คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2569/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1272 จะบัญญัติห้ามมิให้ฟ้องเรียกหนี้สินเฉพาะที่ห้างหุ้นส่วนหรือผู้เป็นลูกหนี้อยู่ในฐานะเช่นนั้นเมื่อพ้นกำหนด 2 ปีนับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชีก็ตาม แต่ตามมาตรา 694ก็ได้บัญญัติไว้ว่านอกจากข้อต่อสู้ซึ่งผู้ค้ำประกันหรือจำเลยที่ 1 มีต่อเจ้าหนี้หรือโจทก์นั้น ผู้ค้ำประกันอาจยกข้อต่อสู้ทั้งหลายซึ่งลูกหนี้หรือห้างดังกล่าวมีต่อเจ้าหนี้ขึ้นต่อสู้ได้ด้วย แม้ข้อสัญญาข้อ 2 และข้อ 5 ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันจะปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับห้างซึ่งเป็นลูกหนี้ในหนี้สินที่ลูกหนี้ยังคงมีอยู่ต่อธนาคารโจทก์ก็ตาม ก็หาทำให้จำเลยที่ 1 ผู้ค้ำประกันเปลี่ยนฐานะเป็นลูกหนี้ชั้นต้นและหมดสิทธิที่จะยกข้อต่อสู้ซึ่งห้างลูกหนี้มีต่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ขึ้นต่อสู้โจทก์ตามมาตรา 694 ไม่ ฉะนั้นจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันหนี้ของห้างจึงชอบที่จะยกอายุความ 2 ปี ตามมาตรา 1272 ขึ้นต่อสู้โจทก์ได้และเมื่อนับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ก. จนถึงวันฟ้องเกินกำหนด2 ปีแล้ว ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 จึงขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาค้ำประกันการชำระภาษีต่อกรมศุลกากรในการที่ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลกรุงเทพฯเคมีการเกษตร นำเครื่องตรวจวิเคราะห์วัตถุมีพิษเข้ามาในราชอาณาจักรในวงเงินจำนวน 550,000 บาท โดยสัญญาว่าหากโจทก์ได้รับความเสียหายจากการค้ำประกันดังกล่าวห้างยินยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จนครบถ้วนพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยมีจำเลยที่ 1 หุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดทำสัญญาค้ำประกันห้างดังกล่าวไว้แก่โจทก์โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมอีกชั้นหนึ่ง ต่อมาโจทก์ได้นำเงินจำนวน450,000 บาท ไปชำระแก่กรมศุลกากรตามสัญญาค้ำประกันและแจ้งให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 766,082.19 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 550,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การทำนองเดียวกันว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และมูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องนับแต่วันชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลกรุงเทพฯ เคมีการเกษตรเสร็จจนถึงวันฟ้องเกิน 2 ปี คดีจึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ ตามหนังสือรับรองของกรมทะเบียนการค้ากระทรวงพาณิชย์ เอกสารหมาย จ.1 จำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลกรุงเทพฯ เคมีการเกษตร ตามหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร กรมทะเบียนการค้ากระทรวงพาณิชย์ เอกสารหมาย จ.2 เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2523โจทก์ได้ทำสัญญาค้ำประกันการชำระภาษีต่อกรมศุลกากรในการที่ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลกรุงเทพฯ เคมีการเกษตรนำเครื่องตรวจวิเคราะห์วัตถุมีพิษเข้ามาในราชอาณาจักรในวงเงินจำนวน 550,000 บาท โดยสัญญาว่า หากโจทก์ได้รับความเสียหายจากการค้ำประกันดังกล่าว ห้างยินยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จนครบถ้วนพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีตามคำขอให้ออกหนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.4 และในวันที่ 23มีนาคม 2526 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาค้ำประกันไว้แก่โจทก์โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับห้างดังกล่าวในหนี้สินอื่นใดที่มีอยู่ในปัจจุบันหรือที่จะมีขึ้นในภายหน้าในวงเงินจำนวน660,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปีตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 ต่อมาในวันที่ 18สิงหาคม 2535 ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลกรุงเทพฯ เคมีการเกษตรได้จดทะเบียนเลิกห้างและได้จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีในวันที่11 พฤศจิกายน 2535 ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.2ครั้นวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2536 โจทก์ได้ชำระหนี้เป็นค่าอากรขาเข้าแก่กรมศุลกากรตามสัญญาค้ำประกันจำนวน 550,000 บาทตามใบเสร็จรับเงินค่าภาษีอากรเอกสารหมาย จ.8 และวันที่27 มิถุนายน 2538 โจทก์ได้ทวงถามห้างดังกล่าวและจำเลยทั้งสองให้ชำระหนี้พร้อมด้วยดอกเบี้ยตามหนังสือของโจทก์เอกสารหมาย จ.9
