คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7667/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จ่าสิบตำรวจ ม. และจำเลยที่ 1 ต่างเป็นบุตรเขยของผู้ตาย การที่จ่าสิบตำรวจ ม. มีส่วนเกี่ยวข้องช่วยสืบสวนหาตัวคนร้ายจึงเป็นเรื่องปรกติและสมควร พฤติกรรมของจำเลยที่ 1 ที่ถูกสงสัยหรือถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการฆ่าผู้ตายเป็นเรื่องร้ายแรง หากจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำความผิดก็ต้องยืนยันปฏิเสธไว้จะยอมรับสารภาพไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการพูดกับจ่าสิบตำรวจ ม. หรือบุคคลใดก็ตาม ทั้งการยอมรับสารภาพโดยคิดว่าจ่าสิบตำรวจ ม. จะช่วยเหลือพาหลบหนีได้ ย่อมแสดงอยู่ในตัวว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำความผิด ดังนั้น การที่จ่าสิบตำรวจ ม. สืบทราบว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ร่วมกระทำความผิดและแจ้งต่อพนักงานสอบสวนจึงเป็นการช่วยเหลือพนักงานสอบสวนสืบสวนหาข้อเท็จจริงเพื่อจับกุมดำเนินคดีกับคนร้าย จึงถือไม่ได้ว่าพนักงานสอบสวนใช้อุบายหลอกลวงให้จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ การสอบสวนคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

คดีนี้เดิมศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2498/2546 ของศาลชั้นต้น โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่าโจทก์เรียกจำเลยทั้งสามในคดีดังกล่าวว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 และเรียกจำเลยสำนวนนี้ว่า จำเลยที่ 4 แต่ระหว่างพิจารราคดีจำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 และคดีสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289, 288, 84, 83
จำเลยที่ 4 ให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานางกันดา ท่าดี บุตรผู้ตายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4), 84 ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน (ที่ถูกต้อง จำเลยที่ 4 มีความผิดฐานร่วมกันเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน) ลงโทษประหารชีวิต
จำเลยที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาคดีในส่วนของจำเลยที่ 4 ยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 4
จำเลยที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2544 เวลาประมาณ 10 นาฬิกา นางทองคำ พลอยเพ็ชร ถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงถึงแก่ความตายภายในโรงงานผลิตอุปกรณ์สนามเด็กเล่นและเครื่องมือการเกษตรของผู้ตาย กระสุนปืนถูกผู้ตายที่ศีรษะด้านหลังทะลุออกปากผู้ตายถึงแก่ความตายทันทีในที่เกิดเหตุ ต่อมาวันที่ 22 มกราคม 2544 เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และวันที่ 22 สิงหาคม 2544 จับกุมจำเลยที่ 4 ได้ ระหว่างพิจารณาคดีจำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ในผลตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 4 มีความผิดฐานร่วมกันเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จำเลยที่ 3 มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ฎีกา ข้อเท็จจริงสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงยุติฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 กระทำความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษา คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4 ประการแรกว่า การสอบสวนคดีนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยที่ 4 ฎีกาว่า พนักงานสอบสวนร่วมกับบุคคลภายนอกคือจ่าสิบตำรวจมงคล วรศรี ใช้อุบายหลอกลวงให้จำเลยที่ 1 ยินยอมให้ทำบันทึกการสอบสวนไม่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริงโดยทำกลอุบายว่า จ่าสิบตำรวจมงคงมีส่วนเกี่ยวข้องและถูกจับกุมเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 ในระหว่างถูกควบคุมรอการสอบสวน จำเลยที่ 1 ถูกจ่าสิบตำรวจมงคลและพนักงานสอบสวนพูดจาหว่านล้อม หลอกลวงให้เชื่อว่า จ่าสิบตำรวจมงคลเป็นผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนในการฆ่าผู้ตาย จำเลยที่ 1 จึงยอมให้การรับสารภาพต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่าเป็นผู้จ้างฆ่าผู้ตายเอง โดยจ่าสิบตำรวจมงคลไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและมีการทำคำให้การบิดเบือนความเป็นจริงพาดพิงให้ร้ายมายังจำเลยที่ 4 ว่า จำเลยที่ 4 เกี่ยวข้องเป็นผู้ครอบครองรถจักรยานยนต์ของกลาง การสอบสวนจึงไม่ชอบ เห็นว่า จ่าสิบตำรวจมงคลเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและเป็นบุตรเขยของผู้ตาย การที่จ่าสิบตำรวจมงคลมีส่วนเกี่ยวข้องช่วยสืบสวนหาตัวคนร้ายจึงเป็นเรื่องปรกติและสมควร และตามข้อเท็จจริงขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 อายุ 38 ปี เป็นบุตรเขยผู้ตายเช่นกัน พฤติกรรมของจำเลยที่ 1 ที่ถูกสงสัยหรือถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการฆ่าผู้ตายเป็นเรื่องร้ายแรง หากจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำความผิดก็ต้องยืนยันปฏิเสธไว้จะยอมรับสารภาพไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการพูดกับจ่าสิบตำรวจมงคลหรือบุคคลใดก็ตาม ทั้งการยอมรับสารภาพโดยคิดว่าจ่าสิบตำรวจมงคลจะช่วยเหลือพาหลบหนีได้ย่อมแสดงอยู่ในตัวว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำความผิด ดังนั้นการที่จ่าสิบตำรวจมงคลสืบทราบว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ร่วมกระทำความผิดและแจ้งต่อพนักงานสอบสวนจึงเป็นการช่วยเหลือพนักงานสอบสวนสืบสวนหาข้อเท็จจริงเพื่อจับกุมดำเนินคดีกับคนร้าย ฟังไม่ได้ว่าพนักงานสอบสวนใช้อุบายหลอกลวงให้จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ การสอบสวนคดีจึงชอบด้วยกฎหมาย คำให้การของจำเลยที่ 1 และพยานคนอื่น ๆ ที่พาดพิงถึงจำเลยที่ 4 จึงเป็นข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ แต่จะรับฟังลงโทษจำเลยที่ 4 ได้หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะต้องพิจารณาพยานหลักฐานอื่น ๆ ทั้งหมดของโจทก์และโจทก์ร่วม รวมทั้งพยานหลักฐานของจำเลยที่ 4 ด้วยว่ามีน้ำหนักเพียงพอที่จะฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมได้หรือไม่ ฎีกาของจำเลยที่ 4 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 4 ว่า จำเลยที่ 4 เป็นคนร้ายกระทำความผิดโดยร่วมกับจำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้จ้างจำเลยที่ 3 ให้ฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ ได้ความจากคำเบิกความของนายจินดา คนชาญ พยานโจทก์และโจทก์ร่วมว่า ก่อนเกิดเหตุพยาน นางคำมัยและจำเลยที่ 4 เคยเดินทางไปหาจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 พูดขอเบอร์โทรศัพท์พยานโดยบอกว่าหากมีธุระก็จะขอติดต่อด้วย พยานได้ให้เบอร์โทรศัพท์ไป ต่อมาอีก 10 วัน จำเลยที่ 1 ขับรถไปหาพยานที่บ้านบอกให้ช่วยหามือปืนให้จะเอาไปยิงแม่ยาย พยานปฏิเสธจำเลยที่ 1 บอกว่าแม่ยายขู่ว่าจะฆ่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 เคยติดต่อเรื่องมือปืนฆ่าแม่ยายไว้กับจำเลยที่ 4 แล้ว จ่าสิบตำรวจสมพงษ์ พูลศรี พยานโจทก์และโจทก์ร่วมผู้จับกุมเบิกความว่า พยานกับพวกเป็นผู้จับกุมจำเลยที่ 3 ชั้นจับกุมจำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพว่า วันเกิดหตุได้นำรถจักรยานยนต์มาจากจำเลยที่ 4 แล้วขับมากับนายชาติซึ่งเป็นมือปืนไปยิงผู้ตาย จ่าสิบตำรวจเสริม รัตธิพันธ์ พยานโจทก์และโจทก์ร่วมอีกปากหนึ่ง เบิกความว่า พยานกับพวกเป็นคนไปยึดรถจักรยานยนต์ของกลางมาจากบ้านของนางคำมัย ได้พบนางคำมัย นางคำมัยให้การว่า รถจักรยานยนต์ที่ใช้ก่อเหตุเป็นของจำเลยที่ 4 และพันตำรวจโทศุภากรณ์ จันทาบุตร พนักงานสอบสวนเบิกความว่า ชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพว่า ก่อนเกิดเหตุประมาณ 20 วัน จำเลยที่ 1 เดินทางไปหาจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นญาติห่าง ๆ ที่อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ปรึกษากันที่ผู้ตายขู่จะฆ่าจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงขอให้จำเลยที่ 2 ช่วยหามือปืนให้ จำเลยที่ 2 ตกลง หลังจากนั้น 2 วัน จำเลยที่ 2 แจ้งจำเลยที่ 1 ว่าคนที่จัดมือปืนให้คือจำเลยที่ 4 ตกลงค่าจ้างเป็นเงิน 100,000 บาท จำเลยที่ 4 ขอค่าใช้จ่ายก่อน 50,000 บาท จำเลยที่ 1 จึงให้เงินไป หลังจากนั้น 3 วัน จำเลยที่ 4 และนายจินดามาพบจำเลยที่ 1 ที่บ้านโดยแจ้งว่านายจินดามีซุ้มมือปืนแล้ว จำเลยที่ 4 กับนายจินดาขอเงินมัดจำอีก 5,000 บาท จำเลยที่ 1 ก็ให้ไป ก่อนเกิดเหตุ 5 วัน จำเลยที่ 4 มาหาจำเลยที่ 1 ที่บ้านแจ้งว่าจะเริ่มทำงาน หลังเกิดเหตุ 2 วัน จำเลยที่ 1 ให้นายอศิน พานทอง น้องชายจำเลยที่ 1 นำเงินที่เหลือไปให้จำเลยที่ 2 และที่ 4 ที่บ้านที่จังหวัดลพบุรี ตามบันทึกคำให้การของจำเลยที่ 1 พันตำรวจโทสมบัติ พรมศรี พนักงานสอบสวนร่วมเบิกความว่า พยานได้สอบปากคำนางคำมัยไว้ ซึ่งนางคำมัยให้การว่า รถจักรยานยนต์ของกลาง จำเลยที่ 4 เป็นผู้เช่าซื้อมา วันเกิดเหตุจำเลยที่ 3 และนายชาตินำรถคันดังกล่าวไป และนำกลับมาคืนวันเดียวกัน และนางคำมัยยังให้การไว้ด้วยว่า จำเลยที่ 4 มอบให้นางคำมัยนำอาวุธปืนไปมอบให้นายสมบูรณ์น้องชายจำเลยที่ 4 นายสมบูรณ์เบิกความเป็นพยานโจทก์และโจทก์ร่วมว่า ได้รับอาวุธปืนไว้จากนางคำมัยจริง ต่อมาพยานนำไปฝากไว้กับนายถวิล ปิติคาม อีกต่อหนึ่ง เห็นว่า พยานโจทก์และโจทก์ร่วมดังกล่าวเบิกความสอดคล้องเชื่อมโยงกันเป็นเรื่องราว พยานผู้จับกุม พยานตรวจยึดรถจักรยานยนต์ของกลาง และพนักงานสอบสวน เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติงานตามหน้าที่ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 4 มาก่อน จึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะกลั่นแกล้งเบิกความปรักปรำจำเลยที่ 4 ให้ต้องรับโทษทางอาญา ถือว่าเบิกความและจัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้องตามความเป็นจริงจึงมีน้ำหนักให้รับฟัง โจทก์และโจทก์ร่วมยังมีบันทึกคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 3 มาส่งศาล ซึ่งจำเลยที่ 1 ให้การไว้ได้ความว่า จำเลยที่ 4 ร่วมกระทำความผิดคดีนี้ด้วยโดยร่วมเป็นผู้จัดหามือปืนให้ไปฆ่าผู้ตาย และจำเลยที่ 3 ให้การไว้ได้ความว่านายชาติรับงานฆ่าผู้ตายมาจากจำเลยที่ 4 บันทึกคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ดังกล่าวสอดคล้องตรงกับข้อเท็จจริงที่พิจารณา และฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 กระทำความผิดจริง นอกจากนี้ตามข้อเท็จจริงในคดี เจ้าพนักงานตำรวจสามารถติดตามยึดได้อาวุธปืนของกลางมาจากนายถวิลซึ่งนายสมบูรณ์นำไปฝากไว้อีกต่อหนึ่งตรงกับที่นางคำมัยให้การไว้เช่นกัน เห็นว่า