คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7404/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ก่อนเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจได้รับแจ้งจากสายลับว่า จำเลยและ ส. มีพฤติกรรมลักลอบจำหน่ายยาเสพติดให้โทษให้แก่คนในหมู่บ้าน และได้วางแผนล่อซื้อให้สายลับเข้าไปล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนที่ศาลาที่พักที่เกิดเหตุ แต่เมื่อสายลับส่งสัญญาณให้เจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับกุมจำเลยกับพวก กลับพบโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลขที่สายลับโทรติดต่อขอซื้อเมทแอมเฟตามีน และธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อของกลางที่ ว. ภริยาของ ส. ไม่ได้พบที่จำเลย และสายลับติดต่อทางโทรศัพท์เคลื่อนที่กับ ส. ไม่ใช่ติดต่อกับจำเลยโดยตรง เจ้าพนักงานตำรวจทั้งสามปากเบิกความขัดแย้งกันเรื่องจำเลย หรือ ส. ผู้ใดเป็นคนส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับ ทั้งที่ต่างอ้างว่าซุ่มดูอยู่ห่างที่เกิดเหตุประมาณ 30 เมตร สามารถมองเห็นเหตุการณ์ได้ชัดเจนไม่มีกำแพงหรือสิ่งใดบดบัง คำเบิกความจึงไม่น่าเชื่อถือ โจทก์ไม่ได้นำสายลับมาเบิกความยืนยันว่าซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลย โจทก์ฎีกาว่าบันทึกคำให้การชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของ ว. ระบุสอดคล้องกันว่า จำเลยร่วมจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนด้วย แม้คำรับสารภาพชั้นจับกุม กฎหมายห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับกุม ไม่ได้ห้ามรับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของผู้ร่วมกระทำผิดคนอื่นก็ตาม แต่บันทึกคำให้การชั้นจับกุมก็ดี ชั้นสอบสวนก็ดี ล้วนเป็นพยานบอกเล่า ซึ่ง ว. เบิกความปฏิเสธว่า ลงชื่อในบันทึกการจับกุมโดยไม่ได้อ่าน ส่วนคำให้การชั้นสอบสวน ตนก็ไม่ได้ให้การเช่นนั้น จึงเป็นพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักน้อย เมื่อโจทก์ไม่มีพยานอื่นใดมานำสืบให้เห็นว่าจำเลยมีพฤติการณ์หรือร่วมรู้เห็นในการมีและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ประกอบกับจำเลยให้การปฏิเสธมาโดยตลอดพยานโจทก์เท่าที่นำสืบมามีข้อสงสัยตามสมควร ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 และ พ.ร.บ.เยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจร่วมกันจับกุมนางสาววริดา พร้อมยึดได้กระเป๋าสะพายสีน้ำตาล ธนบัตรฉบับละ 100 บาท 5 ฉบับ เป็นเงิน 500 บาท ที่สายลับใช้ล่อซื้อเมทแอมเฟตามีน 4 เม็ด โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 091-305xxxx ของนายสุนันท์ 1 เครื่อง รถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้าเวฟ 125 สีเทา ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน 1 คัน ที่จำเลยขับขี่วันเกิดเหตุ เป็นของกลาง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยร่วมกับพวกกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีร้อยตำรวจโทเอกชัย ดาบตำรวจสุรัตน์ และดาบตำรวจสมจิตร เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรเวียงแหง เป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่า ก่อนเกิดเหตุพยานได้รับแจ้งจากสายลับว่าจำเลยและนายสุนันท์ มีพฤติการณ์ลักลอบจำหน่ายยาเสพติดให้โทษให้แก่คนในหมู่บ้านจึงได้วางแผนเพื่อล่อซื้อ โดยพยานโจทก์ทั้งสามปากกับเจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมอีกจำนวนหนึ่งไปซุ่มดูเหตุการณ์รอบบริเวณป่าช้าใกล้ศาลาที่พักที่เกิดเหตุตั้งแต่เวลา 19 นาฬิกาของวันเกิดเหตุจนกระทั่งเวลาประมาณ 22 นาฬิกา ได้ให้สายลับเข้าไปล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยกับพวก เมื่อสายลับล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนได้แล้ว จึงส่งสัญญาณให้เจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับกุมจำเลยกับพวก