คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8660/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้จำเลยที่ 3 จะให้การว่า สัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ โจทก์ไม่อาจนำมาฟ้องให้จำเลยที่ 3 รับผิดได้ ทำให้คดีมีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 หรือไม่ แต่ต่อมาในระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลาง จำเลยที่ 3 แถลงรับว่าได้ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 จริง โดยโจทก์นำแบบพิมพ์สัญญาสำเร็จรูปมาให้จำเลยที่ 3 กรอกข้อความในช่องว่าง ประเด็นข้อพิพาทที่ว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 หรือไม่ จึงเป็นอันยุติตามคำแถลงรับของจำเลยที่ 3 โจทก์ไม่ต้องนำสืบในประเด็นนี้อีกเพราะจำเลยที่ 3 ยอมรับแล้ว กรณีไม่จำต้องพิจารณาว่าโจทก์มีพยานหลักฐานเรื่องดังกล่าวมาแสดงหรือไม่ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าแม้สัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 จะไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ก็ฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 จึงถูกต้องแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2542 จำเลยที่ 1 เข้าทำงานเป็นลูกจ้างโจทก์ในตำแหน่งพนักงานขับรถ มีหน้าที่ขับรถไปกับพนักงานขายและเป็นผู้ช่วยพนักงานขายสินค้าเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต่อมาวันที่ 1 มีนาคม 2544 จำเลยที่ 1 ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นพนักงานขายและเก็บเงิน มีหน้าที่ขายสินค้าและเก็บเงินค่าสินค้าที่ขายได้ส่งให้โจทก์ หากสินค้าเกิดการสูญหาย ชำรุด หรือทำให้โจทก์ไม่ได้รับค่าสินค้า หรือจำเลยที่ 1 ทุจริต จำเลยที่ 1 ยอมชดใช้ราคาสินค้าและความเสียหายที่เกิดขึ้นให้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมไม่จำกัดจำนวน เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2544 จำเลยที่ 1 เบิกสินค้าเครื่องดื่มชูกำลังยี่ห้อแรงเยอร์จากโจทก์ไป 115,600 ขวด ราคาขวดละ 7.90 บาท คิดเป็นเงิน 913,240 บาท กับยืมเงินทดรองค่าใช้จ่ายในการเดินทางประจำเดือนธันวาคม 2544 ไป 16,000 บาท ต่อมาวันที่ 13 ธันวาคม 2544 โจทก์ตรวจพบว่าจำเลยที่ 1 ขายสินค้าดังกล่าวไป 22,700 ขวด เก็บเงินได้ 179,330 บาท แถมให้ลูกค้าและแลกฝาไป 6,400 ขวด ซึ่วจะต้องเหลือสินค้า 86,500 ขวด แต่โจทก์ตรวจนับสินค้าคงเหลือได้เพียง 66,949 ขวด สูญหายไป 19,551 ขวด คิดเป็นเงิน 154,452.90 บาท และจำเลยที่ 1 ส่งเงินค่าขายสินค้าให้โจทก์เพียง 127,980 บาท ยังขาดอยู่ 51,350 บาท กับจำเลยที่ 1 ไม่ส่งเงินทดรองค่าใช้จ่ายในการเดินทางประจำเดือนธันวาคม 2544 จำนวน 16,000 บาท คืนให้โจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการประพฤติผิดสัญญาจ้าง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายรวม 221,802.90 บาท จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ โจทก์มีหนังสือทวงถามแล้ว แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉยจึงต้องนำคดีมาฟ้อง โดยขอคิดดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2544 เป็นต้นไป เฉพาะดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 20,715.76 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 242,518.