คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 888/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้ติดยาเสพติดให้โทษ จึงไม่อาจนำวิธีการเพื่อความปลอดภัยตาม ป.อ. มาตรา 49 มาใช้บังคับแก่จำเลยทั้งสองได้ ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งห้ามจำเลยทั้งสองเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษทุกชนิดภายใน 2 ปี นับแต่วันพ้นโทษตามบทกฎหมายดังกล่าว จึงเป็นการไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าว เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นแก้ไขให้ถูกต้องได้ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 49 ริบของกลาง และมีคำสั่งห้ามจำเลยทั้งสองเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษทุกชนิดภายใน 2 ปี นับแต่วันพ้นโทษ
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง, 66 วรรคหนึ่ง, 102 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกคนละ 36 ปีจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกคนละ 24 ปี ริบเมทแอมเฟตามีน และรถยนต์ หมายเลขทะเบียน บ – 0246 พังงา ของกลาง ห้ามจำเลยทั้งสองเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษทุกชนิดภายใน 2 ปี นับแต่วันพ้นโทษ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง (เดิม), 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้จำคุกคนละ 15 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 10 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงฟังยุติในเบื้องต้นว่า วันเวลาเกิดเหตุตามฟ้องจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์กระบะ ยี่ห้อนิสสัน สีเทาดำ หมายเลขทะเบียน บ – 0246 พังงา มีจำเลยที่ 1 นั่งคู่มาด้วย มาถึงจุดตรวจของเจ้าพนักงานตำรวจ ร้อยตำรวจเอกชัยโชค ทองใส และสิบตำรวจเอกโชคดี ศรีสวัสดิ์รักษา ขอตรวจค้น พบเมทแอมเฟตามีนจำนวน 2,000 เม็ด น้ำหนัก 181.220 กรัม บรรจุในกล่องนมสดโฟร์โมสต์ซุกซ่อนอยู่ในที่ใส่ไส้กรองอากาศ จึงจับกุมจำเลยทั้งสองโดยแจ้งข้อหาว่าร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ไม่ฎีกา คดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ถึงที่สุด คงมีปัญหาวินิจฉัยเฉพาะฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ตามฟ้องหรือไม่ ปัญหานี้โจทก์มีร้อยตำรวจเอกชัยโชคและสิบตำรวจเอกโชคดีเบิกความว่า เมื่อจำเลยที่ 2 ขับรถมาถึงจุดตรวจ ได้เรียกขอตรวจค้น สังเกตเห็นไส้กรองอากาศมีลักษณะใช้แล้ววางอยู่ในส่วนที่นั่งด้านหลัง เกิดความสงสัย จึงให้เปิดกระโปรงหน้ารถ และเปิดฝาครอบไส้กรองอากาศพบกล่องนมสดโฟร์โมสต์ภายในกล่องพบเมทแอมเฟตามีนจำนวน 2,000 เม็ด นอกจากนี้ ร้อยตำรวจเอกชัยโชคยังเบิกความต่อไปอีกว่ามีการเสนอเงินให้พยานโดยครั้งแรกเสนอให้ 300,000 บาท จำเลยที่ 2 เป็นผู้เสนอให้เจ้าพนักงานตำรวจควบคุมตัวจำเลยที่ 2 ไว้ และให้เจ้าพนักงานตำรวจคุมตัวจำเลยที่ 1 ไปเบิกเงิน เมื่อพยานไม่สนใจ จำเลยทั้งสองจึงไม่ยอมลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุม ส่วนจำเลยที่ 2 นำสืบปฏิเสธว่า วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์กระบะของกลางมารับจำเลยที่ 2 ที่บ้าน แล้วให้จำเลยที่ 2 ขับรถคันดังกล่าวไปที่บ้านนายสา ไม่ทราบนามสกุล แล้วร่วมรับประทานอาหารกลางวันที่บ้านนายสา รับประทานอาหารเสร็จแล้ว จำเลยที่ 2 ขับรถพาจำเลยที่ 1 ไปอำเภอกระบุรี ระหว่างทางถูกตรวจค้นจับกุม จำเลยที่ 2 ไม่ทราบเรื่องเมทแอมเฟตามีนของกลาง จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธต่อเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุม เจ้าพนักงานตำรวจให้จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุม แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมลงลายมือชื่อ เจ้าพนักงานตำรวจจึงจับกุมจำเลยที่ 2 ไปด้วยนั้น เห็นว่า หากจำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้ขับรถให้จำเลยที่ 1 โดยไม่ทราบเรื่องการซุกซ่อนเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในที่ใส่ไส้กรองอากาศแล้ว ทันทีที่เจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนในที่ใส่ไส้กรองอากาศสัญชาตญาณของบุคคลทั่วไปย่อมต้องตกใจและปฏิเสธทันทีว่าไม่ทราบเรื่องด้วย แต่กลับไม่ปรากฏจากคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกชัยโชคและสิบตำรวจเอกโชคดีเลยว่าจำเลยที่ 2 ได้ปฏิเสธทันทีที่เจ้าพนักงานตำรวจตรวจพบเมทแอมเฟตามีนของกลาง อีกทั้งยังปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมชี้จุดที่พบเมทแอมเฟตามีนตามภาพถ่ายหมาย จ.3 ภาพที่ 5 ถึงที่ 7 ซึ่งจำเลยที่ 2 เบิกความรับว่าได้นำชี้โดยไม่ได้ถูกบังคับข่มขู่จากเจ้าพนักงานตำรวจ นอกจากนี้ข้ออ้างของจำเลยที่ 2 ถึงสาเหตุที่ขับรถมากับจำเลยที่ 1 ในชั้นสอบสวนและในชั้นพิจารณาก็แตกต่างกัน กล่าวคือ ในบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมาย จ.5 จำเลยที่ 2 ให้การว่าจำเลยที่ 2 ไปขับรถยนต์กระบะของกลางมาจากบ้านจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2542 มาไว้ที่บ้านจำเลยที่ 2 ก่อนแล้ว วันที่ 27 ธันวาคม 2542 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุจึงขับรถยนต์กระบะของกลางไปรับจำเลยที่ 1 ที่บ้านเพื่อไปบรรทุกกระบือที่อำเภอกระบุรี แต่ในชั้นพิจารณาจำเลยที่ 2 กลับเบิกความว่า วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นคนขับรถยนต์กระบะของกลางไปรับจำเลยที่ 2 ที่บ้าน แสดงให้เห็นพิรุธของจำเลยที่ 2 พยานจำเลยที่ 2 จึงมีน้ำหนักน้อย ไม่อาจรับฟังหักล้างพยานโจทก์ซึ่งเบิกความสอดคล้องกัน ไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่ามุ่งปรักปรำจำเลยที่ 2 ให้ต้องรับโทษ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้ติดยาเสพติดให้โทษ จึงไม่อาจนำวิธีการเพื่อความปลอดภัยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 49 มาใช้บังคับแก่จำเลยทั้งสองได้ ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งห้ามจำเลยทั้งสองเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษทุกชนิดภายใน 2 ปี นับแต่วันพ้นโทษตามบทกฎหมายดังกล่าว จึงเป็นการไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นแก้ไขให้ถูกต้องได้ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้มีคำสั่งห้ามจำเลยทั้งสองเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษทุกชนิดภายใน 2 ปี นับแต่วันพ้นโทษ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

Share