แต่ได้ความจากเจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมว่าการติดต่อซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางนั้น สายลับติดต่อทางโทรศัพท์เคลื่อนที่กับนายสุนันท์ ไม่ได้ติดต่อกับจำเลยโดยตรง หลังเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจพบโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลขที่สายลับโทรติดต่อขอซื้อเมทแอมเฟตามีนและธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อของกลางที่นางสาววริดา ภริยาของนายสุนันท์ ไม่ได้พบที่จำเลยแต่อย่างใด ประกอบกับพยานโจทก์ทั้งสามปากเบิกความแตกต่างกันเกี่ยวกับผู้ที่ส่งมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางให้แก่สายลับซึ่งพยานโจทก์ร้อยตำรวจโทเอกชัยเบิกความว่านายสุนันท์เป็นผู้ส่งมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางให้แก่สายลับ แต่ดาบตำรวจสมจิตรเบิกความว่าจำเลยเป็นผู้ส่งมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางให้แก่สายลับ ส่วนดาบตำรวจสุรัตน์ไม่ได้เบิกความยืนยันว่าใครเป็นผู้ส่งมอบ ทั้งที่พยานโจทก์ทั้งสามปากต่างอ้างว่าซุ่มดูอยู่ห่างที่เกิดเหตุประมาณ 30 เมตร สามารถมองเห็นเหตุการณ์ได้ชัดเจนเนื่องจากมีไฟถนนส่องสว่าง ซึ่งปรากฏภาพของศาลา ที่เกิดเหตุเปิดโล่งไม่มีกำแพงและมีเสาไฟสาธารณะอยู่ฝั่งตรงข้ามและจากจุดที่ซุ่มดูไม่มีสิ่งใดบดบังอยู่จึงเห็นเหตุการณ์ได้ชัดเจน คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสามปากจึงไม่น่าเชื่อถือ อีกทั้งโจทก์ก็ไม่ได้นำสายลับซึ่งเป็นประจักษ์พยานมาเบิกความยืนยันว่าซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางจากจำเลย พยานโจทก์ทั้งสามปากเพียงได้รับแจ้งจากสายลับว่าจำเลยและนายสุนันท์มีพฤติการณ์ลักลอบจำหน่ายยาเสพติดให้โทษแก่คนในหมู่บ้านนั้น ก็เป็นเพียงได้รับคำบอกเล่ามาจากผู้อื่น การที่พยานโจทก์เบิกความว่าเห็นว่าจำเลยอยู่ในที่เกิดเหตุนั้นก็ได้ความว่าบริเวณนี้เกิดเหตุเป็นศาลาที่พักสำหรับประชาชนทั่วไป ร้อยตำรวจโทเอกชัยก็เบิกความว่าขณะพยานซุ่มดูเหตุการณ์ตั้งแต่เวลา 19 นาฬิกา ก็มีบุคคลเดินเข้าออกศาลาที่พักตลอดเวลารวมทั้งจำเลย นายสุนันท์และนางสาววริดาและเบิกความตอบที่ปรึกษากฎหมายจำเลยถามค้านว่า ศาลาที่เกิดเหตุปกติเป็นที่ที่นักฟุตบอลจะมานั่งพักเวลาเล่นฟุตบอลเสร็จซึ่งจำเลยและนายนภดล เพื่อนของจำเลยก็เบิกความว่าวันเกิดเหตุหลังจากจำเลยกับเพื่อนเล่นฟุตบอลเสร็จแล้วได้มานั่งพักที่ศาลาที่เกิดเหตุเพื่อนของจำเลยกลับก่อน จำเลยกลับทีหลัง ลำพังพฤติการณ์ที่จำเลยอยู่ที่ศาลาที่เกิดเหตุกับนายสุนันท์และนางสาววริดาในขณะเกิดเหตุจึงยังไม่เพียงพอ ที่จะทำให้เชื่อได้ว่าจำเลยร่วมกับพวกกระทำความผิดตามฟ้อง โจทก์ฎีกาว่า บันทึกคำให้การชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของนางสาววริดาระบุสอดคล้องกันว่า จำเลยร่วมจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนด้วยนั้น เห็นว่า แม้คำรับสารภาพในชั้นจับกุมกฎหมายห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับกุม ไม่ได้ห้ามรับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของผู้ร่วมกระทำผิดคนอื่นก็ตาม แต่บันทึกคำให้การชั้นจับกุมก็ดี ชั้นสอบสวนก็ดี ล้วนเป็นพยานบอกเล่า ซึ่งนางสาววริดาได้เบิกความปฏิเสธว่าลงชื่อในบันทึกการจับกุมโดยไม่ได้อ่าน ส่วนบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนตนก็ไม่ได้ให้การเช่นนั้น จึงเป็นพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักน้อย เมื่อโจทก์ไม่มีพยานอื่นใดมานำสืบให้เห็นว่า จำเลยมีพฤติการณ์หรือร่วมรู้เห็นในการมีและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ประกอบกับจำเลยให้การปฏิเสธตลอดมาตั้งแต่ชั้นจับกุมจนถึงชั้นพิจารณา พยานหลักฐานโจทก์เท่าที่นำสืบมายังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยร่วมกับพวกกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 และพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้อง ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share