แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีมิใช่สัญญากู้ยืมเงิน แต่เป็นสัญญาชนิดหนึ่งที่กฎหมายมิได้บัญญัติให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้เบิกเงินเกินบัญชีมาแสดงจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้ฉะนั้น แม้สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจะมิได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้กู้หรือผู้ให้กู้ก็บังคับกันได้ เมื่อปรากฏว่าจำเลยผู้กู้ตกลงที่จะชำระหนี้เป็นการหักทอนกันทางบัญชีกับโจทก์ผู้ให้กู้ และโจทก์ยอมให้จำเลยเดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์ตั้งแต่วันทำสัญญาและแม้ภายหลังวันครบอายุสัญญาก็ยังมีการเดินสะพัดทางบัญชี และมีการตัดทอนบัญชีหนี้ระหว่างโจทก์จำเลยหักกลบลบกันเรื่อยมาตามบัญชีกระแสรายวันซึ่งเป็นการปฏิบัติต่อกันตามประเพณีของธนาคารอันมีลักษณะเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 856 โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ตามมาตรา 655 วรรคสอง เมื่อมีการเดินสะพัดทางบัญชีหลังจากสัญญาสิ้นสุด ก็ต้องถือว่าโจทก์จำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญามีเจตนาทำสัญญาบัญชีเดินสะพัดกันต่อไปโดยไม่มีกำหนดเวลาและโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นต่อไปได้จนกว่าจะมีการบอกเลิกสัญญาต่อกัน.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ทำสัญญาบัญชีเดินสะพัด โดยเปิดบัญชีกระแสรายวันเลขที่ 4964 ไว้กับโจทก์ ต่อมาจำเลยได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกิดบัญชี เพื่อเบิกเงินเกินบัญชีในบัญชีกระแสรายวันดังกล่าว เป็นเงิน 500,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี กำหนดชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือนทุกวันที่สิ้นสุดของเดือนหากไม่ชำระยอมให้โจทก์ทบดอกเบี้ยที่ค้างชำระเข้ากับต้นเงินเป็นคราว ๆ ไปตามประเพณีการคิดดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ กำหนดชำระต้นเงินและดอกเบี้ยแก่โจทก์ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 27 ตุลาคม 2527นับแต่จำเลยได้ทำสัญญาบัญชีเดินสะพัดและ ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์แล้ว จำเลยได้เดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์เรื่อยมา โดยออกเช็คสั่งจ่ายเบิกเงินไปจากโจทก์ และนำเงินฝากเข้าบัญชีหลายครั้งครั้งใดยอดเงินในบัญชีกระแสรายวันของจำเลยเป็นลูกหนี้โจทก์ โจทก์ก็คิดดอกเบี้ยเอากับจำเลยตามสัญญาตลอดมา จนกระทั่งครบกำหนดชำระหนี้แล้ว จำเลยผิดนัดผิดสัญญาไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์มอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้ชำระหนี้และแจ้งบังคับจำนองไปยังจำเลย โดยให้เวลาพอสมควรแล้ว แต่จำเลยไม่ชำระหนี้ยอดหนี้ค้างชำระเพียงวันที่ 26 ตุลาคม 2529 เป็นเงิน 719,416.07 บาท ขอให้จำเลยชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองแก่โจทก์เป็นเงิน 719,416.07 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จ
จำเลยให้การว่า เอกสารท้ายฟ้องโจทก์หมายเลข 4 ไม่ใช่สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีตามกฎหมาย เป็นเพียงการแสดงเจตนาฝ่ายเดียวของจำเลย ซึ่งใช้เป็นหลักฐานในการกู้เงินได้เท่านั้น ดังนั้นโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้น โจทก์คิดดอกเบี้ยซ้ำซ้อนไม่ตรงตามความเป็นจริง กล่าวคือ คิดดอกเบี้ยทบต้นแล้วยังนำมาคำนวณเป็นดอกเบี้ยอีกครั้งหนึ่ง และอัตราดอกเบี้ยไม่ขึ้นลงตามประกาศของกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งระบุไว้ในแต่ละปีขอให้พิพากษายกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 709,886.09 บาทแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยทบต้นอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 30 กันยายน 2529 จนถึงวันที่ 10 ตุลาคม 2529ต่อจากนั้นให้คิดดอกเบี้ยอัตราเดียวกันไม่ทบต้นในต้นเงินของวันที่10 ตุลาคม 2529 จนกว่าจำเลยจะชำระหนี้แก่โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงยุติตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาว่า จำเลยได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีตามเอกสารหมาย จ.4จากนั้นจำเลยได้เดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์เรื่อยมาตามบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.9 โดยจำเลยนำเงินเข้าบัญชีจะเขียนใบนำฝาก และหากถอนเงินจะเขียนเช็คสั่งจ่าย แล้วหักทอนบัญชีกันคดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในข้อแรกว่า สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีตามเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งมีลายมือชื่อของจำเลยผู้กู้เพียงฝ่ายเดียว ใช้บังคับได้หรือไม่ และโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด การทำสัญญาจึงต้องมีการแสดงเจตนาโดยโจทก์และจำเลยทั้งสองฝ่าย โดยโจทก์ต้องแสดงเจตนาตอบรับยินยอมให้กู้โดยลงลายมือชื่อในฐานะผู้ให้กู้ในสัญญาด้วยจึงจะมีผลสมบูรณ์ เห็นว่าสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีมิใช่สัญญากู้ยืมเงิน แต่เป็นสัญญาชนิดหนึ่งที่กฎหมายมิได้บัญญัติให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้เบิกเงินเกินบัญชีมาแสดงจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้ ฉะนั้นแม้สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจะมิได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้กู้หรือผู้ให้กู้ก็บังคับกันได้ เมื่อปรากฏตามเอกสารหมาย จ.4 ว่าจำเลยตกลงที่จะชำระหนี้เป็นการหักทอนกันทางบัญชีกับโจทก์ผู้ให้กู้และโจทก์ยอมให้จำเลยเดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์ตั้งแต่วันทำสัญญาและแม้ภายหลังวันที่ 27 ตุลาคม 2527 ซึ่งเป็นวันครบอายุสัญญาตามเอกสารหมาย จ.4 ก็ยังมีการเดินสะพัดทางบัญชีและมีการตัดทอนบัญชีหนี้ระหว่างโจทก์จำเลยหักกลบลบกันเรื่อยมา ตามบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.9 ซึ่งเป็นการปฏิบัติต่อกันตามประเพณีของธนาคารอันมีลักษณะเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 856 โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 655 วรรคสอง ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยฎีกาในข้อต่อมาว่า จะต้องหักทอนบัญชีกันในวันที่สัญญาสิ้นสุด และคิดดอกเบี้ยทบต้นอีกไม่ได้นั้น เห็นว่า เมื่อมีการเดินสะพัดทางบัญชีหลังจากสัญญาสิ้นสุด ก็ต้องถือว่าโจทก์จำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญามีเจตนาทำสัญญาบัญชีเดินสะพัดกันต่อไปโดยไม่มีกำหนดเวลา และคิดดอกเบี้ยทบต้นต่อไปได้จนกว่าจะมีการบอกเลิกสัญญาต่อกันโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นหลังจากวันที่ครบกำหนดอายุสัญญาต่อไปจนถึงวันที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน.