คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7660/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้ผู้ร้องมิได้ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกามาพร้อมคำฟ้องอุทธรณ์ แต่ผู้ร้องก็ได้ยื่นต่อศาลชั้นต้นก่อนออกหมายนัดส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยทั้งสองแก้ พออนุโลมได้ว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องดังกล่าวถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง แล้ว และแม้ศาลชั้นต้นจะยังมิได้สั่งอนุญาตให้ผู้ร้องอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา แต่การที่จำเลยทั้งสองได้รับสำเนาคำร้องแล้วมิได้คัดค้านภายในกำหนดเวลายื่นคำแก้อุทธรณ์ และศาลชั้นต้นสั่งให้ส่งสำนวนไปยังศาลฎีกา ถือได้ว่า ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ร้องอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง แล้วเช่นกัน
ผู้ร้องเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินและได้มาซึ่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์รวมถึงสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนี้จากการขายสิทธิเรียกร้องของโจทก์ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 123 ย่อมถือได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งในอันที่จะร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความในชั้นบังคับคดี เพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง และบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 555,647.91 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ของต้นเงิน 397,553.64 บาท นับแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 24114 ตำบลบึงกาสาม (คลองซอยที่ 10 ฝั่งตะวันออก) อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี (ธัญบุรี) พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดชำระหนี้ หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,800 บาท จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ขอให้บังคับคดี ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีแล้วต่อมาโจทก์ถูกศาลล้มละลายกลางสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีหมายเลขแดงที่ ล.94/2543 ของศาลล้มละลายกลาง
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังให้ประกอบธุรกิจเงินทุน และได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ประกอบกิจการรับซื้อหรือรับโอนลูกหนี้เงินให้กู้ยืมและสินทรัพย์ของสถาบันการเงิน 56 แห่ง ที่ถูกปิดกิจการจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ได้ โจทก์ในคดีนี้เป็นสถาบันการเงินที่ถูกระงับการดำเนินกิจการตามคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังซึ่งสั่งโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ และคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินได้แต่งตั้งคณะกรรมการทำการชำระบัญชีของโจทก์ตามมาตรา 30 แห่งพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 ต่อมาผู้ชำระบัญชีของโจทก์ร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งให้โจทก์ล้มละลายและศาลมีคำสั่งให้โจทก์ล้มละลายแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รวบรวมทรัพย์สินของโจทก์ผู้ล้มละลาย และนำสิทธิเรียกร้องของโจทก์ออกขายโดยวิธีประมูลตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้ ผู้ร้องเป็นผู้ชนะการประมูล และได้ทำหนังสือสัญญาซื้อขายสิทธิเรียกร้องกับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งรวมถึงสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่มีต่อจำเลยทั้งสองตามคำพิพากษาในคดีนี้ ทั้งได้ชำระราคาครบถ้วนแล้ว ผู้ร้องเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องที่โจทก์มีต่อจำเลยทั้งสองตามคำพิพากษารวมทั้งหลักประกันและการค้ำประกันที่ให้ไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 305 และมาตรา 306 จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในวิธีการบังคับคดี และเป็นผู้มีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง รวมทั้งมีเหตุจำเป็นที่ต้องร้องสอดเข้ามาในคดีเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของผู้ร้องที่มีอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) ผู้ร้องมีหนังสือบอกกล่าวแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังจำเลยแล้ว ขอให้มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนที่โจทก์และเป็นคู่ความในชั้นบังคับคดีต่อไป
ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำฟ้อง ครั้นถึงวันนัด ศาลชั้นต้นตรวจพิจารณาคำร้องแล้วเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่ต้องไต่สวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติม จึงให้งดไต่สวน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นำสิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาของโจทก์ออกขายเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมาย เนื่องจากสิทธิเรียกร้องดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์สินในกองทรัพย์สินของผู้ล้มละลายที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะนำออกขายได้ นอกจากนี้สิทธิในการบังคับคดีเป็นสิทธิที่ศาลสั่งยึดไม่ได้ ย่อมโอนไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 304 จึงไม่อาจโอนให้บุคคลภายนอกได้ตามมาตรา 305 และมาตรา 306 และการร้องขอเข้าเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) เป็นการร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สาม ไม่ใช่เข้าสวมสิทธิแทนโจทก์ กรณีจึงไม่ใช่การร้องสอดตามมาตรา 57 (1) ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ ผู้ร้องยื่นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของผู้ร้อง ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา แม้คำร้องดังกล่าวมิได้ยื่นมาพร้อมคำฟ้องอุทธรณ์ แต่ผู้ร้องก็ได้ยื่นต่อศาลชั้นต้นก่อนออกหมายนัดส่งสำเนาอุทธณ์ให้จำเลยทั้งสองแก้ พออนุโลมได้ว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องดังกล่าวถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง แล้ว และแม้ว่าศาลชั้นต้นจะยังมิได้สั่งอนุญาตให้ผู้ร้องอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา แต่การที่จำเลยทั้งสองได้รับสำเนาคำร้องแล้วมิได้คัดค้านภายในกำหนดเวลายื่นคำแก้อุทธรณ์ และศาลชั้นต้นสั่งให้ส่งสำนวนไปยังศาลฎีกา ถือได้ว่า ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ร้องอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง แล้วเช่นกัน มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของผู้ร้องชอบหรือไม่ เห็นว่า เมื่อโจทก์ตกเป็นบุคคลล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมมีอำนาจหน้าที่รวบรวมและจำหน่ายทรัพย์สินของโจทก์ตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในหมวด 4 ส่วนที่ 4 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ซึ่งมาตรา 123 บัญญัติให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะขายทรัพย์สินที่รวบรวมได้มาตามวิธีที่สะดวกและเป็นผลดีที่สุด โดยมีเงื่อนไขว่าการขายโดยวิธีอื่นนอกจากการขายทอดตลาดต้องได้รับความเห็นชอบของกรรมการเจ้าหนี้ การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ประกาศขายสิทธิเรียกร้องของโจทก์โดยวิธีอื่นตามมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ในคดีล้มละลายเป็นการดำเนินการตามบทกฎหมายดังกล่าว สิทธิของผู้ซื้อทรัพย์สินโดยสุจิรตจากการขายสิทธิเรียกร้องของโจทก์ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายจึงควรได้รับความรับรอง คุ้มครอง และบังคับตาม ดังนั้น หากเป็นความจริงตามข้ออ้างของผู้ร้องว่า ผู้ร้องเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินและได้มาซึ่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์รวมถึงสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนี้จากการขายดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งในอันที่จะร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความในชั้นบังคับคดี เพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง และบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) ได้ โดยไม่จำต้องร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สาม สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่จะได้รับชำระหนี้จากจำเลยทั้งสองตามคำพิพากษาดังกล่าวมิใช่สิทธิเฉพาะตัว แต่เป็นสิทธิในทรัพย์สินอย่างหนึ่งที่อยู่ในอำนาจจัดการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ทั้งการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ประกาศขายสิทธิเรียกร้องของโจทก์ก็หาใช่การกระทำโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมายดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไม่ ที่ศาลชั้นต้นด่วนวินิจฉัยและมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย และเห็นสมควรส่งสำนวนคืนไปยังศาลชั้นต้นเพื่อไต่สวนคำร้องและมีคำสั่งใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 247 อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังขึ้น”
พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนคำร้องของผู้ร้องแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำสั่งใหม่

Share