แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาฯไม่ได้บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องที่พนักงานอัยการโจทก์มีหน้าที่ต้องควบคุมตัวจำเลยซึ่งเป็นเยาวชนมาศาลขณะยื่นฟ้องหรือไม่ แต่มาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาบังคับใช้แก่คดี ซึ่งตามมาตรา 165 ที่กำหนดให้พนักงานอัยการโจทก์คุมตัวจำเลยมาศาลในวันฟ้องนั้นสามารถนำมาใช้บังคับแก่คดีเด็กหรือเยาวชนได้ และไม่เป็นการขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวแต่อย่างใด ดังนั้น พนักงานอัยการโจทก์จึงมีหน้าที่ต้องควบคุมตัวจำเลยซึ่งเป็นเยาวชนมาศาลขณะยื่นฟ้อง เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยถูกควบคุมตัวที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครราชสีมาแล้วมีการประกันตัวไป แต่ภายหลังสถานพินิจดังกล่าวไม่อาจส่งตัวจำเลยต่อศาลในวันฟ้องได้เนื่องจากจำเลยถูกจับกุมในอีกคดีหนึ่งที่จังหวัดลพบุรี กรณีจึงเป็นเรื่องระหว่างการควบคุมตัวจำเลยในชั้นสอบสวนโดยอยู่ในอำนาจของผู้อำนวยการสถานพินิจ ไม่เกี่ยวกับศาลประกอบกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2543 ที่แก้ไขใหม่ก็มิได้บัญญัติให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางเป็นผู้รับผิดชอบงานของสถานพินิจทั่วราชอาณาจักรดังที่บัญญัติไว้เดิมทั้งในปัจจุบันสถานพินิจทั่วราชอาณาจักรก็เป็นหน่วยงานที่แยกออกไปจากศาลแล้ว ดังนั้น ในชั้นควบคุมตัวจำเลยในสถานพินิจจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยอยู่ในความควบคุมของศาล ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่ประทับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณาจึงชอบแล้ว
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 57, 91 โดยขณะโจทก์ยื่นฟ้องอยู่ภายในกำหนดเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผัดฟ้องและอยู่ในระหว่างที่จำเลยซึ่งยังเป็นเยาวชนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครราชสีมาหลบหนี
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า โจทก์มีหน้าที่นำตัวจำเลยมาส่งศาลขณะที่ยื่นฟ้อง เมื่อโจทก์ไม่นำตัวจำเลยมาศาลในขณะยื่นฟ้อง จึงไม่ประทับฟ้องจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งขอให้ประทับรับฟ้อง
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า พนักงานอัยการโจทก์มีหน้าที่ต้องควบคุมตัวจำเลยซึ่งเป็นเยาวชนมาศาลขณะยื่นฟ้องหรือไม่ เห็นว่าตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 ไม่ได้บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้โดยเฉพาะ แต่ตามมาตรา 6 แห่งบทกฎหมายดังกล่าวบัญญัติให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับแก่คดีเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 165 ได้บัญญัติไว้ชัดเจนให้พนักงานอัยการโจทก์คุมตัวจำเลยมาศาลในวันฟ้อง โดยนำมาใช้บังคับแก่คดีเด็กหรือเยาวชนได้และไม่เป็นการขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวแต่อย่างใด ดังนั้น พนักงานอัยการโจทก์จึงมีหน้าที่ต้องควบคุมตัวจำเลย ซึ่งเป็นเยาวชนมาศาลขณะยื่นฟ้องสำหรับคดีนี้ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้ถูกควบคุมตัวที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครราชสีมาแล้วมีการประกันตัวไปภายหลังสถานพินิจดังกล่าวมิอาจส่งตัวจำเลยต่อศาลในวันฟ้องได้เนื่องจากนายประกันได้มาแจ้งว่าจำเลยถูกจับกุมอีกคดีหนึ่งในข้อหาเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอลำสนธิจังหวัดลพบุรีเห็นได้ว่ากรณีเป็นเรื่องระหว่างการควบคุมตัวจำเลยในชั้นสอบสวนโดยอยู่ในอำนาจของผู้อำนวยการสถานพินิจ ไม่เกี่ยวกับศาล ประกอบกับมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2543 ที่แก้ไขใหม่ก็มิได้บัญญัติให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางเป็นผู้รับผิดชอบงานของสถานพินิจทั่วราชอาณาจักรดังที่บัญญัติไว้เดิมทั้งในปัจจุบันสถานพินิจทั่วราชอาณาจักรก็เป็นหน่วยงานที่แยกออกไปจากศาลแล้ว ดังนั้น ในชั้นควบคุมตัวจำเลยในสถานพินิจจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยอยู่ในความควบคุมของศาลเมื่อได้ความว่าขณะพนักงานอัยการโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ไม่มีตัวจำเลยมาศาล ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่ประทับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณาจึงชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน