แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดอันมีผลให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจในการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้แต่เพียงผู้เดียวตามมาตรา 22 แห่งพ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 กล่าวคือในส่วนคดีแพ่งของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมมีอำนาจขอเข้าเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในการที่จะบังคับตามสิทธิในคดีแพ่งต่อไป การที่ผู้ร้องซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 ในคดีแพ่งโต้แย้งว่าลูกหนี้ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวไม่มีสิทธิในการบังคับคดีต่อไป เนื่องจากมีการโอนสิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาให้แก่บริษัท พ. ไปก่อนแล้ว และขอให้คืนทรัพย์ที่ยึดแก่ผู้ร้องนั้นเป็นข้อพิพาทโต้แย้งสิทธิในการบังคับคดี ผู้ร้องจะต้องยื่นคำร้องในคดีแพ่งดังกล่าว และอำนาจในการพิจารณาว่าลูกหนี้ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีแพ่งนั้นจะมีสิทธิบังคับคดีหรือไม่ย่อมเป็นอำนาจของศาลในคดีแพ่ง ผู้ร้องจะยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางโดยอ้างว่าเป็นการคัดค้านการกระทำของเจ้าพนักงานพิทรัพย์หาได้ไม่
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากผู้ชำระบัญชีได้ร้องขอให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มหานครทรัสต์ จำกัด (มหาชน) ลูกหนี้ล้มละลาย และศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2544 เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2551 ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นจำเลยที่ 2 ในคดีของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ หมายเลขแดงที่ 19601/2538 ระหว่าง บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มหานครทรัสต์ จำกัด (มหาชน) โจทก์ สิบตำรวจเอกโฆษิต ที่ 1 นายวรวุฒิ ที่ 2 จำเลย ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาตามยอมและต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 110941 ตำบลคลองกุ่ม อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาด แต่เนื่องจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มหานครทรัสต์ จำกัด (มหาชน) ลูกหนี้ได้โอนสิทธิตามคำพิพากษาดังกล่าวให้แก่บริษัทโพเทนส์โพรดักส์ จำกัด แล้ว เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2537 ลูกหนี้ในฐานะโจทก์ในคดีแพ่งดังกล่าวจึงไม่มีสิทธิบังคับคดีอีกต่อไป ทั้งผู้รับโอนมิได้เข้าสวมสิทธิในคดีแพ่งภายในกำหนดระยะเวลา 10 ปี การบังคับคดีในคดีแพ่งดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการบังคับคดีของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ดำเนินการตามคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เสียทั้งหมดและให้ปล่อยที่ดินคืนแก่ผู้ร้อง
ศาลล้มละลายกลางตรวจคำร้องแล้ว เห็นว่า เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว การจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้เป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักทรัพย์ จึงไม่รับคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “เห็นว่า” การที่ลูกหนี้ผู้ล้มละลายเป็นโจทก์ในคดีของศาลแพ่งกรุงเทพใต้หมายเลขแดงที่ 19601/2538 ระหว่าง บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มหานครทรัสต์ จำกัด (มหาชน) โจทก์ สิบตำรวจเองโฆษิต ที่ 1 นายวรวุฒิ ที่ 2 จำเลย ซึ่งศาลพิพากษาให้ผู้ร้องซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 ในคดีดังกล่าวร่วมกันชำระหนี้ และหลังจากศาลได้มีคำพิพากษาแล้วจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ ลูกหนี้ในฐานะโจทก์ในคดีแพ่งดังกล่าวได้ดำเนินการบังคับคดีและมีการยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 110941 ตำบลคลองกุ่ม อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาด เช่นนี้ เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดอันมีผลให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจในการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้แต่เพียงผู้เดียวตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 กล่าวคือในส่วนคดีแพ่งของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมมีอำนาจขอเข้าเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในการที่จะบังคับตามสิทธิในคดีแพ่งต่อไป การที่ผู้ร้องซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 ในคดีแพ่งโต้แย้งว่าลูกหนี้ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวไม่มีสิทธิในการบังคับคดีต่อไป เนื่องจากมีการโอนสิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาให้แก่บริษัทโพเทนท์ โพรดักส์ จำกัด ไปก่อนแล้วและขอให้คืนทรัพย์ที่ยึดแก่ผู้ร้องนั้นเป็นข้อพิพาทโต้แย้งสิทธิในการบังคับคดีในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 19601/2538 ผู้ร้องจะต้องยื่นคำร้องในคดีแพ่งดังกล่าว และอำนาจในการพิจารณาว่าลูกหนี้ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีแพ่งนั้นจะมีสิทธิบังคับคดีหรือไม่ย่อมเป็นอำนาจของศาลในคดีแพ่ง ผู้ร้องจะยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลาง โดยอ้างว่าเป็นการคัดค้านการกระทำของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หาได้ไม่ ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งไม่รับคำสั่งไม่รับคำรองของผู้ร้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