้นายวสันต์ ยกอาคารเลขที่ 009/4-7 ให้ผู้ร้อง โดยอาคารเลขที่ 009/4 ปลูกสร้างอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 101 บางส่วน ปี 2518 นายวสันต์ยกโฉนดที่ดินเลขที่ 101 พร้อมอาคารเลขที่ 009/1-3 ให้นางวลัยภรณ์ โสภณ บุตรสาว และในปี 2518 นั้นเอง นางวลัยภรณ์ขายที่ดินที่ไห้รับการยกให้บางส่วนพร้อมอาคารเลขที่ 009/3 แก่ผู้คัดค้าน ซึ่งต่อมาแยกโฉนดออกเป็นโฉนดเลขที่ 13287 และบางส่วนของอาคารเลขที่ 009/4 ที่ปลูกสร้างอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 101 กลายมาเป็นอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 13287 ของผู้คัดค้านซึ่งผู้ร้องคำนวณเนื้อที่เองได้ 14 ตารางวา แต่เมื่อจัดทำแผนที่พิพาทเอกสารหมาย ค.6 แล้ว ปรากฏว่าเป็นเนื้อที่ 25.7 ตารางวา ผู้ร้องครอบครองอาคารเลขที่ 009/4 ให้บุคคลอื่นเช่า มีปัญหาวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาผู้คัดค้านว่า ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ร้องแก้ไขคำร้องขอเปลี่ยนแปลงเนื้อที่ที่อ้างว่าครอบครองจาก 14 ตารางวา เป็นเนื้อที่ 25.7 ตารางวา ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งผู้คัดค้านฎีกาว่า ที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเมื่อเสร็จสิ้นการสืบพยานแล้วคดีอยู่ระหว่างนัดฟังคำพิพากษา กรณีไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนไม่ใช่ข้อผิดหลงเล็กน้อย ทำให้ผู้คัดค้านเสียเปรียบนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 กำหนดเวลาในการยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องไว้โดยให้ยื่นก่อนวันชี้สองสถานหรือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน ในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน เว้นแต่มีเหตุอันสมควรที่ไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนนั้น หรือเป็นการขอแก้ไขในเรื่องที่เกียวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือเป็นการขอแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย คดีนี้ไม่ได้กำหนดนัดชี้สองสถาน และนัดสืบพยานวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2544 หลังจากสืบพยานผู้ร้องไปบางส่วนแล้ว เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2544 คู่ความแถลงร่วมกันขอให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดทำแผนที่พิพาทโดยเสียค่าใช้จ่ายกันคนละครึ่ง ศาลชั้นต้นจึงสั่งให้จัดทำแผนที่พิพาท สำนักงานที่ดินจังหวัดระยองจัดทำแผนที่พิพาทเอกสารหมาย ค.6 ส่งมาถึงศาลวันที่ 13 กรกฎาคม 2544 ซึ่งคดีอยู่ในระหว่างการสืบพยานผู้คัดค้าน ข้อเท็จจริงจึงปรากฏว่าเนื้อที่ดินที่อาคารเลขที่ 009/4 ของผู้ร้องรุกล้ำอยู่นั้นเป็นจำนวนเนื้อที่ 25.7 ตารางวา ไม่ใช่ 14 ตารางวา ตามที่ผู้ร้องคิดคำนวณเองและระบุในคำร้องขอ แต่ความเป็นจริงแล้วเป็นบริเวณเดียวกันคือส่วนที่อาคารรุกล้ำอยู่ เพียงแต่คำนวณเนื้อที่ได้ไม่เท่ากัน ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้ร้องก็ไม่อาจทราบได้ จึงเป็นกรณีที่มีเหตุอันสมควรที่ไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนนั้น เข้าข้อยกเว้นประการหนึ่งตามที่กล่าวข้างต้น ประกอบกับตามคำร้องขอที่ผู้ร้องเสนอคดีต่อศาลระบุอาคารเลขที่ 009/4 ของผู้ร้องบางส่วนปลูกสร้างอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 13287 ผู้ร้องคำนวณเนื้อที่ส่วนนี้ได้ 14 ตารางวา ผู้ร้องครอบครองอย่างเป็นเจ้าของซึ่งหมายถึงการครอบครองส่วนที่รุกล้ำอยู่นั้นหมด ไม่ใช่ครอบครองบางส่วนที่รุกล้ำเพียงจำนวน 14 ตารางวา ฉะนั้นส่วนที่ครอบครองทั้งหมด เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดสอบเขตแล้วคำนวณเนื้อที่ได้ 25.7 ตารางวา จำนวนเนื้อที่ที่ระบุในคำร้องขอจึงเป็นส่วนของรายละเอียดในคำร้องขอตั้งต้นคดี การขอแก้ไขจึงเป็นการขอแก้ไขในส่วนของรายละเอียดให้ชัดเจน ถือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือผิดหลงเล็กน้อยเข้าข้อยกเว้นอีกประการหนึ่งของกฎหมาย แม้ขณะร้องขอแก้ไขได้มีการสืบพยานเสร็จแล้ว คดีอยู่ระหว่างนัดฟังคำพิพากษาแต่ก็ถือว่าคดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณา ผู้ร้องยื่นคำร้องขอแก้ไขได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต และศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนชอบแล้ว ฎีกาผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
ปัญหาประการที่สองตามฎีกาผู้ร้องว่า ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพาทเนื้อที่ 25.7 ตารางวา ตามแผนที่พิพาทเอกสารหมาย ค.6 โดยการครอบครองหรือไม่ ผู้ร้องมีนายเด่นศักดิ์ สุจริตธรรม ผู้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดีแทนผู้ร้องเบิกความเป็นพยานว่า พยานเป็นบุตรผู้ร้อง ผู้ร้องครอบครองอาคารเลขที่ 009/4 และที่ดินพิพาทโดยสงบโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของโดยตลอดตั้งแต่ได้รับการยกให้มาจากบิดาเมื่อปี 2500 โดยให้บุคคลอื่นเช่าอาคาร และมีนายไพรินทร์ เหลืองอ่อน เบิกความสนับสนุนว่า เป็นผู้เช่าอาคารเลขที่ 009/4 จากผู้ร้องมาตั้งแต่ปี 2539 จนปัจจุบัน ตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย ร.7 ถึง ร.10 ผู้คัดค้านเบิกความเป็นพยานว่า เดิมผู้คัดค้านเป็นผู้เช่าอาคารห้องเลขที่ 009/3 จากนางวลัยภรณ์มาตั้งแต่ปี 2514 ต่อมาปี 2518 จึงซื้ออาคารเลขที่ 009/3 พร้อมที่ดินบริเวณที่ปลูกสร้างเนื้อที่ 49 ตารางวา จากนางวลัยภรณ์ในราคา 50,000 บาท และแยกโฉนดที่ดินจากโฉนดเลขที่ 101 ออกมาเป็นโฉนดเลขที่ 13287 เมื่อปี 2519 ต่อมาปี 2529 ต่อเนื่องปี 2530 ผู้คัดค้านขอรังวัดสอบเขตที่ดินพบว่าอาคารเลขที่ 009/4 ของผู้ร้องปลูกสร้างรุกล้ำเข้ามาในที่ดินโฉนดเลขที่ 13287 ของผู้คัดค้าน ผู้ร้องลงชื่อรับรองเขตไว้ตามเอกสารหมาย ค.2 และผู้ร้องรับว่าจะรื้อถอนอาคารส่วนที่รุกล้ำออกไป ขอเวลาให้ผู้เช่าออกไปจากอาคารที่เช่าก่อน ต่อมาไม่ยอมรื้อถอน โดยนางสุพัตรา