คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3042/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ขณะศาลชั้นต้นสอบคำให้การจำเลยทั้งสอง ศาลชั้นต้นมิได้สอบจำเลยทั้งสองว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อหรือไม่ก็ตาม แต่หากปรากฏข้อเท็จจริงชัดแจ้งว่าจำเลยทั้งสองเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อจริง ก็ชอบที่จะนับโทษต่อตามที่โจทก์ขอได้ และเมื่อคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อคือคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1545/2555 ของศาลชั้นต้นนั้น สำนวนคดีดังกล่าวจำเลยทั้งสองยื่นฎีกาเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.12/2561 ของศาลฎีกา ซึ่งศาลฎีกาได้ตรวจดูแล้วพบว่าจำเลยทั้งสองเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อนั่นเอง จึงนับโทษต่อให้ตามที่โจทก์ร้องขอ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 157 และนับโทษจำเลยทั้งสองต่อจากคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1545/2555 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (ที่ถูก ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม)) ประกอบมาตรา 83 เป็นความผิด 2 กระทง เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 5 ปี รวมจำคุกคนละ 10 ปี คำขอให้นับโทษต่อให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองรับราชการที่สำนักงานที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี สาขาเกาะสมุย จำเลยที่ 1 มีตำแหน่งเป็นช่างรังวัด มีหน้าที่รังวัดออกเอกสารสิทธิที่ดินหรือหนังสือแสดงสิทธิที่ดิน ตรวจสอบสภาพพื้นที่ และรายงานผลการรังวัดต่อผู้บังคับบัญชา จำเลยที่ 2 มีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่บริหารที่ดิน 6 ทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายทะเบียน มีหน้าที่ในการตรวจสอบพิจารณา ผ่านเรื่องและเสนอความเห็นในการออกเอกสารสิทธิที่ดินเสนอเจ้าพนักงานที่ดิน เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2541 นายประกิจ ยื่นคำขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ในที่ดินโดยอ้างหลักฐานแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) เลขที่ 48 และสำเนาคำขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ จำเลยที่ 2 สั่งรับคำขอ สั่งฝ่ายรังวัดดำเนินการ นายธรรมศักดิ์ หัวหน้าฝ่ายรังวัดสั่งให้จำเลยที่ 1 ไปทำการรังวัดโดยมีหนังสือแจ้งเจ้าของที่ดินข้างเคียงและผู้ปกครองท้องที่ไปร่วมรังวัด ต่อมาในวันที่ 17 มีนาคม 2542 จำเลยที่ 1 รายงานผลการรังวัดตามแบบ ร.ว. 3 ว่า ผู้ขอไม่ได้นำรังวัดผิดแปลงหรือนำที่ดินแปลงอื่นนอกหลักฐานมารวมในการออก น.ส. 3 ก. ครั้งนี้ เจ้าของที่ดินข้างเคียงรับรองเขตทุกด้าน ได้ทำประโยชน์ปลูกมะพร้าวแล้วเต็มทั้งแปลง ได้เนื้อที่ 16 – 3 – 27 ไร่ มากกว่าเดิม 3 – 0 – 87 ไร่ ลงระวางแล้วไม่ทับที่ดินแปลงข้างเคียงหรือที่สาธารณประโยชน์หรือที่หวงห้าม ที่เขา ภูเขา นายธรรมศักดิ์ตรวจสอบแล้วเสนอนายทวีป เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี สาขาเกาะสมุยว่า หลักฐานแปลงข้างเคียงไม่สอดคล้องกัน น่าจะรังวัดผิดแปลงเห็นควรให้ฝ่ายทะเบียนสอบสวนว่ารังวัดถูกแปลงหรือไม่ นายทวีปบันทึกสั่งการลงวันที่ 29 มีนาคม 2542 ว่า ตั้งกรรมการตรวจสอบ แต่ไม่มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ต่อมาจำเลยที่ 2 ประกาศออก น.ส. 3 ก. วันที่ 8 พฤศจิกายน 2542 จำเลยที่ 2 เสนอนายทวีปให้พิจารณาการลงนามออก น.ส. 3 ก. เลขที่ 5264 เลขที่ดิน 491 นายทวีปอนุมัติและลงนาม นายทรงกลด ลงชื่อแจก น.ส. 3 ก. เลขที่ 5264 ให้แก่นายประกิจรับไปเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2542 ในวันเดียวกันนายประกิจจดทะเบียนขายให้แก่บริษัทโรงพยาบาลธนบุรี จำกัด และเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2541 นายประกิจยื่นคำขอออก น.