คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4918/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

หนังสือสัญญากู้เงินระบุว่า ผู้กู้ยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้เป็นรายเดือนในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี หรือตามอัตราดอกเบี้ยใหม่ซึ่งผู้ให้กู้อาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นหรือต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ข้างต้นนี้ และผู้กู้ยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยใหม่ตามประกาศธนาคาร สัญญาข้อนี้เป็นขอตกลงให้โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยได้ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ในระหว่างสัญญาโดยอนุวัตตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องการกำหนดสถานบันการเงินและอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืม (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2535 ที่กำหนดให้ธนาคารโจทก์เรียกดอกเบี้ยจากผู้กู้ได้ในอัตราสูงสุดไม่เกินร้อยละ 19 ต่อปี โดยไม่มีข้อกำหนดให้ต้องประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ย อัตราดอกเบี้ยตามที่โจทก์และจำเลยตกลงกันไม่เกินกว่าอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์มีสิทธิคิดจากจำเลยได้ตามประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าว จึงไม่ตกเป็นโมฆะและแม้จะมีประกาศของโจทก์เรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินกู้กำหนดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าอัตราที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญากู้เงิน ซึ่งโจทก์จะคิดดอกเบี้ยจากจำเลยเกินกว่าประกาศของโจทก์ไม่ได้ แต่ในทางปฏิบัติจริงโจทก์คิดดอกเบี้ยและปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยอยู่ภายในกรอบแห่งประกาศธนาคารโจทก์และประกาศกระทรวงการคลัง การคิดดอกเบี้ยของโจทก์จึงไม่ขัดต่อกฎหมายและมีผลบังคับกันได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2540 นายสมเดช รักเสมอใจ ทำสัญญากู้เงินจากโจทก์จำนวน 710,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี หรืออัตราใหม่ที่อาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นหรือต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ ตามประกาศของโจทก์โดยไม่ต้องแจ้งนายสมเดชทราบล่วงหน้า นายสมเดชต้องชำระต้นเงินและดอกเบี้ยแก่โจทก์เดือนละ 9,000 บาท เริ่มชำระถัดจากเดือนที่ทำสัญญากู้และต้องชำระเสร็จสิ้นภายใน 15 ปี หากนายสมเดชผิดนัดการชำระหนี้ดังกล่าวงวดใดงวดหนึ่ง หรือไม่ปฏิบัติตามสัญญาข้อตกลงที่ให้ไว้ นายสมเดชยอมให้โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นได้แต่ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้โดยไม่ต้องแจ้งให้นายสมเดชทราบล่วงหน้า เพื่อเป็นประกันการกู้เงินดังกล่าวนายสมเดชได้จดทะเบียนจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 216 และ 217 พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่โจทก์เป็นเงิน 710,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี มีข้อตกลงว่า หากบังคับจำนองได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้แก่โจทก์ย่อมใช้หนี้ส่วนที่ขาดอยู่จนครบ และนายสมเดชทำประกันภัยทรัพย์จำนองโดยโจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ หากนายสมเดชไม่ชำระค่าเบี้ยประกันและโจทก์ได้ชำระแทนไป นายสมเดชจะชำระคืนแก่โจทก์ หลังจากทำสัญญานายสมเดชมิได้นำต้นเงินและดอกเบี้ยมาชำระให้แก่โจทก์ตามที่ได้ให้สัญญาไว้ โดยครั้งสุดท้ายนายสมเดชนำเงนมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2541 เป็นเงิน 9,000 บาท จากนั้นมิได้นำเงินมาชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินฉบับดังกล่าวอีก เมื่อคิดยอดหนี้ถีงวันฟ้อง นายสมเดชค้างชำระต้นเงิน 687,217 บาท เมื่อรวมค่าประกันภัยแล้วรวมเป็นต้นเงิน 688,826.92 บาท และดอกเบี้ย 512,561.29 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,201,388.21 บาท ในการคำนวณยอดหนี้ดังกล่าวโจทก์ได้เปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยหลายครั้ง โดยครั้งสุดท้ายปรับอัตราดอกเบี้ยเป็นร้อยละ 13.50 ต่อปี เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2545 ซึ่งเป็นอัตราไม่เกินตามประกาศกระทรวงการคลัง ต่อมานายสมเดชถึงแก่ความตาย และจำเลยเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกโจทก์จึงให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวให้ชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองไปยังจำเลย แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,201,388.21 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.50 ต่อปี ของต้นเงิน 688,826.92 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยชำระค่าเบี้ยประกันภัยแก่โจทก์ทุก 3 ปี ต่อครั้ง เป็นเงินครั้งละ 1,609 บาท เริ่มชำระครั้งแรกภายในเดือนเมษายน 2545 จนกว่าจะชำระแก่โจทก์จนเสร็จสิ้น หากจำเลยไม่ชำระหรือชำระไม่ครบ ขอให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ หากขายได้เงินไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลย และทรัพย์สินกองมรดกของนายสมเดชนำออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครบถ้วน
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมของนายสมเดช รักเสมอใจ ชำระเงินจำนวน 576,609 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 เมษายน 2545 จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ทั้งนี้ไม่เกินทรัพย์มรดกที่ตกได้แก่จำเลย หากจำเลยไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากได้เงินพอ (ที่ถูก หากได้เงินไม่พอ) ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของกองมรดกของนายสมเดชมาขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นว่า นายสมเดช รักเสมอใจ ทำหนังสือสัญญากู้เงินจากโจทก์จำนวน 710,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตกลงผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นรายเดือน เดือนละ 9,000 บาท และยินยอมให้โจทก์ปรับเปลี่ยนดอกเบี้ยได้โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า และนายสมเดชจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันการชำระหนี้ นับแต่วันทำสัญญานายสมเดชมิได้นำต้นเงินและดอกเบี้ยมาชำระให้แก่โจทก์ตามสัญญา โดยครั้งสุดท้ายนายสมเดชนำเงินมาชำระให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2541 เป็นเงิน 9,000 บาท โจทก์ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายปรับอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 13.50 ต่อปี เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2545 มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ข้อสัญญากู้เงินเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยของโจทก์ตกเป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 1 ระบุความว่า ผู้กู้ยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้เป็นรายเดือนสำหรับเงินกู้ตามสัญญานี้ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี หรือตามอัตราดอกเบี้ยใหม่ ซึ่งผู้ให้กู้อาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นหรือต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ข้างต้นนี้ และผู้กู้ยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยใหม่ตามประกาศธนาคาร ฯ สัญญาข้อนี้เป็นข้อตกลงให้โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยได้ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ในระหว่างสัญญาโดยอนุวัตตามประกาศกระทรวงการคลังเรื่องการกำหนดสถาบันการเงินและอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืม (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2535 ที่กำหนดให้ธนาคารโจทก์เรียกดอกเบี้ยจากผู้กู้ยืมได้ในอัตราสูงสุดไม่เกินร้อยละ 19 ต่อปี โดยไม่มีข้อกำหนดให้ต้องประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยแต่ประการใด อัตราดอกเบี้ยตามที่โจทก์และจำเลยตกลงกันตามหนังสือสัญญากู้เงินข้อ 1 ไม่เกินกว่าอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์มีสิทธิคิดจากจำเลยได้ตามประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าว การทำสัญญากู้ยืมเงินของโจทก์และจำเลยเป็นไปตามเจตนาของคู่สัญญาและอยู่ในกรอบที่ประกาศกระทรวงการคลังกำหนด จึงไม่ตกเป็นโมฆะและแม้ทำหนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าวจะมีประกาศของโจทก์เรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินกู้กำหนดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าอัตราที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญากู้เงิน ซึ่งโจทก์จะคิดดอกเบี้ยจากจำเลยเกินกว่าประกาศของโจทก์ไม่ได้ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยก็ตาม ก็ได้ความว่าในทางปฏิบัติจริงโจทก์คิดดอกเบี้ยและปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยอยู่ภายในกรอบแห่งประกาศธนาคารโจทก์และประกาศกระทรวงการคลัง การคิดดอกเบี้ยของโจทก์จึงไม่ขัดต่อกฎหมายและมีผลบังคับกันได้ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยเกินกว่าอัตราดอกเบี้ยตามประกาศของโจทก์เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายตกเป็นโมฆะนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 1,201,388.21 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13.50 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 688,826.29 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share