คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3080/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยรู้อยู่แล้วว่าขณะจำเลยลงลายมือชื่อในตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาท จำเลยได้ออกจากการเป็นกรรมการบริษัท บ. และได้มีการจดทะเบียนเลิกบริษัทไปแล้ว จำเลยไม่อาจกระทำการแทนบริษัท ทั้งบริษัทไม่สามารถรับผิดต่อโจทก์ได้ ดังนั้น จำเลยในฐานะผู้ลงลายมือชื่อในตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทย่อมต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทนั้นเป็นส่วนตัวตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงต้องรับผิดใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน4,106,260.17 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี ของต้นเงิน 3,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 3,000,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2545เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยถึงแก่ความตาย นายพลานนท์ ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า บริษัทรักษ์พาณิชย์ จำกัด เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โดยมีนายรักษ์ จำเลย และบุคคลอื่นอีก 2 คน เป็นกรรมการในการทำนิติกรรมเกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน เบิกเงินเกินบัญชี นายรักษ์ลงลายมือชื่อร่วมกับกรรมการอื่นอีกหนึ่งคนและประทับตราของบริษัทกระทำการแทนบริษัทได้ตามหนังสือรับรอง ต่อมาบริษัทรักษ์พาณิชย์ จำกัด จดทะเบียนเลิกบริษัทเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2543 และจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2544 เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2545 นายรักษ์และจำเลยร่วมกันลงลายมือชื่อและประทับตราของบริษัทรักษ์พาณิชย์ จำกัด ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่โจทก์โดยสัญญาว่าจะใช้เงิน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 9.25 ต่อปี ให้แก่โจทก์ในวันที่ 5 มิถุนายน 2545 ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน เมื่อถึงกำหนดใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าว จำเลยไม่ใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยจะต้องรับผิดใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า จำเลยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทรักษ์พาณิชย์ จำกัด มาตั้งแต่ปี 2518 จนกระทั่งวันที่ 26 ตุลาคม 2543 ได้มีการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมให้จำเลยออกจากการเป็นกรรมการของบริษัทรักษ์พาณิชย์ จำกัด ทั้งนี้ตามคำเบิกความของนายโสภณ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ และต่อมาได้มีการจดทะเบียนเลิกบริษัทและจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2543 และวันที่ 29 มีนาคม 2544 ตามลำดับ ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับบริษัทรักษ์พาณิชย์ จำกัด ที่สำคัญเช่นนี้ จำเลยในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทดังกล่าวคนหนึ่งควรต้องรับรู้ มิใช่ว่าจำเลยไม่ต้องรับรู้เรื่องเกี่ยวกับกิจการของบริษัทโดยจำเลยเพียงแต่ได้รับเงินเดือนและลงลายมือชื่อในเอกสารให้บริษัทดังที่จำเลยอ้าง ส่วนที่จำเลยอ้างว่าในขณะที่จำเลยลงลายมือชื่อในตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทจำเลยไม่ทราบว่ามีการจดทะเบียนเลิกบริษัทไปแล้ว จำเลยไม่ได้สอบถามนายรักษ์หรือพนักงานของบริษัท เหตุที่จำเลยไม่ได้สอบถามนายรักษ์เพราะนายรักษ์ป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลไม่อยากรบกวนนั้น เป็นข้ออ้างที่ไม่สมเหตุผล เพราะการลงลายมือชื่อในเอกสารสำคัญที่มีจำนวนเงินสูงเช่นนั้นบุคคลทั่วไปย่อมต้องสอบถามรายละเอียดต่าง ๆ จากบุคคลที่เกี่ยวข้อง กรณีเชื่อได้ว่าจำเลยรู้อยู่แล้วว่าขณะจำเลยลงลายมือชื่อในตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาท จำเลยได้ออกจากการเป็นกรรมการบริษัทรักษ์พาณิชย์ จำกัด และได้มีการจดทะเบียนเลิกบริษัทไปแล้วจำเลยไม่อาจกระทำการแทนบริษัท ทั้งบริษัทไม่สามารถรับผิดต่อโจทก์ได้ ดังนั้น จำเลยในฐานะผู้ลงลายมือชื่อในตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทย่อมต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทนั้นเป็นส่วนตัวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 900 วรรคหนึ่งจำเลยจึงต้องรับผิดใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ

Share