แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2539 ทำหน้าที่เป็นพนักงานเติมวัตถุดิบ โดยต้องยกวัตถุดิบไปเติมที่เครื่อง เครื่องละ 300 กิโลกรัม แบ่งยกเป็น 12 เที่ยว เที่ยวหนึ่งมีน้ำหนัก 25 กิโลกรัม โจทก์ทำงานในหน้าที่นี้มาตั้งแต่เข้าทำงานกับจำเลย กระทั่งปี 2548 โจทก์ได้ลาป่วยในวันที่ 21 และวันที่ 22 มกราคม 2548 และวันที่ 25 มกราคม 2548 ถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2548 เพราะกล้ามเนื้อหลังอักเสบ ต่อมาได้ขอลาอุปสมบทตั้งแต่วันที่ 7 ถึงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2548 โดยได้รับอนุญาตจากจำเลย ดังนี้เมื่อโจทก์หยุดงานหลายวันเนื่องมาจากอาการป่วยจากการยกของหนัก การที่จำเลยให้โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ทำความสะอาดเก็บขยะซึ่งแม้จะมีลักษณะงานแตกต่างกว่าเดิม เป็นการเปลี่ยนแปลงหน้าที่การงานแต่ก็เนื่องมาจากอาการป่วยของโจทก์เป็นอุปสรรคแก่การทำงานในตำแหน่งเดิมโดยงานทั้งสองประเภทมิได้แตกต่างกันมากแม้ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงลักษณะงานต่ำลง แต่ก็เพราะเหตุผลจากสุขภาพของโจทก์เอง การย้ายโจทก์ไปทำงานในตำแหน่งหน้าที่การงานที่ใกล้เคียงตำแหน่งเดิม โดยจ่ายค่าจ้างให้ในอัตราเท่าเดิมโดยมิได้กลั่นแกล้งย้ายตำแหน่งหน้าที่โจทก์ คำสั่งของจำเลยที่เปลี่ยนลักษณะการทำงานของโจทก์จากการเป็นพนักงานยกของเติมวัตถุดิบเป็นการทำความสะอาดเก็บขยะจึงเป็นคำสั่งที่ชอบ เมื่อโจทก์ไม่ไปปฏิบัติงานตามคำสั่งดังกล่าวจึงถือได้ว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่ แต่ปรากฏตามหนังสือการลงโทษทางวินัย เอกสารหมาย จล.3 ถึง จล.5 ว่าในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2548 เวลา 9.15 นาฬิกา หัวหน้าฝ่ายบริหารสั่งให้โจทก์ไปทำงานที่บริเวณโรงเก็บขยะโจทก์ปฏิเสธที่จะทำจึงได้มีหนังสือเตือนฉบับที่ 1 ต่อมาในวันเดียวกันเวลา 11.30 นาฬิกา หัวหน้าฝ่ายบริหารสั่งให้โจทก์ไปทำงานแต่โจทก์ก็ยังไม่ปฏิบัติงานตามคำสั่งจึงได้มีหนังสือเตือน ฉบับที่ 2 จนกระทั่งเวลา 14.30 นาฬิกา ของวันดังกล่าวโจทก์ยังคงไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ ดังนี้ การที่โจทก์ไม่ไปทำงานที่บริเวณโรงเก็บขยะในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2548 เป็นเพียงการละทิ้งหน้าที่อันเป็นความผิดคราวเดียวต่อเนื่องมาในระหว่างเวลาการทำงานในวันดังกล่าวซึ่งในขณะนั้นยังไม่เลิกงานและตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน เอกสารท้ายฟ้องข้อ 11.3 กำหนดให้การตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรตาม (7) ให้กระทำได้เมื่อลูกจ้างละทิ้งหน้าที่ขาดงานไป 1 ถึง 2 วัน สำหรับครั้งแรก ดังนั้น การที่จำเลยมีหนังสือเตือนฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2 ตามหนังสือการลงโทษทางวินัยตามเอกสารหมาย จล.3 และ จล.4 โดยที่โจทก์ยังมิได้ละทิ้งหน้าที่ขาดงานไป 1 ถึง 2 วัน ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานดังกล่าว จึงเป็นการตักเตือนโดยไม่ชอบด้วยข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ข้อ 11.3 (7) และเมื่อจำเลยมีหนังสือเลิกจ้างตามหนังสือการลงโทษทางวินัยเอกสารหมาย จล.5 จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่ชอบด้วยข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเอกสารท้ายฟ้องข้อ 11.3 กรณีไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยตาม ข้อ 1 ที่ระบุว่า “เมื่อถูกตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรในเรื่องเดียวกันเป็นครั้งที่ 2” และไม่เข้ากรณีเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน เอกสารท้ายฟ้องข้อ 13.3 (4) ซึ่งระบุในทำนองเดียวกันกับกรณีที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) แต่การที่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยเป็นการจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงไล่โจทก์ออกได้โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ การที่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยแม้จะมิใช่กรณีที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง แต่เป็นการเลิกจ้างโดยมีสาเหตุจากการที่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยซึ่งมิได้กลั่นแกล้งเลิกจ้างโจทก์แต่อย่างใด จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 จำเลยจึงมิต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ และเมื่อตามข้อบังคับการทำงานของจำเลยเอกสารท้ายฟ้องข้อ 5.1.4 ระบุให้พนักงานซึ่งทำงานติดต่อกันมาครบหนึ่งปี มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีหนึ่งไม่น้อยกว่าหกวันทำงาน และในปี 2548 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยและจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนให้แก่โจทก์ประจำปีในปีที่เลิกจ้างตามส่วนของวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 67