พนักงานสอบสวนสามารถขยายผลสอบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดและรวบรวมพยานหลักฐานได้ตามขั้นตอนและข้อเท็จจริงในคดีมีผู้เกี่ยวข้องมาก ยากแก่การปรุงแต่งปั้นเรื่องขึ้นมา ทั้งหลังเกิดเหตุจำเลยที่ 4 หลบหนีไปนานถึง 7 เดือนเศษ เจ้าพนักงานตำรวจจึงจับกุมจำเลยที่ 4 ได้ พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมมีน้ำหนักบ่งชี้ว่า จเลยที่ 4 ร่วมกระทำความผิดคดีนี้โดยเป็นผู้ร่วมจัดหามือปืนมายิงผู้ตายจริง ที่จำเลยที่ 4 นำสืบต่อสู้ว่าไม่เคยรู้จักกับจำเลยอื่นและจำเลยที่ 4 ไม่ใช่เจ้าของรถจักรยานยนต์ของกลางและไม่เคยให้จำเลยที่ 3 ยืมรถนั้น ปรากฏในฎีกาของจำเลยที่ 4 เองได้บรรยายไว้ความว่าจำเลยที่ 3 อาศัยความที่เป็นคนรู้จักมักคุ้นมาหยิบยืมรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 4 ไปใช้ในการกระทำความผิด เพียงแต่จำเลยที่ 4 อ้างว่าไม่ทราบว่าจำเลยที่ 3 นำรถจักรยานยนต์ไปใช้ในการกระทำความผิดอาญา จึงขัดแย้งกันเอง จำเลยที่ 4 ฎีกาว่าจำเลยที่ 4 ไม่เคยรับเงินค่าจ้างมือปืนจากจำเลยที่ 1 หรือน้องชายจำเลยที่ 1 เห็นว่า เป็นการกล่าวอ้างอย่างลอย ๆ ซึ่งขัดต่อคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และเป็นการง่ายที่จะปฏิเสธเช่นนั้น จึงยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟัง จำเลยที่ 4 ฎีกาว่าทั้งนายสมบูรณ์และนายถวิล ซึ่งเบิกความว่า ทราบว่าอาวุธปืนเป็นของจำเลยที่ 4 แต่พยานโจทก์ทั้งสองเป็นเพียงพยานบอกเล่ารับรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอาวุธปืนมาจากนางคำมัย แต่โจทก์กลับไม่นำนางคำมัยมาเบิกความ และตามบันทึกคำให้การของนางคำมัยที่ให้การในชั้นสอบสวน นางคำมัยรู้รายละเอียดเรื่องเกี่ยวกับอาวุธปืน รถจักรยานยนต์ เงินค่าจ้างมือปืนและบุคคลที่เกี่ยวข้องมากเกินไปจนไม่น่าเชื่อเจ้าพนักงานตำรวจอาจจะทำเอกสารดังกล่าวขึ้นเอง เห็นว่า ไม่มีกฎหมายห้ามมิให้รับฟังพยานบอกเล่า เพียงแต่พยานบอกเล่าเป็นพยานมีน้ำหนักน้อย อย่างไรก็ตามใช้รับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นได้ เมื่อพิจารณาแล้วนางคำมัยให้การไว้ได้ความว่าจำเลยที่ 4 เป็นคนนำอาวุธปืนของกลางมอบให้นางคำมัยและให้มอบแก่น้องชายของจำเลยที่ 4 ไป ส่วนรายละเอียดข้อเท็จจริงอื่น ๆ นางคำมัยก็เป็นผู้เกี่ยวข้องอยู่ในเหตุการณ์ด้วยจึงอยู่ในวิสัยที่นางคำมัยสามารถให้การไว้เช่นนั้นได้ เมื่อจำเลยที่ 4 ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าบันทึกคำให้การของนางคำมัยทำไว้ไม่ถูกต้อง จึงรับฟังว่าอาวุธปืนของกลางเป็นของจำเลยที่ 4 มอบให้นางคำมัยนำไปฝากไว้กับนายสมบูรณ์และนายสมบูรณ์นำไปฝากไว้กับนายถวิลจริง ข้ออ้างของจำเลยที่ 4 ข้อนี้ยังไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง จำเลยที่ 4 ฎีกาอีกว่า จ่าสิบตำรวจมงคลเป็นหนี้ผู้ตายหลายล้านบาทและยังเลิกร้างกับภริยาซึ่งเป็นบุตรของผู้ตายจึงอาจตั้งประเด็นปัญหาในตัวจ่าสิบตำรวจมงคลได้หลายประการ เช่น ทำไมจ่าสิบตำรวจมงคลจึงต้องเดินทางมาจังหวัดสระบุรีด้วยเรื่องของผู้ตาย ความสัมพันธ์ระหว่างจ่าสิบตำรวจมงคลกับมือปืน ฯลฯ เห็นว่า เป็นการกล่าวเพื่อเบี่ยงเบนประเด็นซึ่งไม่ใช่พยานหลักฐานที่พิสูจน์ว่า จำเลยที่ 4 ไม่ใช่ผู้กระทำความผิดจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง เห็นว่า พยานหลักฐานของจำเลยที่ 4 ไม่อาจฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 4 ได้ร่วมกระทำความผิดโดยเป็นคนว่าจ้างจำเลยที่ 3 กับพวกให้ร่วมกันฆ่าผู้ตายจริง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 4 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 4 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share