ส. 3 ก. ในที่ดินโดยอ้างหลักฐานแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) เลขที่ 441 โดยอ้างว่าซื้อมาจากนายเอียง ตามที่นายเอียงได้แจ้ง ส.ค. 1 ไว้เนื้อที่ 11 – 1 – 00 ไร่ จำเลยที่ 2 สั่งรับคำขอสั่งฝ่ายรังวัดดำเนินการ นายธรรมศักดิ์สั่งให้จำเลยที่ 1 ไปทำการรังวัด ต่อมาวันที่ 17 มีนาคม 2542 จำเลยที่ 1 รายงานผลการรังวัดตามแบบ ร.ว.3 ว่า ผู้ขอมิได้นำรังวัดผิดแปลงหรือนำที่ดินแปลงอื่นนอกหลักฐานมารวม เจ้าของที่ดินข้างเคียงรับรองแนวเขตครบทุกด้าน ได้ทำประโยชน์ปลูกมะพร้าวเต็มทั้งแปลง ได้เนื้อที่ 34 – 0 – 96 ไร่ มากกว่าเดิม 22 – 3 – 96 ไร่ เสนอผ่านนายธรรมศักดิ์ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2542 นายธรรมศักดิ์พิจารณาแล้ว เห็นว่าที่ดินข้างเคียงไม่สอดคล้องกันน่าจะรังวัดผิดแปลงเห็นควรให้ฝ่ายทะเบียนเชิญผู้ขอมาสอบสวนเพิ่มเติมว่ารังวัดถูกแปลงหรือไม่ นายทวีปบันทึกสั่งการในวันเดียวกันให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามสำเนาบันทึกข้อความ (ร.ว.3) แต่ไม่ปรากฏหลักฐานการตั้งกรรมการสอบสวน ต่อมานายประกิจยินยอมให้ตัดเนื้อที่ออกประมาณ 10 ไร่ คงเหลือเนื้อที่ 23 – 3 – 37 ไร่ จนกระทั่งวันที่ 8 พฤศจิกายน 2542 จำเลยที่ 2 เสนอนายทวีปพิจารณาอนุมัติลงนามออก น.ส. 3 ก. เลขที่ 5266 เลขที่ดิน 493 ให้แก่นายประกิจ นายทวีปอนุมัติและลงนามใน น.ส. 3 ก. ในวันเดียวกัน นายทรงกลดลงชื่อแจก น.ส. 3 ก. ให้นายประกิจในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2542 นายประกิจจดทะเบียนขายให้แก่บริษัทโรงพยาบาลธนบุรี จำกัด ในวันเดียวกัน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 หรือไม่ เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งปากนางวนิดาและนายวัลลภซึ่งได้ไปตรวจสอบสภาพพื้นที่ของที่ดินมาด้วยตนเองมิได้ตรวจสอบโดยดูแต่เพียงภาพถ่าย คำเบิกความจึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้ ข้อเท็จจริงย่อมฟังได้ว่าที่ดินตาม น.ส. 3 ก. เลขที่ 5264 และ 5266 ยังมีสภาพเป็นป่าและมีความลาดชันเกิน 35 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นพื้นที่ต้องห้ามมิให้ออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน แต่มีการนำ ส.ค. 1 จากที่ดินแปลงอื่นมาเป็นหลักฐานในการขอออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน เมื่อถึงขั้นตอนการรังวัด จำเลยที่ 1 เป็นผู้ได้รับมอบหมายให้ไปรังวัดที่ดิน การรังวัดมีการออกหนังสือไปยังเจ้าของที่ดินข้างเคียงให้ไประวังแนวเขตและแจ้งนายอำเภอท้องที่หรือผู้ได้รับมอบหมายให้ไปร่วมเป็นพยานและตรวจสอบสภาพที่ดิน ซึ่งนายอำเภอท้องที่ได้มอบหมายให้นายสนิท เจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินอำเภอเกาะสมุย และนายธรรมรัตน์ ผู้ใหญ่บ้านในท้องที่ไปเป็นพยานร่วมตรวจสอบที่ดิน ซึ่งปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ทำบันทึกถ้อยคำว่าเจ้าของที่ดินข้างเคียงมาระวังแนวเขตและมีผู้ปกครองท้องที่มาเป็นพยาน แต่นายสนิทให้การต่ออนุกรรมการไต่สวนว่าขณะจำเลยที่ 1 พาไปดูที่ดิน เจ้าของที่ดินข้างเคียงไม่ได้ไปร่วมแต่อย่างใด และไม่มีการรังวัดปักหลักเขต ส่วนนายธรรมรัตน์ให้การต่ออนุกรรมการไต่สวนว่า นายประกิจและเจ้าหน้าที่ฝ่ายรังวัดนำเอกสารมาให้ลงชื่อรับรอง ณ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน โดยนายธรรมรัตน์มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรังวัดที่ดินทั้งสองแปลง จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ทำบันทึกถ้อยคำอันเป็นเท็จ นอกจากนี้ในรายงานการรังวัดลงวันที่ 17 มีนาคม 2542 ซึ่งจำเลยที่ 1 เสนอรายงานต่อหัวหน้างานรังวัดว่า เมื่อวันที่ 23 และ 27 พฤศจิกายน 2541 จำเลยที่ 1 เดินทางไปถึงที่ดินที่รังวัด เจ้าของที่ดิน เจ้าของที่ดินข้างเคียง และผู้ปกครองท้องที่พร้อมกันแล้ว จึงได้ทำการรังวัดปักหลักเขตรอบแปลงตามสภาพการครอบครองทำประโยชน์โดยมีแนวมะพร้าวคู่เป็นเขตที่ดิน และยังระบุว่าเป็นที่ดินที่มิได้อยู่ในเขตป่า ผู้ขอใช้เป็นที่สวนปลูกมะพร้าวเต็มแปลงเห็นควรดำเนินการให้ผู้ขอตามระเบียบต่อไป ซึ่งข้อความดังกล่าวขัดต่อสภาพของพื้นที่ที่ดินที่แท้จริง ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่ผู้ออกไปรังวัดย่อมรู้ดีว่าข้อความที่ตนได้ระบุนั้นเป็นความเท็จ และเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ทราบดีอยู่แล้วว่าผู้มาขอออก น.