คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 867/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 25 ที่ให้สิทธิแก่นายจ้างที่ได้ทดรองจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างแล้วขอรับเงินทดแทนคือจากสำนักงานประกันสังคมได้ มิใช่บทบัญญัติตัดสิทธิของลูกจ้างผู้ประสบอันตรายตามมาตรา 49 การที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างผู้ประสบอันตรายได้ยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนจากสำนักงานประกันสังคมจำเลยตามมาตรา 49 และนายจ้างได้แจ้งการประสบอันตรายของโจทก์ต่อจำเลยตามมาตรา 48 เมื่อจำเลยแจ้งมติของคณะอนุกรรมการแพทย์ให้โจทก์และนายจ้างของโจทก์ทราบแล้ว แม้นายจ้างของโจทก์จะมิได้อุทธรณ์ แต่โจทก์ได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนอันเป็นการใช้สิทธิตามมาตรา 52 เมื่อโจทก์ไม่พอใจคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน โจทก์ย่อมมีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงานได้ตามมาตรา 53 เป็นกรณีมีข้อโต้แย้งสิทธิเกิดขึ้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างบริษัทสุนทรเมทัลอินดัสทรีส์ จำกัด ทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ประจำเครื่อง เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2544 ขณะที่โจทก์ปฏิบัติงานคุมเครื่องจักรโดยให้รถยกมายกแผ่นเหล็ก รถยกได้ถอยไปชนเครื่องจักรทำให้เครื่องจักรล้มลงมาทับหลังของโจทก์ได้รับบาดเจ็บ โจทก์มีอาการปวดบริเวณหลังและสะโพกอย่างต่อเนื่อง และได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลบางปะกอก 2 ในระหว่างวันที่ 26 มกราคม 2544 ถึงวันที่ 16 สิงหาคม 2544 ทั้งแผนกผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก รวม 22 ครั้ง ในการรักษาที่โรงพยาบาลดังกล่าว นายจ้างของโจทก์ได้ทดรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 53,457 บาท ภายหลังเกิดเหตุนายจ้างได้แจ้งการประสบอันตรายและขอเบิกค่ารักษาพยาบาลจากกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 2 ต่อมาจำเลยได้มีหนังสือถึงนายจ้างโจทก์แจ้งว่า การเจ็บป่วยของโจทก์เกิดขึ้นเนื่องจากการทำงานแต่ไม่ทำให้ข้อกระดูกเชิงกรานเคลื่อน และให้จ่ายค่ารักษาพยาบาลเฉพาะการรักษาในวันที่ 26, วันที่ 29 และวันที่ 31 มกราคม 2544 รวมเป็น 2,144 บาท โจทก์จึงได้ดำเนินการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเพื่อให้พิจารณาใหม่อีกครั้ง ภายหลังคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนได้มีมติให้ยืนตามคำวินิจฉัยของพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 2 การวินิจฉัยของคณะกรรมการดังกล่าวเป็นการพิจารณาตามหลักสถิติมิใช่พิจารณาจากเรื่องที่เกิดขึ้นจริง โจทก์ได้รับความเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานมาโดยตลอด ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนที่ 175/2545 และให้จำเลยจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้โจทก์เต็มจำนวน
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของบริษัทสุนทรเมทัลอินดัสทรีส์ จำกัด ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ประจำเครื่อง เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2544 ขณะโจทก์ปฏิบัติงานตามหน้าที่โดยให้รถยกมายกแผ่นเหล็กรถยกถอยหลังพลาดไปชนเครื่องจักร ทำให้เครื่องจักรล้มลงมาทับหลังของโจทก์ เป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บกล้ามเนื้ออักเสบ ฟกช้ำ โจทก์เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลบางปะกอก 2 ในแผนกผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ค่ารักษาพยาบาลเป็นเงินรวม 53,457 บาท ภายหลังสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 2 ของจำเลยพิจารณาและวินิจฉัยตามมติของอนุกรรมการการแพทย์ว่า อาการเจ็บป่วยของโจทก์เกิดเนื่องจากการทำงาน แต่ไม่ทำให้กระดูกเชิงกรานเคลื่อนให้จ่ายค่ารักษาพยาบาลสำหรับการรักษาวันที่ 26, วันที่ 29 และวันที่ 31 มกราคม 2544 เท่านั้น