แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องพร้อมคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้น ขอเฉพาะผู้พิพากษาสองคนที่ลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยระบุชื่อให้อนุญาตให้จำเลยทั้งสองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง โดยมิได้ระบุถึงผู้พิพากษาคนอื่นที่ลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 เมื่อผู้พิพากษาทั้งสองคนที่ลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงแล้ว ก็ชอบที่ศาลชั้นต้นจะต้องมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยทั้งสอง ส่วนการที่ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 คนหนึ่งที่ลงชื่อในคำพิพากษามีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยทั้งสองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงโดยลำพัง หามีผลให้เข้าข้อยกเว้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 อันจะส่งผลตามกฎหมายให้จำเลยทั้งสองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ไม่ เพราะไม่ต้องด้วยความประสงค์ของจำเลยทั้งสองในการที่จะขอให้ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 คนนั้นเป็นผู้อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตลอดทั้งไม่ได้ผ่านหลักเกณฑ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคท้าย ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ที่บัญญัติไว้ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้รับฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงไม่ชอบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 คืนธนบัตรจำนวน 240 บาท ที่ใช้ล่อซื้อแก่เจ้าพนักงาน
จำเลยทั้งสองให้การให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 5 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 3 ปี 4 เดือน คืนธนบัตรจำนวน 240 บาท ที่ใช้ล่อซื้อแก่เจ้าพนักงาน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 3 ปี 4 เดือน จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยทั้งสองฎีกาว่า คำเบิกความของพยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจไม่น่าเชื่อถือเมทแอมเฟตามีนและธนบัตรของกลางในคดีนี้ไม่น่าเชื่อว่าตรวจค้นได้จากจำเลยทั้งสองจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว เว้นแต่ถ้าผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์พิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสิ้นนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกา หรืออธิบดีกรมอัยการลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาว่ามีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัยก็ให้รับฎีกานั้นไว้พิจารณาต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ซึ่งขั้นตอนในการที่จะปฏิบัติเข้าข้อยกเว้นให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ตามบทบัญญัติมาตรานี้ มิได้มีบัญญัติวางหลักเกณฑ์ไว้โดยเฉพาะในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคท้าย มาใช้บังคับโดยอนุโลมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 กล่าวคือ หากจำเลยทั้งสองประสงค์จะได้สิทธิจากข้อยกเว้นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ดังกล่าว จำเลยทั้งสองก็มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติไว้ คือ จำเลยทั้งสองต้องยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นขอให้ผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 7 อนุญาตให้จำลยทั้งสองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ แต่ข้อเท็จจริงในสำนวนคดีปรากฏว่า ตามคำร้องฉบับลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2545 ซึ่งจำเลยทั้งสองยื่นพร้อมคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้น คงเพียงขอเฉพาะผู้พิพากษาสองคนที่ลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยระบุชื่อให้อนุญาตให้จำเลยทั้งสองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง โดยมิได้ระบุถึงผู้พิพากษาคนอื่นที่ลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ดังนี้ เมื่อผู้พิพากษาทั้งสองคนที่ลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงแล้ว ก็ชอบที่ศาลชั้นต้นจะต้องมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยทั้งสอง ส่วนการที่ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 คนหนึ่งที่ลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยทั้งสองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงโดยลำพัง จึงหามีผลให้เข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 อันจะส่งผลตามกฎหมายให้จำเลยทั้งสองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ไม่ เพราะมิได้ต้องด้วยความประสงค์ของจำเลยทั้งสองในการที่จะขอให้ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 คนนั้นเป็นผู้อนุญาตให้จำเลยทั้งสองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตลอดทั้งมิได้ผ่านหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้รับฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาของจำเลยทั้งสอง