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 5,520 บาท ค่าจ้างค้างจ่าย 4,023 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 1,104 บาท ค่าชดเชย 44,160 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 33,120 บาท
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 4,023 บาท แก่โจทก์แล้ว โจทก์จึงไม่ติดใจเรียกร้องค่าจ้างดังกล่าวอีก
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 35,760 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 5,513 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 30,000 บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 894 บาท แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2539 ตำแหน่งสุดท้ายเป็นพนักงานเติมวัตถุดิบ ได้รับค่าจ้างรายวัน วันละ 149 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน โจทก์ทำงานติดต่อกันตลอดมา ระหว่างการทำงานในเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2548 โจทก์ลาป่วยรวม 11 วัน ตั้งแต่วันที่ 21 ถึงวันที่ 22 มกราคม 2548 วันที่ 25 มกราคม 2548 ถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2548 โดยหยุดต่อเนื่องกัน การลาหยุดครั้งแรกไม่มีใบรับรองแพทย์ ส่วนการลาหยุดครั้งหลังมีใบรับรองแพทย์ ในการลาป่วยโจทก์อ้างว่าปวดกล้ามเนื้อหลัง เนื่องจากตำแหน่งหน้าที่การงานของโจทก์ต้องยกของหนัก โดยต้องยกวัตถุดิบไปเติมที่เครื่อง เครื่องละ 300 กิโลกรัม โจทก์แบ่งยกเป็น 12 เที่ยว เที่ยวหนึ่งมีน้ำหนัก 25 กิโลกรัม โจทก์ได้ทำงานในตำแหน่งหน้าที่นี้ตลอดมาตั้งแต่เข้าทำงานกับจำเลย ก่อนถูกเลิกจ้างโจทก์ได้ขอลาอุปสมบทตั้งแต่วันที่ 7 ถึงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2548 จำเลยอนุญาต โจทก์กลับเข้าทำงานตามปกติในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2548 ปรากฏว่าจำเลยได้รับลูกจ้างคนใหม่เข้ามาทำงานในตำแหน่งหน้าที่ของโจทก์แล้ว และจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ไปทำงานในตำแหน่งหน้าที่ทำความสะอาดบริเวณโรงเก็บขยะ แต่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง จำเลยมีหนังสือตักเตือน 2 ครั้ง และมีคำสั่งครั้งที่ 3 ให้โจทก์ไปปฏิบัติหน้าที่ใหม่ตามที่มอบหมาย แต่โจทก์คงไม่ปฏิบัติตาม จำเลยจึงมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุฝ่าฝืนระเบียบวินัยการทำงาน ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้างตามระเบียบข้อบังคับการทำงาน โจทก์มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี ปีละ 6 วัน ในปี 2548 โจทก์ยังไม่ได้ใช้สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปี ในการสมัครเข้าทำงานโจทก์ได้แสดงหลักฐานผลการเรียนว่าจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 การทำงานในส่วนเติมวัตถุดิบ จำเลยมีพนักงานเติมวัตถุดิบทั้งหมด 6 คน แบ่งเป็นชุดละ 2 คน เนื่องจากจุดงานมีทั้งหมด 3 จุด
มีปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยข้อ 2.1 และข้อ 2.2 ว่า การที่จำเลยมีคำสั่งย้ายโจทก์จากพนักงานเติมวัตถุดิบเป็นพนักงานทำความสะอาดเก็บขยะบริเวณโรงเก็บขยะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างให้ต่ำกว่าเดิมหรือไม่ การที่โจทก์ไม่ยอมปฏิบัติงานทำความสะอาดเก็บขยะและจำเลยมีหนังสือเตือนแล้วเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างหรือไม่ และจำเลยต้องจ่ายเงินตามฟ้องแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2539 ทำหน้าที่เป็นพนักงานเติมวัตถุดิบ โดยต้องยกวัตถุดิบไปเติมที่เครื่อง เครื่องละ 300 กิโลกรัม แบ่งยกเป็น 12 เที่ยว เที่ยวหนึ่งมีน้ำหนัก 25 กิโลกรัม โจทก์ทำงานในหน้าที่นี้มาตั้งแต่เข้าทำงานกับจำเลย กระทั่งปี 2548 โจทก์ได้ลาป่วยในวันที่ 21 และวันที่ 22 มกราคม 2548 และวันที่ 25 มกราคม 2548 ถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2548 เพราะกล้ามเนื้อหลังอักเสบ ต่อมาได้ขอลาอุปสมบทตั้งแต่วันที่ 7 ถึงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2548 โดยได้รับอนุญาตจากจำเลย ดังนี้เมื่อโจทก์หยุดงานหลายวันเนื่องมาจากอาการป่วยจากการยกของหนัก