คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1002/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลแพ่งขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานและให้ใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ถูกจำเลยไล่ออกจากงานอันเป็นหนี้เกิดแต่มูลละเมิด ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยเรียกค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เงินที่โจทก์ฟ้องในคดีก่อนมิใช่เงินประเภทเดียวกับที่โจทก์ฟ้องในคดีนี้ คดีทั้งสองจึงมิได้มีประเด็นที่วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้ำ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๑๙ จำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้อำนวยการองค์การจำเลยที่ ๒ ได้มีคำสั่งพักงานโจทก์ และวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๑๙ จำเลยที่ ๑ในฐานะผู้อำนวยการองค์การจำเลยที่ ๒ ได้มีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงาน โดยกล่าวหาว่าโจทก์กระทำผิดวินัยเจ้าหน้าที่องค์การจำเลยที่ ๒ อย่างร้ายแรง ซึ่งเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบเพราะโจทก์ไม่มีความผิด โจทก์จึงได้ฟ้องจำเลยต่อศาลแพ่งขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๙๑๑๐/๒๕๒๐ หมายเลขแดงที่ ๑๑๙๘๔/๒๕๒๑ ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยว่าคำสั่งของจำเลยทั้งสองฉบับไม่ชอบด้วยกฎหมาย พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งทั้งสองฉบับ โจทก์ได้ขอเข้าทำงานตามเดิม จำเลยที่ ๑ ไม่ยอมรับจึงถือว่าจำเลยที่ ๑ เลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิดตั้งแต่วันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๑๙ โจทก์ชอบที่จะได้รับค่าชดเชย ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ๑๐,๔๔๐ บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๑,๗๔๐ บาท รวม ๑๒,๑๘๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ ๑ ได้มีคำสั่งพักงานและไล่โจทก์ออกจากงานจริง แต่โจทก์ได้นำคดีไปฟ้องที่ศาลแพ่ง ศาลฎีกาพิพากษาเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวแล้ว และยังพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์อีก ๑๕,๐๐๐ บาท มูลฐานที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นมูลเดียวกับที่โจทก์ฟ้องคดีแพ่งดังกล่าว คดีนั้นโจทก์มีสิทธิที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหาย ค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ารวมกันได้อยู่แล้ว แต่โจทก์ไม่ฟ้อง กลับมาฟ้องเรียกค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นคดีนี้ มูลฐานและประเด็นของคดีทั้งสองเป็นเหตุอย่างเดียวกัน เป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๘ ส่วนค่าชดเชยนั้นศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ๑๕,๐๐๐ บาท สูงกว่าค่าชดเชยที่โจทก์เรียกร้องในคดีนี้อยู่แล้ว โจทก์จึงไม่ชอบที่จะเรียกร้องอีก ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดพิจารณาโจทก์และจำเลยทั้งสองแถลงรับกันว่าโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองที่ศาลแพ่งตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๙๑๑๐/๒๕๒๐ หมายเลขแดงที่ ๑๑๙๘๔/๒๕๒๑ จริง เมื่อศาลฎีกาพิพากษาคดีดังกล่าว โจทก์ขอกลับเข้าทำงานแต่คณะกรรมการของจำเลยที่ ๒ ปฏิเสธ โจทก์และจำเลยทั้งสองขออ้างคดีของศาลแพ่งดังกล่าวและไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าฟ้องคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๘ ประกอบกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า คดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๙๑๑๐/๒๕๒๐ หมายเลขแดงที่ ๑๑๙๘๔/๒๕๒๑ ของศาลแพ่งนั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าคำสั่งพักงานโจทก์และไล่โจทก์ออกจากงานของจำเลยที่ ๑ เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในลักษณะละเมิด มิได้ดำเนินการตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ และขณะที่เกิดกรณีอันเป็นมูลเหตุแห่งคดีนี้ก็ยังไม่มีพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งมีมาตรา ๔๙ ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานตามเดิมได้ โจทก์จึงสมควรได้แต่ค่าเสียหาย เมื่อโจทก์เรียกเอาค่าเสียหายโดยคำนวณเป็นรายเดือนไปจนกว่าจำเลยจะรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิมซึ่งไม่อาจบังคับให้ได้ พิพากษาเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๑ ที่สั่งให้พักงานโจทก์และไล่โจทก์ออกจากงาน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ๑๕,๐๐๐ บาทส่วนคำขออื่นให้ยก เห็นว่าคดีดังกล่าวโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรับโจทก์กลับเข้าทำงาน และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ถูกจำเลยที่ ๑ ไล่ออกอันเป็นหนี้เกิดแต่มูลละเมิด ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามสิทธิของโจทก์ที่จะได้รับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๒ เงินที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องต่อศาลแพ่งมิใช่เงินประเภทเดียวกับที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องในคดีนี้ เงินค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้นไม่อาจฟ้องในคดีก่อนได้เพราะโจทก์ยังประสงค์ทำงานกับจำเลยทั้งสองอยู่ คดีทั้งสองจึงมิได้มีประเด็นที่จะวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาเฉพาะประเด็นว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมด้วยดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองได้หรือไม่เพียงใด แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share