คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 273/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 34 วรรคท้าย ที่กำหนดหลักเกณฑ์ของการปิดงานว่านายจ้างต้องแจ้งเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่ง คือลูกจ้างทราบล่วงหน้าอย่างน้อยยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่รับแจ้งนั้น มิได้หมายความว่านายจ้างต้องแจ้งการปิดงานแก่ลูกจ้างผู้แจ้งข้อเรียกร้องเป็นรายตัว การที่นายจ้างแจ้งการปิดงานต่อผู้แทนลูกจ้างเพียงคนเดียว ย่อมถือได้ว่านายจ้างได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 34 วรรคท้ายแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ต่อมาลูกจ้างรายวันของจำเลยได้ตั้งผู้แทนยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลย จนกระทั่งพนักงานประนอมข้อพิพาทไกล่เกลี่ยแล้วไม่สามารถตกลงกันได้ จำเลยจึงมีคำสั่งปิดงานโจทก์เห็นว่าคำสั่งปิดงานของจำเลยฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 34 วรรคท้าย เพราะจำเลยแจ้งให้ลูกจ้างทราบเมื่อวันที่ 26กันยายน 2524 เวลา 23.30 นาฬิกา มีผลเฉพาะลูกจ้างที่ทำงานในกะ 15.30 นาฬิกาถึง 23.30 นาฬิกาของวันที่ 26 กันยายน 2524 คือโจทก์ที่ 5ส่วนโจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 3 ทำงานในวันที่ 26 กันยายน 2524 ตั้งแต่ 7.30 นาฬิกาถึง 11.30 นาฬิกาและโจทก์ที่ 4 ทำงานตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2524 ตั้งแต่เวลา7.30 นาฬิกา ถึง 15.30 นาฬิกา จึงไม่มีผลบังคับแก่โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 4 สำหรับโจทก์ที่ 5 นั้น แม้จำเลยแจ้งให้ทราบล่วงหน้าก่อน 24 ชั่วโมงก็ตามแต่การปิดงานต้องปิดทั้งโรงงานและไม่มีการจ้างบุคคลภายนอกมาทำงานระหว่างปิดงาน แต่จำเลยมิได้ปฏิบัติเช่นนั้น คำสั่งปิดงานของจำเลยจึงไม่มีผลแก่โจทก์ที่ 5 เช่นกัน ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายในระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2524 ถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2524 แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน20,979 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 13,119 บาท โจทก์ที่ 3 จำนวน 12,819 บาท โจทก์ที่ 4 จำนวน 8,319 บาท โจทก์ที่ 5 จำนวน 7,569 บาท และขอให้ศาลมีคำสั่งให้คำพิพากษามีผลผูกพันลูกจ้างของจำเลยและจำเลยด้วย

จำเลยให้การว่า จำเลยปิดงานโดยแจ้งต่อพนักงานประนอมข้อพิพาทผู้แทนลูกจ้างและลูกจ้างรวมทั้งโจทก์โดยถูกต้องแล้วเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2524 ระหว่างปิดงานจำเลยมิได้ดำเนินกิจการโรงงานหรือจ้างบุคคลภายนอกเข้ามาทำงานแต่อย่างใดคำสั่งปิดงานของจำเลยเป็นการชอบด้วยกฎหมายและมีผลใช้บังคับ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลย อย่างไรก็ดีหากศาลจะฟังว่าคำสั่งปิดงานของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ก็ไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายเพราะโจทก์มิได้เสียหายจริงตามฟ้อง และค่าเสียหายของโจทก์อย่างมากไม่เกินจำนวนค่าจ้างเฉพาะส่วนที่เป็นเงินเดือนแต่ละคน คิดคำนวณเป็นรายวันตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ถึงวันที่ 27 ตุลาคม 25254 อันเป็นวันที่จำเลยและผู้แทนลูกจ้างตกลงกันได้ตามข้อเรียกร้อง ทั้งโจทก์ไม่มีอำนาจขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระเงินใด ๆ ให้แก่บุคคลอื่นซึ่งมิได้เป็นคู่ความในคดีขอให้ยกฟ้อง

