คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 871/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

หนี้ค่าจ้างค้างจ่าย เงินสะสม สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยที่จำเลยจะต้องชำระแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ล้วนแต่เป็นเงินที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยชำระอันเนื่องมาจากการที่จำเลยกับโจทก์มีนิติสัมพันธ์กันในฐานะนายจ้างกับลูกจ้าง ถือว่าเป็นเงินที่โจทก์ได้เนื่องจากการจ้างแรงงานตามที่บัญญัติไว้ใน ป.รัษฎากรฯ มาตรา 40 (1) ซึ่งกำหนดให้เป็นเงินได้พึงประเมิน จำเลยผู้จ่ายเงินดังกล่าวให้โจทก์ตามคำพิพากษาย่อมมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตาม ป.รัษฎากรฯ มาตรา 50 ประกอบด้วยมาตรา 3 จตุทศ ซึ่งเป็นหน้าที่ที่จำเลยจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย แม้จำเลยจะมิได้อ้างเรื่องการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้ในชั้นพิจารณา แต่เมื่อจำเลยจะต้องชำระหนี้ตามคำพิพากษาจำเลยก็สามารถหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินประเภทต่าง ๆ เนื่องจากจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิดและเป็นเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินค่าจ้างค้างจ่ายเป็นเงิน 136,800 บาท พร้อมดอกเบี้ย นับแต่วันถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ เงินสะสมจำนวน 2,152.98 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 136,800 บาท พร้อมดอกเบี้ย นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าชดเชยเป็นเงิน 1,368,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและค่าเสียหายเป็นเงิน 2,000,000 บาท
ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องว่า จำเลยได้นำเงินจำนวน 5,472,036.32 บาท มาวางศาลเพื่อชำระหนี้โจทก์ตามคำพิพากษา จำเลยอ้างต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าชำระหนี้แก่โจทก์ครบถ้วนตามคำพิพากษาแล้วเป็นเงินจำนวน 6,538,905.72 บาท โดยหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นเงินจำนวน 1,066,869.40 บาท โจทก์เห็นว่าจำเลยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำบังคับโดยชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์เต็มจำนวนตามคำบังคับซึ่งออกตามคำพิพากษา การชำระภาษีเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องชำระให้แก่กรมสรรพากรภายหลังจากที่โจทก์ได้รับชำระหนี้แล้ว ข้ออ้างเรื่องการหักภาษี ณ ที่จ่าย จำเลยมิได้ยกขึ้นกล่าวในชั้นพิจารณา เพิ่งหยิบยกขึ้นมาอ้างในชั้นบังคับคดี จำเลยไม่อาจหักภาษี ณ ที่จ่ายได้ ดังนั้น จำเลยยังคงเป็นหนี้ค่าชดเชยตามคำพิพากษาเป็นเงินจำนวน 1,067,958.29 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ขอให้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้ออกหมายบังคับคดียึดอายัดทรัพย์สินของจำเลยมาชำระหนี้ โจทก์ให้เต็มจำนวนตามคำพิพากษา
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า ตามคำร้องของโจทก์ โจทก์มิได้อ้างว่าจำนวนภาษีที่จำเลยหักไว้ ณ ที่จ่ายไม่ถูกต้อง จึงต้องฟังว่า การหักภาษีได้หักไว้เป็นจำนวนที่ถูกต้องแล้ว และเงินที่โจทก์ได้รับในคดีนี้เป็นเงินได้พึงประเมิน จำเลยผู้จ่ายเงินดังกล่าวให้โจทก์ตามคำพิพากษา จึงมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่จ่ายตามประมวลรัษฎากร มาตรา 50 มาตรา 3 จตุทศ จึงไม่มีเหตุที่จะออกหมายบังคับคดีตามที่โจทก์ขอ ให้ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์เพียงว่า โจทก์ชอบที่จะบังคับคดีให้จำเลยชำระหนี้เต็มจำนวนตามคำพิพากษาได้หรือไม่ เห็นว่า หนี้เงินประเภทต่าง ๆ ที่จำเลยจะต้องชำระแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ล้วนแต่เป็นเงินที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยชำระอันเนื่องมาจากการที่จำเลยกับโจทก์มีนิติสัมพันธ์กันในฐานะนายจ้างกับลูกจ้างนั่นเอง ถือได้ว่าเป็นเงินที่โจทก์ได้เนื่องจากการจ้างแรงงานตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (1) ซึ่งกำหนดให้เป็นเงินได้พึงประเมิน จำเลยผู้จ่ายเงินดังกล่าวให้โจทก์ตามคำพิพากษาย่อมมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 50 ประกอบด้วยมาตรา 3 จตุทศ ซึ่งเป็นหน้าที่ที่จำเลยจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย แม้จำเลยจะมิได้อ้างเรื่องการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ไว้ในชั้นพิจารณาก็ตาม แต่เมื่อจำเลยจะต้องชำระหนี้ตามคำพิพากษา จำเลยก็สามารถหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ได้ คำสั่งศาลแรงงานกลางที่ให้ยกคำร้องของโจทก์ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share