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ในชั้นนี้เพียงว่าฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลกรุงเทพฯ เคมีการเกษตรอีกชั้นหนึ่งนั้นขาดอายุความหรือไม่ ส่วนคดีที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2โจทก์มิได้อุทธรณ์ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น สำหรับปัญหาดังกล่าวพิเคราะห์แล้ว โจทก์อุทธรณ์ว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1272 เพียงแต่บัญญัติห้ามมิให้ฟ้องห้างหุ้นส่วน ผู้เป็นหุ้นส่วน ผู้ถือหุ้น หรือผู้ชำระบัญชีเมื่อพ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชีเท่านั้นแต่หนี้สินดังกล่าวยังไม่ระงับสิ้นไป จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันยังต้องรับผิดร่วมกับห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลกรุงเทพฯ เคมีการเกษตร เพราะตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 2 ระบุว่า “ถึงแม้ว่าลูกหนี้ต้องล้มละลายหรือย้ายไปเสียจากถิ่นที่อยู่หรือมีกรณีอื่นใดอันกระทำให้ธนาคารไม่อาจได้รับชำระหรือเรียกร้องให้ชำระเงินดังกล่าวในข้อ 1.ผู้ค้ำประกันยอมเข้ารับผิดร่วมและหรือแทนลูกหนี้ในอันที่จะชำระให้แก่ธนาคารในทันทีที่ธนาคารเรียกร้อง” และข้อ 5 ระบุว่า”การค้ำประกันนี้มีผลใช้บังคับและผูกพันผู้ค้ำประกันตลอดไปตราบเท่าที่หนี้สินที่ลูกหนี้ยังคงมีอยู่ต่อธนาคารเนื่องจากมูลหนี้ดังกล่าวในข้อ 1. ยังไม่ได้ชำระให้แก่ธนาคารจนหมดสิ้นเรียบร้อย” ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ยอมตนเข้าเป็นลูกหนี้ต่อโจทก์โดยตรง แม้โจทก์จะไม่สามารถฟ้องบังคับให้ห้างดังกล่าวชำระหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ก็ยังคงต้องรับผิดชำระหนี้ให้โจทก์จนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้เสร็จสิ้น ความรับผิดของผู้ค้ำประกันไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความในการฟ้องร้องไว้โดยเฉพาะ โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันภายในอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30ได้ เห็นว่า แม้ตามมาตรา 1272 ดังกล่าวจะได้บัญญัติห้ามมิให้ฟ้องเรียกหนี้สินเฉพาะที่ห้างหุ้นส่วนหรือผู้เป็นหุ้นส่วนเป็นลูกหนี้อยู่ในฐานเช่นนั้นเมื่อพ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชีก็ตามแต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 694 ก็ได้บัญญัติไว้อีกว่า นอกจากข้อต่อสู้ซึ่งผู้ค้ำประกันหรือจำเลยที่ 1 มีต่อเจ้าหนี้หรือโจทก์นั้น ท่านว่าผู้ค้ำประกันอาจยกข้อต่อสู้ทั้งหลายซึ่งลูกหนี้หรือห้างดังกล่าวมีต่อเจ้าหนี้ขึ้นต่อสู้ได้ด้วย แม้ข้อสัญญา ข้อ 2 และข้อ 5 ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 ที่โจทก์กล่าวอ้างจะปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับห้างซึ่งเป็นลูกหนี้ในหนี้สินที่ลูกหนี้ยังคงมีอยู่ต่อธนาคารโจทก์ก็ตาม ก็หาทำให้จำเลยที่ 1 ผู้ค้ำประกันเปลี่ยนฐานะเป็นลูกหนี้ชั้นต้นและหมดสิทธิที่จะยกข้อต่อสู้ซึ่งห้างลูกหนี้มีต่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ขึ้นต่อสู้โจทก์ตามมาตรา 694 ดังกล่าวไม่ฉะนั้นด้วยเหตุดังกล่าว จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันหนี้ของห้างจึงชอบที่จะยกอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1272 ขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ และเมื่อนับแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน2535 อันเป็นวันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลกรุงเทพฯ เคมีการเกษตร จนถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2538 อันเป็นวันฟ้อง ปรากฏว่าเกินกำหนด 2 ปีแล้ว ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 จึงขาดอายุความคำพิพากษาศาลชั้นต้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share