คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4880/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยท้ากันให้ถือเอาคำเบิกความของ บ. เป็นข้อแพ้ชนะคดี โดยมีเงื่อนไขว่า หาก บ. เบิกความว่าโจทก์เป็นหนี้จำเลยอยู่ 700,000 บาทเศษให้ถือว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยเป็นธรรม โจทก์ยอมแพ้คดี และโจทก์ยอมจ่ายเงินจำนวน 792,857.28 บาท ให้แก่จำเลย ถ้าเบิกความว่า โจทก์ไม่ได้เป็นหนี้จำเลยตามยอดเงินดังกล่าว จำเลยยอมแพ้โดยถือว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมและจำเลยจะจ่ายค่าชดเชย เงินสะสม เงินสมทบ รวม 318,000 บาท ให้แก่โจทก์ ต่อมา บ. เบิกความที่ศาลแรงงานกลางว่า โจทก์เป็นหนี้จำเลยจำนวน 700,000 บาทเศษจริง ตรงตามคำท้า ซึ่งเงื่อนไขบังคับก่อนนั้นได้สำเร็จผลตามคำท้าสมประโยชน์แก่จำเลยคำท้าจึงบังเกิดผลแล้ว โจทก์ต้องแพ้คดีตามคำท้าโดยยอมรับข้อเท็จจริงที่จำเลยอ้างโดยไม่ต้องสืบพยานเพื่อพิสูจน์ตามประเด็นพิพาท การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้โจทก์แพ้คดีตามคำท้าโดยมิได้วินิจฉัยพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวน จึงเป็นการพิพากษาคดีที่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84 (1) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างในตำแหน่งพนักงานออกของ (ชิปปิ้ง) โดยเริ่มทำงานกับจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2539 ได้รับเงินเดือนครั้งสุดท้ายเดือนละ 17,414 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2545 จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า การกระทำของจำเลยเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ขอให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 17,414 บาท ค่าชดเชยเป็นเงิน 139,312.80 บาท ค่าจ้างเดือนพฤศจิกายน 2545 เป็นเงิน 17,414.80 บาท เงินสะสมและเงินสมทบของโจทก์อีก 157,778.50 บาท เงินชดเชยสำหรับวันพักร้อนอีก 6 วัน คิดเป็นเงิน 3,482.82 ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 335,402.12 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยจ้างโจทก์ให้มีหน้าที่ออกสินค้าหรือสิ่งของของลูกค้าของจำเลยซึ่งส่งเข้ามาทางเรือ การปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์จะต้องประเมินค่าใช้จ่ายและขอเบิกเงินจากจำเลย เมื่อเสร็จงานโจทก์มีหน้าที่นำเงินส่วนที่เหลือมาคืนจำเลยหากเงินทดรองจ่ายไม่พอจำเลยจะจ่ายชดเชยให้โจทก์ แต่เมื่อประมาณกลางเดือนพฤศจิกายน 2545 จำเลยได้ทำการตรวจสอบบัญชีเงินทดรองจ่ายของโจทก์ ปรากฏว่ามียอดเงินทดรองจ่ายที่โจทก์จะต้องนำส่งคืนให้จำเลยค้างอยู่ ณ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2548 เป็นเงินจำนวน 787,446.85 บาท ซึ่งโจทก์ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้แล้ว ภายหลังโจทก์ได้ทำหนังสือขอผ่อนชำระหนี้เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2545 แต่จำเลยไม่อาจรับข้อเสนอของโจทก์ได้ การกระทำของโจทก์เป็นการทุจริตต่อหน้าที่จงใจทำให้จำเลยเสียหาย อันเป็นเหตุให้จำเลยมีสิทธิบอกเลิกจ้างโจทก์ได้ทันที โดยจำเลยไม่จำเป็นต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 17,414 บาท และค่าชดเชยจำนวน 139,312 บาท รวมทั้งเงินชดเชยวันพักร้อน 6 วัน จำนวน 3,482.80 บาท ซึ่งเงินชดเชยวันพักร้อนนี้โจทก์เหลือวันพักร้อน 4.5 วัน แต่โจทก์ทำผิดสัญญาจ้างโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยวันพักร้อนดังกล่าว ส่วนเงินเดือนของเดือนพฤศจิกายน 2545 โจทก์มีสิทธิได้รับค่าจ้างเพียง 25 วัน คิดเป็นเงิน 14,414 บาท ตามฟ้อง สำหรับเงินสมทบและผลประโยชน์ของจำเลยจำนวน 78,950.13 บาท ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงาน โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเพราะโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างหรือจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ทั้งนี้ ตามข้อบังคับของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานกลุ่ม อีเอซี ข้อ 4.4 (ก) (สิ้นสุดการทำงานด้วยเหตุอื่นใด) ด้วยสาเหตุตามที่ระบุไว้ในกฎหมายคุ้มครองแรงงานและกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ส่วนเงินสะสมของโจทก์จำนวน 78,950.13 บาท ก็อยู่ในความรับผิดชอบของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานกลุ่มอีเอซี (ซึ่งจดทะเบียนแล้ว) จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินสมทบและเงินสะสมจำนวน 157,900.26 บาท ให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้องโจทก์ และการที่โจทก์ไม่นำเงินทดรองจ่ายที่เหลือจากการทำงานในหน้าที่ของโจทก์มาคืนให้จำเลย ผลการตรวจสอบปรากฏว่า ในระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2544 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2545 