แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
พ. เป็นกรรมการคนหนึ่งของบริษัทจำเลย การที่ พ. เลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจแม้ว่าการแต่งตั้งจะมีข้อบกพร่องหรือในฐานะที่เป็นตัวแทนของจำเลย เมื่อจำเลยรับรองการแสดงเจตนาของ พ. ที่บอกเลิกจ้างโจทก์เป็นการแสดงเจตนาของจำเลย จึงมีผลเป็นการเลิกจ้างโจทก์ตามกฎหมายแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2540 จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างตำแหน่งกรรมการ มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายของจำเลย จนถึงปลายปี 2542 โจทก์ทำหน้าที่เป็นกรรมการผู้บริหารของจำเลย และเมื่อต้นปี 2545 โจทก์ทำหน้าที่ตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารได้รับค่าจ้างเดือนละ 50,000 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2545 จำเลยโดยนางสาวพรเพ็ญ สุขสมบูรณ์วงศ์ ได้บอกเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2545 เป็นต้นไป โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จ่ายค่าจ้างเดือนมิถุนายน 2545 ให้แก่โจทก์ โจทก์เพิ่งตรวจสอบว่านางสาวพรเพ็ญไม่ได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลย เพราะเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2545 ซึ่งเป็นวันประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อแต่งตั้งนางสาวพรเพ็ญเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยไม่ได้มีการประชุมผู้ถือหุ้นของจำเลย การบอกเลิกจ้างโจทก์ดังกล่าวจึงกระทำไปโดยผู้ไม่มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยจึงไม่มีผลตามกฎหมาย โจทก์ยังคงเป็นลูกจ้างของจำเลย แม้จำเลยจะกีดกันไม่ให้โจทก์เข้าไปทำงาน แต่จำเลยมีหน้าที่จ่ายค่าจ้างให้โจทก์อัตราร้อยละ 50,000 บาท นับแต่เดือนมิถุนายน 2545เป็นต้นไป ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างรวม 2 เดือน เป็นเงิน 100,000 บาท และค่าจ้างเดือนละ 50,000 บาท นับแต่เดือนสิงหาคม 2545 เป็นต้นไป พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของค่าจ้างที่ค้างชำระในแต่ละเดือนแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า นางสาวพรเพ็ญมีอำนาจเลิกจ้างโจทก์เพราะบริษัทจำเลยมีผู้ถือหุ้นจำนวน 140,000 หุ้น บริษัทที่ถือหุ้นในบริษัทจำเลยมากที่สุดคือบริษัทวิคตอรี่ เอส จำกัด ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทซองแลนด์ จำกัด ถือหุ้นบริษัทจำเลย 69,123 หุ้น ซึ่งบริษัทดังกล่าวนางสาวพรเพ็ญเป็นกรรมการผู้มีอำนาจได้มอบหมายให้นางสาวพรเพ็ญเข้ามาเป็นกรรมการของจำเลยจำเลย การแต่งตั้งให้นางสาวพรเพ็ญเป็นกรรมการของจำเลยได้มีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นแต่งตั้งถูกต้องตามกฎหมาย และโจทก์ทราบมาตลอดถึงความถูกต้องของจำเลยมีอำนาจเลิกจ้างโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม 2545 เป็นเงิน 100,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 21 กรกฎาคม 2545) และชำระเงินค่าจ้างเดือนละ 50,000 บาท ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2545 เป็นต้นไป พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์มีสิทธิได้รับค่าจ้างของเดือนสิงหาคม 2545 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตำแหน่งสุดท้ายเป็นที่ปรึกษาได้รับค่าจ้างเดือนละ 50,000 บาท เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2545 จำเลยโดยนางสาวพรเพ็ญ สุขสมบูรณ์วงศ์ ได้บอกเลิกจ้างโจทก์ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์แล้วหรือไม่ โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัท จำกัด และอ้างหนังสือรับรองเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 เป็นเอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับรองว่านางสาวพรเพ็ญ สุขสมบูรณ์วงศ์ เป็นกรรมการคนหนึ่งของจำเลย มีอำนาจลงชื่อและประทับตามสำคัญของจำเลยมีผลผูกพันจำเลย จำเลยได้ให้การรับรองการกระทำของนางสาวพรเพ็ญว่าเป็นการกระทำของจำเลยในการเลิกจ้างโจทก์โดยชอบแล้ว เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1166 บัญญัติว่า บรรดาการซึ่งกรรมการได้ทำไปแม้ในภายหลังความปรากฏว่าการแต่งตั้งกรรมการคนนั้นมีข้อบกพร่องหรือบกพร่องด้วยองค์คุณควรแก่ตำแหน่งกรรมการ การมิได้ทำนั้นย่อมสมบูรณ์เสมือนดั่งว่าบุคคลนั้นได้รับการแต่งตั้งโดยถูกต้องและบริบูรณ์ด้วยองค์คุณของกรรมการ และตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 บัญญัติว่า นายจ้าง หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้และหมายความรวมถึง (1) ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนนายจ้าง (2) ในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคลให้หมายความรวมถึงผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล และผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลให้ทำการแทนด้วย การกระทำของนางสาวพรเพ็ญเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจ แม้ว่าข้อบกพร่องหรือในฐานะที่เป็นตัวแทนของจำเลยเมื่อจำเลยรับรองการแสดงเจตนาของนางสาวพรเพ็ญที่บอกเลิกจ้างโจทก์เป็นการแสดงเจตนาของจำเลย จึงมีผลเป็นการเลิกจ้างโจทก์ตามกฎหมายแล้ว ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อเดือนกรกฎาคม 2545 ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยยังไม่ได้จ่ายค่าจ้างเดือนมิถุนายน 2545 ให้แก่โจทก์ โจทก์จึงชอบที่จะได้รับค่าจ้างดังกล่าวจำนวน 50,000 บาท”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าจ้าง 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 31 กรกฎาคม 2545) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยกฟ้อง