ต่อมาคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนได้พิจารณาจากเวชระเบียนและลักษณะการทำงานของโจทก์แล้วเห็นว่า การประสบอันตรายของโจทก์ด้วยเหตุเครื่องจักรล้มทับซึ่งเป็นเหตุให้กล้ามเนื้อฟกช้ำไม่ควรใช้เวลารักษาเกิน 1 สัปดาห์ ให้จ่ายค่ารักษาพยาบาลสำหรับการรักษาในวันที่ 26, วันที่ 29 และวันที่ 31 มกราคม 2544 รวมเป็น 2,144 บาท และจากผลการตรวจร่างกายของโจทก์ไม่พบอาการบาดเจ็บสาหัสที่จะต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ทั้งจากเวชทะเบียนปรากฏว่าโจทก์มีอาการเจ็บสะโพกด้านขวา และจากภาพถ่ายรังสีพบว่าข้อต่อกระดูกสะโพกเชิงกรานด้านซ้ายเป็นปกติ การที่โรงพยาบาลบางปะกอก 2 วินิจฉัยว่าข้อต่อกระดูกเชิงกรานข้างซ้ายแยกจึงเป็นการรักษาอาการเนื่องมาจากข้อต่อกระดูกเชิงกรานข้างขวาอักเสบซึ่งเกิดจากพยาธิสภาพของโจทก์เอง หากโจทก์มีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลมากกว่าที่จำเลยกำหนดให้ ก็คงได้รับตามความจำเป็นรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 35,000 บาท ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 2 พ.ศ.2539 เท่านั้น คำวินิจฉัยของจำเลยชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นลูกจ้างบริษัทสุนทรเมทัลอินดัสทรีส์ จำกัด ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ประจำเครื่อง เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2544 ขณะโจทก์ปฏิบัติงานตามหน้าที่ถูกรถยกที่กำลังยกโลหะเกี่ยวเครื่องจักรล้มทับหลังโจทก์ โจทก์เข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลบางปะกอก 2 ทั้งในแผนกผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก ในระหว่างวันที่ 5 ถึง 16 กุมภาพันธ์ 2544 และวันที่ 19 ถึง 30 มีนาคม 2544 เข้ารักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน เมื่อรวมค่ารักษาพยาบาลแล้วเป็นเงินทั้งสิ้น 53,457 บาท โจทก์และบริษัทสุนทรเมทัลอินดัสทรีส์ จำกัด นายจ้างได้แจ้งการประสบอันตรายต่อจำเลย จำเลยโดยพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคม เขตพื้นที่ 2 พิจารณาและแจ้งให้ทราบว่า คณะกรรมการการแพทย์มีมติว่า การเจ็บป่วยของโจทก์เกิดเนื่องจากการทำงานแต่มิได้ทำให้ข้อกระดูกเชิงกรานเคลื่อน และให้จ่ายค่ารักษาพยาบาลเฉพาะของการรักษาวันที่ 26, 29 และ 31 มกราคม 2544 เท่านั้น โจทก์อุทธรณ์ คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์แล้วมีมติยืนตามความเห็นของคณะอนุกรรมการการแพทย์ ตามเอกสารหมาย ล.1 เงินค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายให้แก่โรงพยาบาลบางปะกอก 2 จำนวน 53,456 บาท ตามใบแจ้งยอดเงินเอกสารหมาย จ.3 นั้น บริษัทสุนทรเมทัลอินดัสทรีส์ จำกัด นายจ้างโจทก์เป็นผู้ทดรองจ่ายให้ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 25 นั้น บัญญัติให้สิทธิแก่นายจ้างที่ได้ทดรองจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนแล้วขอรับเงินทดแทนคืนจากสำนักงานประกันสังคมได้ หาใช่บทบัญญัติที่จะตัดสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างผู้ประสบอันตรายตามมาตรา 49 แต่ประการใด เมื่อกรณีนี้เป็นกรณีโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างผู้ประสบอันตรายได้ยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนจากจำเลยตามมาตรา 49 และบริษัทสุนทรเมทัลอินดัสทรีส์ จำกัด นายจ้างได้แจ้งการประสบอันตรายของโจทก์ต่อจำเลย ตามมาตรา 48 แล้ว เมื่อจำเลยแจ้งมติของคณะอนุกรรมการการแพทย์ให้โจทก์และนายจ้างของโจทก์ทราบแล้ว แม้นายจ้างของโจทก์จะมิได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการตามมาตรา 52 แต่โจทก์ได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนแล้วอันเป็นการใช้สิทธิตามมาตรา 52 ดังกล่าว เมื่อโจทก์ไม่พอใจคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนโจทก์ย่อมมีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงานได้ ตามมาตรา 53 เป็นกรณีมีข้อโต้แย้งสิทธิเกิดขึ้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงแล้วพิพากษาคดีใหม่ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56.

Share