คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8635/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การคุมประพฤติโดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ และให้จำเลยทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์เป็นเพียงวิธีการที่ศาลกำหนดเงื่อนไขประกอบการใช้ดุลพินิจรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยเท่านั้น ไม่ใช่โทษตามกฎหมาย แม้จำเลยจะปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวแล้ว ก็ไม่ถือว่าจำเลยได้รับโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
อาวุธปืนเป็นอาวุธร้ายแรงโดยสภาพสามารถใช้ยิงทำอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของผู้อื่นได้ ทั้งอาวุธปืนของกลางก็ไม่มีเครื่องหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับ หากมีการนำไปใช้ก่ออาชญากรรมย่อมยากแก่การตรวจสอบและติดตามตัวผู้กระทำความผิด ประกอบกับสภาพปัญหาของสังคมในปัจจุบันมีการใช้อาวุธปืนก่ออาชญากรรมจำนวนมากหลายรูปแบบนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น การที่จำเลยมีและพาอาวุธปืนพร้อมเครื่องกระสุนปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะ อาจเป็นอันตรายต่อประชาชนโดยทั่วไป นับว่าเป็นการกระทำที่ไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมาย พฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยจึงเป็นเรื่องร้ายแรง ที่จำเลยอ้างมาในฎีกาว่า จำเลยไม่เคยใช้อาวุธปืนข่มขู่ผู้ใด จำเลยไม่ได้นำอาวุธปืนของกลางไปทำร้ายผู้ใด จำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อนและกระทำความผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ยังไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 91, 371 และริบอาวุธปืนของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืน จำคุก 1 ปี และปรับ 6,000 บาท ฐานพาอาวุธปืน เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน และปรับ 6,000 บาท รวมจำคุก 1 ปี 6 เดือน และปรับ 12,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 9 เดือน และปรับ 6,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี คุมความประพฤติจำเลย 1 ปี โดยให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 เดือน ต่อครั้งภายใน 1 ปี กับให้ทำงานบริการสังคมเป็นเวลา 15 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบอาวุธปืนของกลาง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่รอการลงโทษ ไม่ปรับ และไม่คุมความประพฤติจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาข้อแรกเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติและได้ทำงานบริการสังคมเป็นเวลา 15 ชั่วโมง ครบถ้วนแล้ว จำเลยไม่ต้องรับโทษอีก การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่รอการลงโทษ ไม่ปรับ และไม่คุมประพฤติ ทำให้จำเลยถูกจำคุกเพิ่มขึ้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั้น เห็นว่า การคุมประพฤติโดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ และให้จำเลยทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์เป็นเพียงวิธีการที่ศาลกำหนดเงื่อนไขประกอบการใช้ดุลพินิจรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยเท่านั้น ไม่ใช่โทษตามกฎหมาย แม้จำเลยจะปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวแล้ว ก็ไม่ถือว่าจำเลยได้รับโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงชอบแล้ว ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาข้อต่อมาขอให้รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยนั้น เห็นว่า อาวุธปืนเป็นอาวุธร้ายแรงโดยสภาพสามารถใช้ยิงทำอันตรายแก่ชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของผู้อื่นได้ ทั้งอาวุธปืนของกลางก็ไม่มีเครื่องหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับ หากมีการนำไปใช้ก่ออาชญากรรมย่อมยากแก่การตรวจสอบและติดตามตัวผู้กระทำความผิด ประกอบกับสภาพปัญหาของสังคมในปัจจุบันมีการใช้อาวุธปืนก่ออาชญากรรมจำนวนมากหลายรูปแบบและนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น การที่จำเลยมีและพาอาวุธปืนพร้อมเครื่องกระสุนปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะ อาจเป็นอันตรายต่อประชาชนโดยทั่วไป นับว่าเป็นการกระทำที่ไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมาย พฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยจึงเป็นเรื่องร้ายแรง ที่จำเลยอ้างมาในฎีกาว่า จำเลยไม่เคยใช้อาวุธปืนข่มขู่ผู้ใดจำเลยไม่ได้นำอาวุธปืนของกลางไปทำร้ายผู้ใด จำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อนและกระทำความผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ยังไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share