หฤษฎี พี่สาวผู้คัดค้านเบิกความสนับสนุน เห็นว่า นายเขียวบิดาผู้ร้องและนายวสันต์เป็นผู้ปลูกสร้างอาคาร นายวสันต์เบิกความเป็นพยานผู้ร้องรับข้อเท็จจริงว่านายเขียวให้ผู้ร้องและนายวสันต์ออมชอมกันเรื่องอาคารที่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของนายวสันต์เนื่องจากเป็นพี่น้องกันและขณะนั้นก็ไม่ทราบว่าเหลื่อมล้ำกันชัดเจนนัก ซึ่งจากคำเบิกความของนายวสันต์แสดงให้เห็นว่าถึงหากมีการรุกล้ำกันจริงก็เป็นเรื่องที่ตกลงกันได้ระหว่างพี่น้องซึ่งอาจตกลงซื้อขายที่ดินในส่วนรุกล้ำหรือให้ค่าตอบแทนเป็นค่าเช่าหรือให้อาศัยโดยไม่คิดค่าตอบแทน ไม่มีลักษณะของการแย่งกรรมสิทธิ์โดยการครอบครอง และข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าทั้งสองฝ่ายมีการตกลงซื้อขายหรือเช่าที่ดินพิพาท คงปล่อยให้อยู่อาศัยกันมาในลักษณะเดิมเท่ากับว่านายวสันต์ยินยอมให้อาคารเลขที่ 009/4 รุกล้ำที่ดินโฉนดเลขที่ 101 ของตนเรื่อยมาในลักษณะของการพึ่งพาอาศัยกันฉันพี่น้อง การครอบครองที่ดินพิพาทในลักษณะของการพึ่งพาอาศัยกันฉันพี่น้อง การครอบครองที่ดินพิพาทของผู้ร้องเป็นการครอบครองโดยอาศัยไม่ใช่ครอบครองเพื่อตน ผู้เช่าอาคารเลขที่ 009/4 ซึ่งปลูกสร้างทับที่ดินพิพาทก็เป็นผู้ครอบครองแทนผู้ร้องในลักษณะเดียวกับผู้ร้อง แม้ต่อมาที่ดินโฉนดเลขที่ 101 จะถูกโอนเปลี่ยนเจ้าของมาเป็นของนางวลัยภรณ์และแยกโฉนดเลขที่ 13287 ของผู้คัดค้าน เมื่อผู้คัดค้านขอรังวัดสอบเขตผู้ร้องก็รับรองเขตที่ดินให้ตามเอกสารหมาย ค.2 และหลังจากรับรองเขตดังกล่าวเรื่อยมาก็ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องแสดงเจตนาต่อผู้คัดค้านเปลี่ยนลักษณะการยึดถือแทนเป็นยึดถือเพื่อตน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 ผู้คัดค้านและนางสุพัตราเบิกความเจือสมสอดคล้องกับเอกสารหมาย ค.2 ที่ว่าผู้ร้องรับว่าจะรื้อถอนอาคารออกไปเชื่อว่าผู้ร้องรับรองเช่นนั้นจริง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ร้องรับรองความเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทของผู้คัดค้านมาโดยตลอดไม่ได้ครอบครองโดยแย่งกรรมสิทธิ์ แม้เมื่อปี 2541 ถึงปี 2542 ผู้คัดค้านรังวัดที่ดิน ผู้ร้องไม่ยอมลงชื่อรับรองเขตเจ้าของที่ดินข้างเคียงก็ยังไม่พอฟังว่าผู้ร้องแสดงเจตนาต่อผู้คัดค้านเปลี่ยนการยึดถือเพื่อตน กรณีไม่ต้องพิจารณาว่าผู้คัดค้านรับโอนที่ดินพิพาทมาโดยสุจริตหรือไม่ พยานหลักฐานผู้คัดค้านมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานผู้ร้อง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ร้องครอบครองที่ดินพิพาทแทนผู้คัดค้านไม่ได้ครอบครองเพื่อตนอันเป็นการแย่งกรรมสิทธิ์ ส่วนฎีกาประการอื่นนอกจากนี้ที่อ้างว่าผู้ร้องครอบครองที่ดินพิพาทโดยเจตนาแย่งกรรมสิทธิ์นั้น ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลฎีกาผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
ฎีกาตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย
หน้าที่ 3/3