แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
แม้ในวันที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีแพ่งต่อศาลจังหวัดพิษณุโลก คดีของโจทก์จะยังถือว่าไม่ขาดอายุความเพราะอายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคสอง เนื่องจากโจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลแขวงพิษณุโลกเป็นคดีอาญาฐานยักยอกก็ตาม แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืนตามศาลแขวงพิษณุโลกให้ยกฟ้องและคดีถึงที่สุด คดีของโจทก์จึงต้องด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคสี่ ซึ่งอายุความในการฟ้องคดีแพ่งของโจทก์จะต้องเป็นไปตามบัญญัติเรื่องอายุความตาม ป.พ.พ. เมื่อนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองเป็นการซื้อขายสินค้า อายุความที่โจทก์เรียกร้องค่าสินค้าหรือส่งมอบสินค้าคืน จึงมีกำหนด 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) โจทก์ฟ้องคดีแพ่งต่อศาลจังหวัดพิษณุโลกในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2542 ซึ่งนับจากระหว่างวันที่ 10 พฤษภาคม 2539 ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2539 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จำเลยทั้งสองรับสินค้าไปจากโจทก์และครบกำหนดส่งสินค้าที่เหลือคืน เป็นเวลาเกินกว่า 2 ปีแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันนำสินค้าของโจทก์ไปขายโดยมีข้อตกลงว่าจำเลยทั้งสองจะนำสินค้าดังกล่าวไปขายให้แก่ลูกค้าของจำเลยทั้งสองตามราคาที่จำเลยทั้งสองเป็นผู้กำหนด แต่จำเลยทั้งสองจะต้องชำระเงินค่าสินค้าตามราคาดังกล่าวข้างต้นให้แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองขายสินค้าไม่ได้จำเลยทั้งสองจะต้องนำสินค้ามาคืนแก่โจทก์ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2539 หลังจากจำเลยทั้งสองรับสินค้าไปแล้วกลับเพิกเฉยไม่ชำระราคาสินค้าและไม่ส่งมอบสินค้าคืนแก่โจทก์ตามที่ตกลง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองส่งมอบแหวนเพชร สร้อยข้อมือทองคำฝังเพชร สร้อยคอเพชร กำไลทองคำฝังเพชร รวม 47 รายการดังกล่าวให้แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ร่วมกันใช้ราคาแทนเป็นเงิน 1,025,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2539 จนกว่าจะชำเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น คู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงของดสืบพยานบุคคลโดยขออ้างถ้อยคำพยานและเอกสารในสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 178/2540 ของศาลแขวงพิษณุโลกเป็นพยาน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,025,600 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยเมื่อคำนวณถึงวันฟ้อง (วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2542) ต้องไม่เกิน 198,710 บาท
จำเลยทั้งอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบสินค้าตามฟ้องคืนแก่โจทก์ หากส่งคืนไม่ได้จึงให้ชำระราคาพร้อมดอกเบี้ยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ และจำเลยทั้งสองมิได้รับสินค้าจากโจทก์ตามฟ้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อแรกที่ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าคดีอาญาใดได้ฟ้องต่อศาลแล้วแต่คดียังไม่เด็ดขาด อายุความซึ่งผู้เสียหายมีสิทธิจะฟ้องคดีแพ่งย่อมสะดุดหยุดลงตามมาตรา 79 แห่งกฎหมายลักษณะอาญา (ปัจจุบันคือมาตรา 95 แห่งประมวลกฎหมายอาญา) บทบัญญัติดังกล่าวหมายความว่าคดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาอายุความที่จะฟ้องคดีแพ่งของผู้เสียหายซึ่งหมายถึงโจทก์ในคดีนี้ยังไม่เริ่มนับ อายุความยังคงหยุดอยู่ตลอดไป คือจะฟ้องคดีเมื่อใดก็ได้ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา และวรรคสี่ของมาตราเดียวกันนี้บัญญัติว่า ถ้าโจทก์ได้ฟ้องคดีอาญาและศาลพิพากษายกฟ้องปล่อยจำเลยจนคดีขาดแล้วก่อนที่ได้ยื่นฟ้องคดีแพ่ง สิทธิของผู้เสียหายจะฟ้องคดีแพ่งย่อมมีอายุความตามหลักทั่วไปในเรื่องอายุความแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บทบัญญัติในวรรคนี้ หมายความว่า ในการฟ้องคดีอาญาตามที่บัญญัติไว้ในวรรคสองนั้น ถ้าศาลมีคำพิพากษายกฟ้องจนคดีเด็ดขาดซึ่งหมายถึงคดีถึงที่สุด สิทธิของผู้เสียหายหรือโจทก์ในคดีนี้จะฟ้องคดีแพ่งย่อมมีอายุความตามหลักทั่วไปในเรื่องอายุความแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งข้อเท็จจริงแห่งคดีได้ความว่าโจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลแขวงพิษณุโลกเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2539 ว่าจำเลยทั้งสองรับมอบสินค้าของโจทก์เพื่อนำไปจำหน่ายให้แก่บุคคลที่สามในนามของโจทก์แล้ว จำเลยทั้งสองยักยอกสินค้าดังกล่าวไป แต่ศาลแขวงพิษณุโลกพิพากษายกฟ้องโจทก์เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2541 โดยให้เหตุผลว่า กรณีของโจทก์และจำเลยทั้งสองเป็นการซื้อขายสินค้า จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานยักยอก รายละเอียดปรากฏตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 178/2540 ของศาลแขวงพิษณุโลก และศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลแขวงพิษณุโลกเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2543 ปรากฏตามคดีหมายเลขแดงที่ 1122/2543 ของศาลอุทธรณ์ภาค 6 แต่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ภาค 6 โจทก์ได้นำคดีนี้มาฟ้องจำเลยทั้งสองหรือมิฉะนั้นให้จำเลยทั้งสองใช้ราคาแทน เห็นว่า แม้ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2542 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีแพ่งต่อศาลจังหวัดพิษณุโลก คดีของโจทก์จะยังถือว่าไม่ขาดอายุความเพราะอายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 วรรคสอง ดังกล่าวก็ตาม แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืนตามศาลแขวงพิษณุโลกให้ยกฟ้องโจทก์และคดีถึงที่สุด คดีของโจทก์จึงต้องด้วยบทบัญญัติตามวรรคสี่แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 ซึ่งอายุความในการฟ้องคดีแพ่งของโจทก์จะต้องเป็นไปตามบทบัญญัติในเรื่องอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองเป็นการซื้อขายสินค้า ดังนั้น อายุความในการเรียกร้องค่าสินค้าของโจทก์จึงตกอยู่ในบังคับมาตรา 193/34 (1) ซึ่งบัญญัติไว้ว่า สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ ให้มีกำหนดอายุความ 2 ปี (1) ผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรม ผู้ประกอบหัตถกรรมผู้ประกอบศิลปะอุตสาหกรรม หรือช่างฝีมือ เรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ ค่าการงานที่ได้ทำ หรือค่าดูแลกิจการของผู้อื่น รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง กรณีของจำเลยทั้งสองเห็นได้ว่าเป็นการซื้อมาขายไป หาใช่เป็นการซื้อมาใช้เพื่อกิจการของจำเลยทั้งสองเองไม่ อายุความที่โจทก์จะเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระหรือส่งมอบสินค้าคืนย่อมมีกำหนด 2 ปี ดังกล่าวแล้ว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีแพ่งต่อศาลจังหวัดพิษณุโลกในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2542 ซึ่งนับจากระหว่างวันที่ 10 พฤษภาคม 2539 ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2539 ก็เป็นเวลาเกินกว่า 2 ปีแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความฟ้องร้อง เมื่อฟังได้ดังนี้ ฎีกาข้ออื่นของจำเลยทั้งสองจึงไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์