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ในเงินต้น 211,802.90 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า คดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานกลาง จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 เฉพาะในตำแหน่งพนักงานขับรถ โจทก์เลื่อนตำแหน่งให้จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานขายโดยไม่ได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบ จะถือว่าจำเลยที่ 2 ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ในตำแหน่งพนักงานขายด้วยไม่ได้ ฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุม ทั้งจำเลยที่ 2 ไม่เคยได้รับหนังสือทวงถามของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า สัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อไว้ มีแต่นายสุทธิพงษ์ เวศย์วรุตม์ ลงลายมือชื่อในฐานะผู้แทนนายจ้างไว้แต่เพียงเดียว นายสินธุ์ เวศย์วรุตม์ ไม่ได้ร่วมลงลายมือชื่อด้วย และไม่ได้ประทับตราสำคัญของโจทก์ตามที่โจทก์ได้จดทะเบียนไว้ จึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ทั้งสัญญาค้ำประกันดังกล่าวไม่ได้ปิดอาการแสตป์ตามกฎหมาย จึงเป็นเอกสารที่ไม่สมบูรณ์โจทก์จึงไม่อาจนำมาฟ้องให้จำเลยที่ 3 รับผิดได้ คดีโจทก์จึงขาดอายุความ โจทก์บรรยายฟ้องไม่ชัดแจ้งใช้ถ้อยคำคลุมเครือ จำเลยที่ 3 อ่านแล้วไม่เข้าใจ ทำให้ไม่สามารถต่อสู้คดีได้ถูกต้อง จึงเป็นฟ้องที่เคลือบคลุม จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2544 ในขณะที่จำเลยที่ 1 มีตำแหน่งเป็นพนักงานขับรถไม่ได้เป็นผู้ช่วยพนักงานขายตามที่โจทก์อ้าง หลังจากนั้นเพียง 6 วัน โจทก์เลื่อนตำแหน่งจำเลยที่ 1 เป็นพนักงานขายโดยมิได้แจ้งให้จำเลยที่ 3 ทราบแสดงให้เห็นว่าโจทก์มีเจตนาปิดบังข้อเท็จจริง ทำให้จำเลยที่ 3 เสียเปรียบ หากจำเลยที่ 3 ทราบว่าจำเลยที่ 1 เป็นพนักงานขายซึ่งจะต้องรับผิดในความสูญหายหรือเสียหายของสินค้า จำเลยที่ 3 ก็จะไม่เข้าทำสัญญาเป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลาง โจทก์และจำเลยที่ 2 ตกลงกันได้โดยจำเลยที่ 2 ยอมร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2546 ขอให้พิพากษาคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว กับโจทก์และจำเลยที่ 3 แถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า จำเลยที่ 1 เริ่มเข้าทำงานกับโจทก์ในตำแหน่งพนักงานขับรถตามสัญญาจ้างทดลองงานเอกสารท้ายฟ้อง ต่อมาโจทก์แต่งตั้งให้จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานขาย จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ไว้ในขณะที่จำเลยที่ 1 ยังทำงานในตำแหน่งพนักงานขับรถ ไม่ได้กำหนดวงเงินที่จะต้องรับผิดและไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ โดยโจทก์นำแบบพิมพ์สัญญาสำเร็จรูปที่โจทก์จัดทำขึ้นมาให้จำเลยที่ 3 เขียนกรอกข้อความลงในช่องว่างตามสัญญาค้ำประกันการทำงานของลูกจ้างเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 6 และสัญญาค้ำประกันดังกล่าวไม่มีข้อความระบุถึงตำแหน่งหน้าที่การงานของจำเลยที่ 1
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน 216,802.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2544 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 รับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ด้วยตามสัญญาประนีประนอมยอมความลงวันที่ 30 (ที่ถูกเป็นวันที่ 29) พฤษภาคม 2546 ซึ่งให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษา
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ในข้อ 2 ว่า แม้สัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 3 ทำไว้กับโจทก์ ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 6 จะไม่ได้กล่าวถึงตำแหน่งหน้าที่การงานของจำเลยที่ 1 แต่สัญญาค้ำประกันดังกล่าวก็เป็นสัญญาที่เกี่ยวเนื่องกับสัญญาจ้างทดลองงานตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 ซึ่งระบุไว้ในข้อ 1 ว่า โจทก์ผู้ว่าจ้างตกลงรับจำเลยที่ 1 ผู้รับจ้างเข้าเป็นพนักงานของโจทก์ในตำแหน่งพนักงานขับรถ จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ในตำแหน่งพนักงานขับรถด้วย โจทก์เปลี่ยนตำแหน่งจำเลยที่ 1 เป็นพนักงานขายในภายหลังโดยมิได้แจ้งให้จำเลยที่ 3 ทราบ จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดขึ้นในขณะจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานขายนั้น เห็นว่า แม้สัญญาจ้างทดลองงานเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 จะระบุไว้ในข้อ 1 ว่า โจทก์ตกลงรับจำเลยที่ 1 เข้าทำงานในตำแหน่งพนักงานขับรถ แต่ข้อ 4 ก็ระบุว่า โจทก์มีสิทธิที่จะโยกย้าย แต่งตั้ง เปลี่ยนแปลงตำแหน่งหน้าที่การงานของจำเลยที่ 1 ได้ตามสมควรและเหมาะสม จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาจ้างทดลองงานเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 จึงต้องผูกพันตามสัญญาดังกล่าว ทั้งสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 3 ทำไว้ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 6 ยังระบุไว้ในข้อ 4 ด้วยว่าจำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกันยินยอมให้สัญญาค้ำประกันฉบับดังกล่าวคงอยู่ตลอดไปตราบที่จำเลยที่ 1 ยังทำงานอยู่กับโจทก์ การค้ำประกันของจำเลยที่ 3 จึงครอบคลุมถึงการทำงานของจำเลยที่ 1 ในตำแหน่งพนักงานขายที่จำเลยที่ 1 ได้รับการแต่งตั้งในภายหลังด้วย จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดในความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดขึ้นแก่โจทก์ในขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานขาย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ในข้อ 3 และข้อ 4 ซึ่งสรุปได้ว่า จำเลยที่ 3 ให้การไว้แล้วว่าสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 6 ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ โจทก์จะนำมาใช้เป็นหลักฐานในคดีไม่ได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า สัญญาค้ำประกันดังกล่าวไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ จึงรับฟังว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ไม่ได้ เห็นว่า แม้จำเลยที่ 3 จะให้การไว้ว่า สัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 6 ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ โจทก์ไม่อาจนำมาฟ้องให้จำเลยที่ 3 รับผิดได้ ทำให้คดีมีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 หรือไม่ แต่ต่อมาในระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลางปรากฏว่าจำเลยที่ 3 แถลงรับว่า จำเลยที่ 3 ได้ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ไว้ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 6 จริง โดยโจทก์นำแบบพิมพ์สัญญาสำเร็จรูปที่โจทก์จัดทำขึ้นมาให้จำเลยที่ 3 กรอกข้อความลงในช่องว่าง ประเด็นข้อพิพาทที่ว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 หรือไม่ จึงเป็นอันยุติตามคำแถลงรับของจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 จริง โจทก์จึงไม่ต้องนำสืบว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 อีก เพราะจำเลยที่ 3 ยอมรับแล้ว กรณีจึงไม่จำต้องพิจารณาว่าโจทก์มีพยานหลักฐานในเรื่องดังกล่าวมาแสดงหรือไม่ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า แม้สัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 6 จะมิได้ปิดอากรแสตมป์ก็ฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 จึงถูกต้องแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ในข้อ 5 ว่า จำเลยที่ 3 ให้การว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะกำหนดค่าเสียหายไม่ตรงกับเอกสารท้ายฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อโจทก์เป็นเงิน 216,802.20 บาท พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 รับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ เห็นว่า อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ข้อนี้เพียงแต่กล่าวว่าจำเลยที่ 3 ให้การไว้อย่างไร ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงและพิพากษาคดีอย่างไรเท่านั้น จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน

Share