คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7092/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การนำรายชื่อคณะกรรมการที่ได้รับเลือกตั้งใหม่ไปขอจดทะเบียนนั้นพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 93 ไม่ได้กำหนดขั้นตอนไว้ดังมาตรา 91 และ 107 ทั้งไม่มีมาตราใดกำหนดขั้นตอนไว้ให้ผู้ยื่นคำขออุทธรณ์คำสั่งไม่รับจดทะเบียนต่อรัฐมนตรีได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งไม่รับจดทะเบียนดังกล่าวต่อรัฐมนตรีและรัฐมนตรีไม่มีหน้าที่ต้องสั่งอุทธรณ์ของโจทก์ การที่จำเลยที่ 1 ไม่สั่งอุทธรณ์ของโจทก์ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า สภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทยโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารได้จัดประชุมใหญ่วิสามัญขึ้นเมื่อวันที่ 12ตุลาคม 2540 เพื่อพิจารณาการบริหารงานของคณะกรรมการบริหารและลงมติไม่ไว้วางใจ แต่การประชุมในวันดังกล่าวยังไม่เสร็จสิ้น สมาชิกที่เข้าประชุมทุกคน จึงลงมติให้เลื่อนไปประชุมต่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2540 และสมาชิกที่เข้าประชุมในวันที่ 9พฤศจิกายน 2540 มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คณะกรรมการบริหารพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะกับลงมติให้เลือกตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ในวันดังกล่าว โจทก์ได้รับเลือกให้เป็นประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทยร่วมกับคณะกรรมการอื่นอีกรวม 39 คน ต่อมาโจทก์นำรายชื่อคณะกรรมการบริหารที่ได้รับเลือกตั้งใหม่ทั้งหมดไปจดทะเบียนต่อจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 2 ไม่รับจดทะเบียนโดยอ้างว่าข้อบังคับของสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทยระบุให้คณะกรรมการบริหารสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทยเท่านั้นเป็นผู้กำหนดวันประชุมใหญ่วิสามัญ และคณะกรรมการบริหารสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทยได้ประชุมกันลงมติให้เลื่อนการประชุมใหญ่วิสามัญไปในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2540 การประชุมใหญ่วิสามัญเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2540 ไม่เป็นการประชุมใหญ่วิสามัญตามข้อบังคับโจทก์ได้รับเลือกเป็นประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทยจึงไม่สมบูรณ์ โจทก์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อจำเลยที่ 1 เพื่อให้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งจำเลยที่ 2และรับจดทะเบียนคณะกรรมการบริหารชุดใหม่แต่จำเลยที่ 1 ยังไม่มีคำสั่งอุทธรณ์ของโจทก์จนเวลาล่วงเลยมานานโจทก์จึงนำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งสอง ขอให้จำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 เพิกถอนคำสั่งที่ไม่รับจดทะเบียนและให้จำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 รับจดทะเบียนคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ หากจำเลยทั้งสองไม่รับจดทะเบียนให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา

ศาลแรงงานกลางตรวจคำฟ้องแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งจำเลยที่ 2 และให้จำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 หรือร่วมกันรับจดทะเบียนนั้น คำสั่งที่ขอให้เพิกถอนไม่ใช่คำสั่งจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่รับจดทะเบียน จึงไม่อาจบังคับจำเลยที่ 1 ให้มีคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้ มีคำสั่งรับคำฟ้องจำเลยที่ 2 แต่ไม่รับฟ้องโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์อุทธรณ์คำสั่งจำเลยที่ 2 ต่อจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ต้องวินิจฉัยอุทธรณ์และแจ้งให้โจทก์ทราบภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสืออุทธรณ์ แต่จำเลยที่ 1 ไม่วินิจฉัยและแจ้งให้โจทก์ทราบภายในกำหนดดังกล่าวตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 91, 93, 106 และ 107 ประกอบมาตรา 120 วรรคสาม โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ด้วยนั้น เห็นว่ามาตรา 91 เป็นกรณีที่นายทะเบียนเห็นว่าคำขอจดทะเบียนสหภาพแรงงานและร่างข้อบังคับเมื่อแรกจัดตั้งสหภาพแรงงานไม่ถูกต้องให้นายทะเบียนมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนและให้สิทธิผู้ขอจดทะเบียนอุทธรณ์คำสั่งต่อรัฐมนตรีได้ มาตรา 106 เป็นกรณีนายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้กรรมการผู้ใดผู้หนึ่งหรือคณะกรรมการของสหภาพแรงงานออกจากตำแหน่ง และมาตรา 107 ให้สิทธิกรรมการผู้นั้นหรือคณะกรรมการอุทธรณ์คำสั่งต่อรัฐมนตรีได้ ซึ่งกรณีตามมาตรา 91, 106 และ 107 ไม่ใช่การนำรายชื่อคณะกรรมการไปขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียน ส่วนมาตรา 93 แม้จะเป็นกรณีนำรายชื่อคณะกรรมการไปขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียน แต่เป็นรายชื่อคณะกรรมการที่ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่สามัญครั้งแรกหลังจากจดทะเบียนสหภาพแรงงาน แต่กรณีนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการซึ่งพ้นตำแหน่งไปตามข้อบังคับ และเป็นการนำรายชื่อคณะกรรมการที่ได้รับเลือกตั้งใหม่ไปขอจดทะเบียน แต่การขอจดทะเบียนรายชื่อคณะกรรมการทั้งสองกรณีดังกล่าว มาตรา 93 ไม่ได้กำหนดขั้นตอนไว้ดังเช่นที่กำหนดไว้ตามมาตรา 91 และ 107ทั้งไม่มีมาตราใดกำหนดขั้นตอนไว้ให้ผู้ยื่นคำขออุทธรณ์คำสั่งไม่รับจดทะเบียนต่อรัฐมนตรีได้ กรณีตามฟ้องโจทก์จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งไม่รับจดทะเบียนต่อรัฐมนตรีและรัฐมนตรีไม่มีหน้าที่ต้องสั่งอุทธรณ์ของโจทก์เช่นเดียวกัน การที่จำเลยที่ 1 ไม่สั่งอุทธรณ์ของโจทก์ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องโจทก์เฉพาะที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ชอบแล้ว อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share