เฉพาะเงินทดรองจ่ายส่วนที่โจทก์ยังไม่นำมาส่งคืนให้จำเลยจำนวน 3,841,800 บาท โจทก์นำค่าใช้จ่ายมาหักบัญชีเป็นเงิน 3,048,942.72 บาท ฉะนั้น โจทก์จะต้องนำเงินจำนวน 792,857.28 บาท ส่งคืนให้จำเลย แต่โจทก์เพิกเฉย จำเลยขอฟ้องแย้งให้โจทก์นำเงินจำนวน 792,857.28 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าโจทก์จะชำระหนี้ให้แก่จำเลยเสร็จสิ้น หากศาลพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวนเท่าใดให้แก่โจทก์ตามฟ้อง ขอให้นำเงินจำนวนดังกล่าวมาหักออกจากเงินที่โจทก์ต้องรับผิดชดใช้คืนให้แก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ทำงานกับจำเลยเป็นเวลาเกือบ 7 ปี ตามระเบียบของจำเลยหากจะเบิกเงินทดรองไปทำงานใหม่จะต้องชำระบัญชีเก่าให้เรียบร้อย มิฉะนั้นจะไม่สามารถเบิกเงินไปทำงานรายใหม่ได้ ในการคืนเงินให้จำเลยนั้นโจทก์คืนให้แก่นางสาวบุญเรือน มรุธพงษ์สาธร ทุกครั้ง โดยนางกรรณิการ์ สุภาศรี จะหักเงินคงค้างออกจากเงินที่เบิกใหม่ทุกครั้งแล้วส่งมอบให้นางสาวบุญเรือน นางสาวบุญเรือนมิได้ออกหลักฐานใดให้แก่โจทก์ทั้งนางสาวบุญเรือนยังทำหน้าที่เก็บรักษาเอกสารเบิกจ่ายเงินของโจทก์และพนักงานอื่น ๆ อีกด้วย แต่กลับทำเอกสารดังกล่าวสูญหายไปอย่างมีพิรุธ เอกสารรับสภาพหนี้และขอผ่อนชำระเงินนั้นเป็นเอกสารปลอม จำเลยเพิ่งอ้างว่าโจทก์ทุจริตหลังจากทราบว่าโจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลย ย่อมขัดต่อบทบัญญัติของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน จำเลยจึงไม่อาจฟ้องแย้งได้ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยชอบธรรมให้โจทก์ชำระเงิน 792,857.28 บาท แก่จำเลย
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อ 3 ข และข้อ 3 ค ว่า คำท้าของโจทก์และจำเลยที่ตกลงกันให้ถือเอาคำเบิกความของนางสาวบุญเรือน มรุธพงษ์สาธร เป็นข้อแพ้ชนะคดี บังเกิดผลแล้วหรือไม่ และการที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้โจทก์แพ้คดีตามคำท้าโดยมิได้วินิจฉัยพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนนั้น เป็นการชอบหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84 บัญญัติว่า “ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกล่าวอ้างข้อเท็จจริงอย่างใด ๆ เพื่อสนับสนุนคำฟ้องหรือคำให้การของตน ให้หน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงนั้นตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่กล่าวอ้าง แต่ว่า (1) คู่ความไม่ต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริง…ซึ่งศาลเห็นว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งได้รับแล้ว…” การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีตามคำท้านั้น เป็นการยอมรับข้อเท็จจริงที่อีกฝ่ายหนึ่งอ้างโดยมีเงื่อนบังคับก่อนเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณา เช่น การสาบาน หรือการเบิกความของพยานปากใดปากหนึ่ง ถ้าดำเนินกระบวนพิจารณาแล้วสมประโยชน์ของคู่ความฝ่ายใด คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะยอมรับข้อเท็จจริงตามที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งอ้าง อันเป็นผลให้คู่ความฝ่ายที่ได้รับประโยชน์เป็นฝ่ายชะคดีโดยไม่ต้องมีการสืบพยานเพื่อพิสูจน์ตามประเด็นข้อพาท คดีนี้โจทก์และจำเลยท้ากันให้ถือเอาคำเบิกความของนางสาวบุญเรือน มรุธพงษ์สาธร เป็นข้อแพ้ชนะคดีโดยมีเงื่อนไขบังคับก่อนเกี่ยวกับกระบวนพิจารณาว่า หากนางสาวบุญเรือนเบิกความว่าโจทก์เป็นหนี้จำเลยอยู่ 700,000 บาทเศษ ให้ถือว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยเป็นธรรม โจทก์ยอมแพ้คดีและโจทก์ยอมจ่ายเงินจำนวน 792,857.28 บาท ให้แก่จำเลย ถ้านางสาวบุญเรือนเบิกความว่า โจทก์ไม่ได้เป็นหนี้จำเลยตามยอดเงินดังกล่าว จำเลยยอมแพ้โดยถือว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมและจำเลยจะจ่ายค่าชดเชย เงินสะสม เงินสมทบ รวม 318,000 บาท ให้แก่โจทก์ ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลาง ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2546 ต่อมานางสาวบุญเรือนมาเบิกความที่ศาลแรงงานกลางเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2546 ว่า โจทก์เป็นหนี้จำเลยจำนวน 700,000 บาทเศษจริง ตรงตามคำท้าในรายงานกระบวนพิจารณาดังกล่าว ซึ่งเงื่อนไขบังคับก่อนนั้นได้สำเร็จผลตามคำท้าสมประโยชน์แก่จำเลย คำท้าจึงบังเกิดผลแล้วโจทก์ต้องแพ้คดีตามคำท้าโดยยอมรับข้อเท็จจริงที่จำเลยอ้างโดยไม่ต้องสืบพยานเพื่อพิสูจน์ตามประเด็นพิพาท การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้โจทก์แพ้คดีตามคำท้าโดยมิได้วินิจฉัยพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวน จึงเป็นการพิพากษาคดีที่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84 (1) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 แล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share