ส. 3 ก. คือนายประกิจได้อ้าง ส.ค. 1 จากที่ดินแปลงอื่นมาเป็นหลักฐาน แต่จำเลยที่ 1 กลับรายงานหัวหน้ารังวัดว่า สอบสวนแล้วผู้ขอมิได้นำที่ดินแปลงอื่นนอกหลักฐานมารวมเพื่อออก น.ส. 3 ก. ครั้งนี้ผู้ขอได้ทำประโยชน์เหมาะสม โดยปลูกต้นมะพร้าวเต็มแปล ซึ่งเป็นความเท็จเพราะความจริงนายประกิจอ้าง ส.ค. 1 ที่ดินแปลงอื่นมาขอออก น.ส. 3 ก. และที่ดินเป็นภูเขา มิได้ทำประโยชน์ทั้งแปลง และต่อมานายธรรมศักดิ์ หัวหน้าฝ่ายรังวัดพิจารณารายงานการรังวัดของจำเลยที่ 1 ทั้งสองฉบับ เห็นว่าไม่สอดคล้องกันน่าจะนำรังวัดผิดแปลงหรือนำที่นอกหลักฐานมารวมด้วย จึงได้เสนอความเห็นต่อนายทวีปเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี สาขาเกาะสมุย ให้เห็นถึงข้อพิรุธดังกล่าว ซึ่งนายทวีปก็เห็นด้วยจึงสั่งตั้งกรรมการสอบสวน จำเลยที่ 2 ซึ่งมีหน้าที่ในการตรวจสอบในเรื่องการออกเอกสารสิทธิในที่ดิน แต่จำเลยที่ 2 มิได้ดำเนินการตามคำสั่งของนายทวีป กลับดำเนินการออกประกาศและเสนอให้มีการออก น.ส. 3 ก. เลขที่ 5264 และ 5266 ให้แก่นายประกิจไป บ่งชี้ให้เห็นถึงการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของจำเลยทั้งสองที่ทำด้วยกันในลักษณะเป็นขบวนการ เป็นผลให้นายประกิจผู้ขอได้ น.ส. 3 ก. ในที่ดินทั้งสองแปลงในคดีนี้ไปทั้ง ๆ ที่มิได้อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะออก น.ส. 3 ก. ได้ เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขามีความลาดชันเกิน 35 เปอร์เซ็นต์ มีสภาพเป็นป่าซึ่งไม่สามารถออก น.ส. 3 ก. ได้ ข้อนำสืบของจำเลยทั้งสองที่อ้างว่าจำเลยทั้งสองกระทำการไปตามอำนาจหน้าที่ มิได้กระทำอื่นใดนอกเหนือหน้าที่ราชการเพื่อช่วยเหลือแก่นายประกิจโดยมิชอบนั้นไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเป็นความผิด 2 กระทง ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษา ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์ว่า ควรให้นับโทษจำเลยทั้งสองต่อจากโทษของจำเลยทั้งสองในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1545/2555 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าขณะศาลชั้นต้นสอบคำให้การจำเลยทั้งสองนั้น ศาลชั้นต้นมิได้สอบจำเลยทั้งสองว่าเป็นบุคคลคนเดียว กับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อหรือไม่ กรณีจึงเป็นเหตุให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยไม่นับโทษต่อให้ และพิพากษาให้ยกคำขอในส่วนนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้สอบจำเลยทั้งสองว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อหรือไม่ก็ตาม แต่หากปรากฏข้อเท็จจริงชัดแจ้งว่าจำเลยทั้งสองเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อจริง ก็ชอบที่จะนับโทษต่อตามที่โจทก์ขอได้ และเมื่อคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อคือคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1545/2555 ของศาลชั้นต้นนั้น สำนวนคดีดังกล่าวได้ถูกส่งมายังศาลฎีกาเนื่องจากจำเลยทั้งสองได้ยื่นฎีกาคดีดังกล่าวต่อศาลฎีกาเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.12/2561 ของศาลฎีกา ซึ่งศาลฎีกาได้ตรวจดูแล้วพบว่าจำเลยทั้งสองเป็นบุคคล คนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อนั่นเอง จึงควรต้องนับโทษต่อให้ตามที่โจทก์ร้องขอ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้นับโทษจำคุกของจำเลยทั้งสองต่อจากโทษจำคุกของจำเลยทั้งสองในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1545/2555 ของศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

Share