แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ข้อความตามบันทึกข้อตกลงที่ว่า จำเลยทั้งหกขอถอนชื่อออกจากโฉนดที่ดินพิพาทในเฉพาะส่วนของ ส. นั้น ย่อมมีผลทำให้ที่ดินดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์แต่เพียงผู้เดียว การถอนชื่อจำเลยที่ 5 และที่ 6 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ออกจากโฉนดดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการกระทำให้สิ้นสุดลงบางส่วนซึ่งทรัพย์สินของผู้เยาว์อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์และเป็นการประนีประนอมยอมความ จึงเป็นนิติกรรมอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ที่ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาตตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 (2) และ (12) เมื่อผู้ใช้อำนาจปกครองและผู้แทนโดยชอบธรรมต้องห้ามโดยกฎหมายมิให้ทำนิติกรรมดังกล่าว ซึ่งหมายรวมถึงทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์โดยลำพังแล้ว จะถือว่าการที่ผู้เยาว์ทำนิติกรรมพร้อมกับผู้แทนโดยชอบกรรม มีผลว่าผู้แทนโดยชอบธรรมอนุญาตให้ทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลก่อน เท่ากับเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ต้องมาขออนุญาตจากศาล ซึ่งเป็นการผิดไปจากเจตนารมณ์ของกฎหมาย เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 5 และที่ 6 ผู้เยาว์ได้รับอนุญาตจากศาล บันทึกข้อตกลงการถอนชื่อจากโฉนดที่ดินดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 5 และที่ 6
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยทั้งหกตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยโจทก์ไม่เอาที่ดินมรดกส่วนที่นายเร่งครอบครองแทนโจทก์ยอมให้จำเลยทั้งหกจดทะเบียนรับมรดกที่ดินที่มีชื่อนายเร่งทั้งหมด ส่วนจำเลยทั้งหกยอมถอนชื่อออกจากโฉนดที่ดินที่ลงชื่อร่วมกับโจทก์ไว้พร้อมรับเงินค่าตอบแทนไปจากโจทก์ แต่ในสัญญาไม่ได้กำหนดระยะเวลาที่จะไปจดทะเบียนถอนชื่อเนื่องจากรอให้จำเลยที่ 5 และที่ 6 บรรลุนิติภาวะเสียก่อน เมื่อจำเลยที่ 5 และที่ 6 บรรลุนิติภาวะ โจทก์ติดต่อให้จำเลยทั้งหกดำเนินการถอนชื่อ แต่จำเลยทั้งหกเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งหกจดทะเบียนถอนชื่อที่ลงร่วมกับโจทก์เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2523 ออกจากโฉนดเลขที่ 5253 ตำบลแควใหญ่ (บึงเสนาท) อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งหก
จำเลยทั้งหกให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้จำเลยทั้งหกถอนชื่อออกจากที่โฉนดที่ดิน บันทึกตามฟ้องไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย และขณะทำบันทึกดังกล่าวจำเลยที่ 5 และที่ 6 ยังเป็นผู้เยาว์ ไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้ทำบันทึก จำเลยทั้งหกไม่เคยรับค่าตอบแทนจากโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งหกจดทะเบียนถอนชื่อออกจากโฉนดเลขที่ 5253 ตำบลแควใหญ่ (บึงสนาท) อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งหกอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนถอนชื่อออกจากโฉนดเลขที่ 5253 ตำบลแควใหญ่ (บึงเสนาท) อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ที่ลงไว้เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2537 เฉพาะที่ดินส่วนที่เด็กชายสำลิด โคกโต รับมรดกของนายเฉลียว โคกโต และให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ถอนชื่อที่ลงไว้ในโฉนดที่ดินดังกล่าวเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2543 เฉพาะที่ดินส่วนที่รับมรดกของนายเฉลียวเช่นกัน ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 5 และที่ 6 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 โดยคู่ความไม่ได้ฎีกาโต้แย้งว่า เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2537 โจทก์กับจำเลยทั้งหกทำบันทึกข้อตกลง โดยจำเลยทั้งหกขอถอนชื่อออกจากโฉนดเลขที่ 39 หน้าสำรวจ 127 (โฉนดเลขที่ 5253) ในเฉพาะส่วนของนายสวัสดิ์ โคกโต แต่ส่วนอื่นคงเดิมขณะทำบันทึกดังกล่าว จำเลยที่ 5 และที่ 6 ยังเป็นผู้เยาว์ ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีเพียงประการเดียวว่า บันทึกข้อตกลงผูกพันจำเลยที่ 5 และที่ 6 หรือไม่ เห็นว่า ข้อความตามบันทึกข้อตกลงที่ว่า จำเลยทั้งหกขอถอนชื่อออกจากโฉนดเลขที่ 39 หน้าสำรวจ 127 ในเฉพาะส่วนของนายสวัสดิ์นั้น ย่อมมีผลทำให้ที่ดินดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์แต่ผู้เดียว การถอนชื่อจำเลยที่ 5 และที่ 6 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ออกจากโฉนดดังกล่าว จึงถือได้ว่าเป็นการกระทำให้สุดสิ้นลงบางส่วนซึ่งทรัพย์สินของผู้เยาว์อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์และเป็นการประนีประนอมยอมความเป็นนิติกรรมอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ที่ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาตตามประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ มาตรา 1574 (2) และ (12) เมื่อผู้ใช้อำนาจปกครองและผู้แทนโดยชอบธรรมต้องห้ามโดยกฎหมาย มิให้ทำนิติกรรมดังกล่าว ซึ่งหมายรวมถึงทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์โดยลำพังแล้ว จะถือว่าการที่ผู้เยาว์ทำนิติกรรมพร้อมกับผู้แทนโดยชอบธรรมมีผลว่าผู้แทนโดยชอบธรรมอนุญาตให้ทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลก่อน ก็เท่ากับเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ต้องมาขออนุญาตจากศาลซึ่งเป็นการผิดไปจากเจตนารมณ์ของกฎหมาย และเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 5 และที่ 6 ผู้เยาว์ได้รับอนุญาตจากศาล บันทึกข้อตกลงจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 5 และที่ 6 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 5 และที่ 6 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน