คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8703/2553

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 เป็นผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ทราบดีอยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 ค้างชำระภาษีมูลค่าเพิ่มต่อกรมสรรพากร โจทก์ตั้งแต่ก่อนจำเลยที่ 1 จดทะเบียนเลิกห้าง เมื่อในการชำระบัญชีมีเงินสดคงเหลือ 1,400,000 บาท และมีการแบ่งคืนทรัพย์สินไปแล้ว ซึ่งจำเลยที่ 3 จะแบ่งคืนให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนได้แต่เพียงเท่าที่ไม่ต้องเอาไว้ใช้ในการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 เท่านั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1269 การที่จำเลยที่ 3 แบ่งเงินคืนให้แก่ผู้ถือหุ้นโดยไม่นำไปชำระหนี้ภาษีอากรค้างให้แก่โจทก์จึงเป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ชำระบัญชีโดยฝ่าฝืนกฎหมายทำให้โจทก์เสียหายอันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดในหนี้ภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระโจทก์จำนวน 961,681.80 บาท ซึ่งไม่เกินกว่าเงินสดคงเหลือจำนวน 1,400,000 ที่จำเลยที่ 3 แบ่งคืนให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีฐานะเป็นกรมสังกัดกระทรวงการคลัง มีอำนาจหน้าที่จัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนเลิกห้างเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2546 และจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2546 โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ชำระบัญชี จำเลยที่ 1 ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีมิถุนายนและกรกฎาคม 2540 เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2544 และยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษี เมษายน พฤษภาคม 2540 เดือนภาษีมกราคม มีนาคมและมิถุนายน 2541 เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2545 ซึ่งเป็นการยื่นแบบเกินกำหนดเวลาตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 จึงต้องชำระเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม แต่จำเลยที่ 1 ชำระค่าภาษีแก่โจทก์เพียงบางส่วน โดยยังคงค้างชำระภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีเมษายน พฤษภาคม กรกฎาคม 2540 และเดือนภาษีมีนาคมและมิถุนายน 2541 รวมเป็นเงิน 849,701.65 บาท เมื่อรวมเงินเพิ่มถึงวันฟ้องแล้วเป็นเงินทั้งสิ้น 961,681.80 บาท จำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดในหนี้ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวโดยไม่จำกัดจำนวน และจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ชำระบัญชีซึ่งมีหน้าที่ในการจัดการใช้หนี้เงินของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ก่อนเสร็จการชำระบัญชีต้องร่วมรับผิดในยอดหนี้ภาษีอากรค้างต่อโจทก์ด้วย ขอให้บังคับจำเลยที่สามร่วมกันชำระหนี้ภาษีอากรค้างจำนวน 961,681.80 บาท แก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเลิกห้างและจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีแล้ว จึงไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคลและไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์คิดมูลหนี้ไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มโดยชอบแล้ว และจำเลยที่ 3 ได้ดำเนินการในฐานะผู้ชำระบัญชีโดยชอบด้วยกฎหมายจึงไม่จำต้องร่วมรับผิดในมูลหนี้ตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมรับผิดชำระหนี้ภาษีอากรค้างจำนวน 961,681.80 บาท แก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเลิกห้างเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2546 และจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2546 โดยมีจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระบัญชี จำเลยที่ 1 ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีเมษายนถึงกรกฎาคม 2540 และเดือนภาษีมกราคม มีนาคมและมิถุนายน 2541 เกินกำหนดเวลาตามกฎหมายและชำระภาษีอากรให้โจทก์ไว้ไม่ครบถ้วน ต่อมาจำเลยที่ 1 ชำระค่าภาษีอากรบางส่วนตามแบบคำขอชำระภาษีอากรค้างเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 122, 133, 153, 157, 158, 161, 166, 176, 180, 208, 222 ถึง 225, 244, 263 และ 290 โดยจำเลยที่ 1 ยังค้างชำระภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีเมษายน พฤษภาคม กรกฎาคม 2540 และเดือนภาษีมีนาคม มิถุนายน 2541 รวมเงินเพิ่มคำนวณถึงวันฟ้องเป็นจำนวนทั้งสิ้น 961,681.80 บาท ตามบันทึกรายละเอียดการชำระหนี้ภาษีอากรค้างเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 32 ถึง 38
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการเดียวว่า จำเลยที่ 3 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระหนี้ภาษีอากรค้างจำนวน 961,681.80 บาท แก่โจทก์หรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 และเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ย่อมทราบดีอยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 ค้างชำระหนี้ภาษีอากรแก่โจทก์ จำเลยที่ 3 จึงมีหน้าที่ต้องจัดการชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ก่อนจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี แต่จำเลยที่ 3 กลับแบ่งคืนทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 จำนวน 1,400,000 บท ให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนไป เห็นว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด จึงมีหน้าที่ชำระสะสางการงานของจำเลยที่ 1 ให้เสร็จไป กับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 1250 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้ความว่า จำเลยที่ 3 เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ทั้งก่อนที่จำเลยที่ 1 จะจดทะเบียนเลิกห้างเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2546 และจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2546 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการเคยผ่อนชำระภาษีมูลค่าเพิ่มต่อโจทก์ตามแบบขอชำระภาษีอากรคงค้างสำหรับเดือนภาษีเมษายน 2540 เอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 166, 176, 180 และ 263 เดือนภาษีพฤษภาคม 2540 ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 158 และ 224 เดือนภาษีกรกฎาคม 2540 ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 208, 222 และ 290 เดือนภาษีมีนาคม 2541 ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 161 และเดือนมิถุนายน 2541 ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 157 โดยการผ่อนชำระค่าภาษีดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 28 มกราคม 2545 ถึงวันที่ 2 มิถุนายน 2546 จึงเป็นข้อบ่งชี้ว่า จำเลยที่ 3 ทราบดีอยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 ค้างชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามฟ้องต่อโจทก์ตั้งแต่ก่อนจำเลยที่ 1 จดทะเบียนเลิกห้าง เมื่อปรากฏตามงบดุลหมายเหตุประกอบงบการเงิน ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2546 และรายงานการชำระบัญชี ตามเอกสารหมาย จ.1 แผนที่ 15, 16 และ 19 ตามลำดับ ว่า ในการชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินเป็นเงินสดคงเหลือ 1,400,000 บาท และมีการแบ่งคืนทรัพย์สินไปแล้ว ซึ่งจำเลยที่ 3 จะแบ่งคืนเงินจำนวนนี้ให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนได้แต่เพียงเท่าที่ไม่ต้องเอาไว้ใช้ในการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 เท่านั้น ตามมาตรา 1269 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การที่จำเลยที่ 3 แบ่งเงินจำนวนดังกล่าวเฉลี่ยคืนให้แก่ผู้ถือหุ้นโดยไม่นำไปชำระหนี้ภาษีอากรค้างให้แก่โจทก์จึงเป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ชำระบัญชีโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดในหนี้ภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระโจทก์จำนวน 961,681.80 บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่เกินกว่าเงินสดคงเหลือจำนวน 1,400,000 บาท ที่จำเลยที่ 3 แบ่งคืนให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนไป ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ชำระบัญชีร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระหนี้ภาษีอากรค้างจำนวน 961,681.80 บาท และค่าฤชาธรรมเนียมแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share