คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7010/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 3 ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า “ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด” ว่า หมายความว่าการผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติด และให้หมายความรวมถึงการสมคบ สนับสนุน ช่วยเหลือ หรือพยายามกระทำความผิดดังกล่าวด้วย เมื่อคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ถึงที่สุดโดยศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษา ยกฟ้อง และคดีสำหรับจำเลยที่ 4 ถึงที่สุดโดยศาลชั้นต้น พิพากษาลงโทษในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองมิได้มีไว้ในครอบครองเพื่อขายซึ่งมิได้อยู่ในความหมายของ ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามมาตรา 3 เงินสดของกลางจำนวน 516,260 บาท จึงไม่อยู่ในบังคับตามมาตรา 30,31ที่จะพึงรับได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งห้าข้อหาร่วมกันมีเฮโรอีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ข้อหาร่วมกันผลิตและมีเมทแอมเฟตามีน อันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ปริมาณเกินกว่าที่รัฐมนตรีกำหนดไว้ในครอบครองเพื่อขายโดยไม่รับอนุญาตและจำเลยที่ 4 ข้อหามีเมทแอมเฟตามีน อันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 จำนวน 1 เม็ด ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตในคดีดังกล่าวเจ้าพนักงานยึดได้เงินสดจำนวน 516,260 บาทที่จำเลยที่ 4 มีไว้ในครอบครองเป็นของกลาง ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 4 มีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ลงโทษจำคุก 1 ปี ส่วนข้อหาอื่นให้ยกและให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5
ในระหว่างศาลชั้นต้นพิจารณาคดีดังกล่าว โจทก์ยื่นคำร้องว่าจำเลยที่ 4 และที่ 5 ร่วมกันใช้เงินสดจำนวน 516,260 บาท ของกลางเพื่อชำระราคาค่าเฮโรอีนเงินสดดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิด ขอให้ริบเงินสดจำนวน 516,260 บาทให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534มาตรา 30, 31
จำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องคัดค้านว่า ในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 4ได้นำเงินสดจำนวน 516,260 บาท ติดตัวไปเพื่อซื้อพลอยดิบและหยกที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เมื่อจำเลยที่ 4 และที่ 5เดินทางมาถึงที่เกิดเหตุก็ถูกเจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นและจับกุมดำเนินคดี ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 4 และที่ 5ในข้อหาความผิดฐานร่วมกันมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโจทก์มิได้อุทธรณ์ในส่วนของจำเลยที่ 4 และที่ 5 คดีสำหรับจำเลยที่ 4 และที่ 5 จึงถึงที่สุดแล้ว เงินสดของกลางจึงไม่เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดแต่อย่างใดขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้ริบเงินสดจำนวน 516,260 บาทให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 30 และ มาตรา 31
จำเลยที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4 ว่าเงินของกลางจำนวน 516,260 บาทเป็นทรัพย์สินที่จะพึงริบตามมาตรา 30, 31 แห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดพ.ศ. 2534 หรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4797/2539 ของศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษนั้น ศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ทุกข้อหาความผิด ส่วนจำเลยที่ 4 ผู้คัดค้านนั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตเท่านั้นและคดีสำหรับจำเลยที่ 4และที่ 5 ถึงที่สุดโดยโจทก์มิได้อุทธรณ์ ส่วนคดีสำหรับจำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 3 ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องเช่นเดียวกันและคดีถึงที่สุดแล้ว โดยที่ศาลอุทธรณ์มิได้สั่งริบเงินสดของกลางจำนวน 516,260 บาท เห็นว่า เมื่อมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องคดียาเสพติดที่เป็นคดีหลักที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษแล้วข้อเท็จจริงแห่งคดีจึงฟังไม่ได้ว่าได้มีการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในคดีดังกล่าว ซึ่งตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 3ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า “ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด”ว่าหมายความว่า การผลิตนำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติด และให้หมายความรวมถึงการสมคบ สนับสนุนช่วยเหลือ หรือพยายามกระทำความผิดดังกล่าวด้วยแต่เมื่อคดีสำหรับจำเลยที่ 4 ถึงที่สุดโดยศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 4 ในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองมิได้มีไว้ในครอบครองเพื่อขายจึงมิได้อยู่ในความหมายของความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดพ.ศ. 2534 และเงินสดของกลางจำนวน 516,260 บาท ก็ไม่อยู่ในบังคับตามมาตรา 30, 31 ที่จะพึงริบได้เช่นกัน ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งให้ริบเงินสดของกลางดังกล่าวให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาของจำเลยที่ 4 ฟังขึ้น คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นอีกต่อไป”
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้อง และคืนเงินสดของกลางจำนวน516,260 บาท ให้แก่จำเลยที่ 4

Share