การที่จำเลยให้โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ทำความสะอาดเก็บขยะซึ่งแม้จะมีลักษณะงานแตกต่างกว่าเดิม เป็นการเปลี่ยนแปลงหน้าที่การงานแต่ก็เนื่องมาจากอาการป่วยของโจทก์เป็นอุปสรรคแก่การทำงานในตำแหน่งเดิมโดยงานทั้งสองประเภทมิได้แตกต่างกันมากแม้ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงลักษณะงานต่ำลง แต่ก็เพราะเหตุผลจากสุขภาพของโจทก์เอง การย้ายโจทก์ไปทำงานในตำแหน่งหน้าที่การงานที่ใกล้เคียงตำแหน่งเดิม โดยจ่ายค่าจ้างให้ในอัตราเท่าเดิมโดยมิได้กลั่นแกล้งย้ายตำแหน่งหน้าที่โจทก์ คำสั่งของจำเลยที่เปลี่ยนลักษณะการทำงานของโจทก์จากการเป็นพนักงานยกของเติมวัตถุดิบเป็นการทำความสะอาดเก็บขยะจึงเป็นคำสั่งที่ชอบ เมื่อโจทก์ไม่ไปปฏิบัติงานตามคำสั่งดังกล่าวจึงถือได้ว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่ แต่ปรากฏตามหนังสือการลงโทษทางวินัย เอกสารหมาย จล.3 ถึง จล.5 ว่าในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2548 เวลา 9.15 นาฬิกา หัวหน้าฝ่ายบริหารสั่งให้โจทก์ไปทำงานที่บริเวณโรงเก็บขยะโจทก์ปฏิเสธที่จะทำจึงได้มีหนังสือเตือนฉบับที่ 1 ต่อมาในวันเดียวกันเวลา 11.30 นาฬิกา หัวหน้าฝ่ายบริหารสั่งให้โจทก์ไปทำงานแต่โจทก์ก็ยังไม่ปฏิบัติงานตามคำสั่งจึงได้มีหนังสือเตือน ฉบับที่ 2 จนกระทั่งเวลา 14.30 นาฬิกา ของวันดังกล่าวโจทก์ยังคงไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ ดังนี้ การที่โจทก์ไม่ไปทำงานที่บริเวณโรงเก็บขยะในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2548 เป็นเพียงการละทิ้งหน้าที่อันเป็นความผิดคราวเดียวต่อเนื่องมา ในระหว่างเวลาการทำงานในวันดังกล่าวซึ่งในขณะนั้นยังไม่เลิกงานและตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน เอกสารท้ายฟ้องข้อ 11.3 กำหนดให้การตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรตาม (7) ให้กระทำได้เมื่อลูกจ้างละทิ้งหน้าที่ขาดงานไป 1 ถึง 2 วัน สำหรับครั้งแรก ดังนั้น การที่จำเลยมีหนังสือเตือนฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2 ตามหนังสือการลงโทษทางวินัยตามเอกสารหมาย จล.3 และ จล.4 โดยที่โจทก์ยังมิได้ละทิ้งหน้าที่ขาดงานไป 1 ถึง 2 วัน ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานดังกล่าว จึงเป็นการตักเตือนโดยไม่ชอบด้วยข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ข้อ 11.3 (7) และเมื่อจำเลยมีหนังสือเลิกจ้างตามหนังสือการลงโทษทางวินัยเอกสารหมาย จล.5 จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่ชอบด้วยข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเอกสารท้ายฟ้องข้อ 11.3 กรณีไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยตาม ข้อ 1 ที่ระบุว่า “เมื่อถูกตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรในเรื่องเดียวกันเป็นครั้งที่ 2” และไม่เข้ากรณีเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน เอกสารท้ายฟ้องข้อ 13.3 (4) ซึ่งระบุในทำนองเดียวกันกับกรณีที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) แต่การที่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยเป็นการจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงไล่โจทก์ออกได้โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ การที่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยแม้จะมิใช่กรณีที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง แต่เป็นการเลิกจ้างโดยมีสาเหตุจากการที่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยซึ่งมิได้กลั่นแกล้งเลิกจ้างโจทก์แต่อย่างใด จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 จำเลยจึงมิต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ และเมื่อตามข้อบังคับการทำงานของจำเลยเอกสารท้ายฟ้องข้อ 5.1.4 ระบุให้พนักงานซึ่งทำงานติดต่อกันมาครบหนึ่งปี มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีหนึ่งไม่น้อยกว่าหกวันทำงาน และในปี 2548 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้มีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยและจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนให้แก่โจทก์ประจำปีในปีที่เลิกจ้างตามส่วนของวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 67 เมื่อโจทก์ไม่ได้หยุดพักผ่อนประจำปี จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2548 จำนวนหกวันแก่โจทก์ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์จึงไม่ถูกต้อง อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.