วันนัดพิจารณาโจทก์จำเลยแถลงรับกันว่า จำเลยมีลูกจ้างทั้งหมด 500 คนแบ่งเป็น 2 ประเภท คือพนักงานในสำนักงานและพนักงานในโรงงาน พนักงานในสำนักงานทำงานกะเดียวตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลา 7.30 นาฬิกาถึง16.30 นาฬิกา วันเสาร์ตั้งแต่ 7.30 นาฬิกา ถึง 11.30 นาฬิกา พนักงานในโรงงานแบ่งงานเป็น 3 กะ กะแรกตั้งแต่เวลา 23.30 นาฬิกา ถึง 7.30 นาฬิกา กะที่ 2ตั้งแต่ 7.30 นาฬิกา ถึง 15.30 นาฬิกา กะที่ 3 ตั้งแต่เวลา 15.30 นาฬิกา ถึง23.30 นาฬิกา โดยเริ่มทำงานตั้งแต่คืนวันอาทิตย์ของทุกสัปดาห์ เมื่อวันที่ 14กันยายน 2524 ผู้แทนลูกจ้างได้ยื่นข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสภาพการจ้างต่อจำเลยลูกจ้างและจำเลยตั้งผู้แทนไปทำการเจรจา ฝ่ายละ 7 คน เป็นผู้แทนลูกจ้างทำการเจรจากันในวันที่ 17 และ 18 กันยายน 2524 แต่ตกลงกันไม่ได้ ต่อมาวันที่ 22, 23 และ 24 กันยายน 2524 พนักงานประนอมข้อพิพาทได้ไกล่เกลี่ยแต่ตกลงกันไม่ได้ภายใน 5 วัน ในวันที่ 26 กันยายน 2524 เวลา 22 นาฬิกาจำเลยมีหนังสือแจ้งไปยังพนักงานประนอมข้อพิพาทว่าจำเลยจะปิดงานและในวันเดียวกันเวลาประมาณ 23.30 นาฬิกา หลังจากพนักงานกะที่ 3เลิกงานแล้ว จำเลยได้มีหนังสือแจ้งการปิดงานให้พนักงานที่ทำงานในกะดังกล่าวทราบ โจทก์ที่ 5 ก็ได้รับแจ้งด้วย สำหรับพนักงานอื่นจำเลยปิดประกาศไว้ให้ทราบที่หน้าโรงงานในคืนนั้นเช่นกัน ในวันที่ 26 กันยายน 2524 โจทก์ที่ 1ถึงโจทก์ที่ 3 ทำงานตั้งแต่ 7.30 นาฬิกา ถึง 11.30 นาฬิกา โจทก์ที่ 4 ทำงานตั้งแต่ 7.30 นาฬิกา ถึง 15.30 นาฬิกา และกลับไปแล้ว รุ่งขึ้นวันที่ 27กันยายน 2524 เป็นวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันหยุดประจำสัปดาห์ของพนักงานทุกคนจำเลยรับด้วยว่าไม่ได้แจ้งเป็นหนังสือว่าจะปิดงานให้โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 4โดยตรง ต่อมาผู้แทนทั้งสองฝ่ายได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง สำหรับค่าเสียหายโจทก์เรียกร้องเท่ากับค่าจ้างและค่าครองชีพที่มีสิทธิได้รับตามปกติโจทก์จำเลยไม่สืบพยาน

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยได้แจ้งการปิดงานให้แก่ลูกจ้างโดยแจกหนังสือให้แก่ลูกจ้างในกะที่ 3 ซึ่งมีนางสาววิเชียรผู้แทนลูกจ้างรวมอยู่ด้วยและจำเลยยังได้ปิดประกาศแจ้งให้ลูกจ้างอื่นทราบที่หน้าโรงงานแล้วฟังได้ว่าจำเลยแจ้งการปิดงานเป็นหนังสือให้ฝ่ายลูกจ้างทราบแล้ว และมีผลถึงลูกจ้างทุกคนรวมทั้งโจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 4 ด้วย เมื่อฟังว่าจำเลยปิดงานโดยชอบแล้วโจทก์ย่อมไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างระหว่างปิดงาน จึงไม่สิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 ได้บัญญัติถึงวิธีการเจรจาทำความตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไว้โดยให้ทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างตั้งผู้แทนเข้าร่วมเจรจาทำความตกลงกัน หาใช่ลูกจ้างผู้แจ้งข้อเรียกร้องเข้าร่วมเจรจาด้วยทุกคนไม่ และการเจรจาผลของการเจรจาที่ผู้แทนลูกจ้างได้กระทำลงย่อมมีผลผูกพันเสมือนลูกจ้างผู้แจ้งขอเรียกร้องได้กระทำเอง รวมทั้งการรับแจ้งหรือรับข้อเสนอจากผู้แทนนายจ้างด้วย ทั้งนี้ตลอดเวลาที่เริ่มเป็นผู้แทน คือนับตั้งแต่วันที่ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนจึงถึงวันที่ได้มีการเลือกตั้งผู้แทนลูกจ้างใหม่ หรือวันที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างสิ้นสุดลง (กระทรวงฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2518) ออกตามความในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ข้อ 9) กรณีนี้ขณะจำเลยแจ้งการปิดงานข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างยังไม่สิ้นสุดลงเนื่องจากยังตกลงกันไม่ได้และตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 34 วรรคท้ายบัญญัติถึงการปิดงานว่า นายจ้างต้องแจ้งเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งคือฝ่ายลูกจ้างทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่รับแจ้ง มิได้กำหนดให้แจ้งแก่ลูกจ้างผู้แจ้งข้อเรียกร้องเป็นรายตัวเพราะใช้คำว่า “ฝ่าย” ดังนี้ การที่จำเลยแจ้งเป็นหนังสือให้โจทก์ที่ 5 ซึ่งเป็นผู้แทนลูกจ้างทราบแล้ว ถือได้ว่าเป็นการแจ้งให้ฝ่ายลูกจ้างทราบตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ดังกล่าวและมีผลผูกพันลูกจ้างผู้แจ้งข้อเรียกร้องทุกคนรวมทั้งโจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 4ซึ่งเลิกงานไปก่อนจำเลยแจ้งพนักงานและมิได้แจ้งเป็นหนังสือให้โจทก์ทั้งสี่ทราบเป็นรายตัวด้วย

พิพากษายืน

Share