แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ผู้วายชนม์ทำพินัยกรรมไว้ แม้ผู้คัดค้านเป็นบุตรของผู้วายชนม์แต่ตามพินัยกรรมผู้คัดค้านไม่มีส่วนได้รับทรัพย์สินของผู้วายชนม์เลย จึงไม่สมควรตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกร่วมด้วย
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของพลตำรวจตรีสุวิทย์ โสตถิทัต ร่วมกัน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดก ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงที่ไม่มีข้อโต้แย้งในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า ผู้ร้องเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของพลตำรวจตรีสุวิทย์ ผู้วายชนม์ มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือเด็กชายสุภกิตต์ โสตถิทัต พลตำรวจตรีสุวิทย์ได้วายชนม์เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2524 ก่อนวายชนม์ได้ทำเอกสารพินัยกรรมไว้ตามเอกสารหมาย ร.5
ที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า เอกสารหมาย ร.5 ไม่มีข้อความกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินไว้ จึงไม่สมบูรณ์ที่จะใช้บังคับเป็นพินัยกรรมได้นั้น พิเคราะห์แล้ว เอกสารดังกล่าวผู้วายชนม์เขียนเองทั้งฉบับ ตอนบนระบุว่าพินัยกรรมของพันตำรวจเอกสุวิทย์ โสตถิทัต มีข้อความในเนื้อหาว่า เป็นพินัยกรรมที่ทำขึ้นใหม่ใช้แทนฉบับเดิม ต่อจากนั้นระบุรายการทรัพย์ที่มอบให้แก่ผู้รับ ตอนท้ายระบุว่าเป็นพินัยกรรมที่ผู้วายชนม์เขียนด้วยมือให้ใช้เป็นพินัยกรรมได้ ศาลฎีกาเห็นว่าข้อความดังกล่าวมานั้นแสดงให้เห็นความมุ่งหมายได้ชัดเจนว่า ผู้วายชนม์มีเจตนายกทรัพย์สินให้ผู้รับเมื่อตนวายชนม์ไปแล้ว เข้าลักษณะเป็นพินัยกรรมตามกฎหมาย ส่วนฎีกาของผู้คัดค้านที่ว่า ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรของผู้วายชนม์หรือไม่เป็นการไม่ชอบ ขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยให้ด้วยนั้น เห็นว่าคดีนีมีปัญหาในชั้นฎีกาแต่เพียงว่า สมควรตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้องหรือไม่เท่านั้น เมื่อปรากฏว่าผู้วายชนม์ทำพินัยกรรมไว้ตามเอกสารหมาย ร.5 แม้จะฟังว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรของผู้วายชนม์ แต่ตามพินัยกรรมนั้นผู้คัดค้านไม่มีส่วนได้รับทรัพย์สินของผู้วายชนม์เลย ดังนั้นย่อมไม่สมควรตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกร่วมด้วย รูปคดีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรผู้วายชนม์หรือไม่”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