คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3804/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้แม้ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าการกระทำของจำเลยในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานพยายามฆ่าตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 แต่ศาลอุทธรณ์ก็ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าอันเป็นความผิดต่อชีวิต ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตาม ป.อ. มาตรา 90 มิได้ลงโทษและกำหนดโทษจำเลยในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์แต่อย่างใด เช่นนี้จึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 93 ได้ แต่เมื่อภายในห้าปีนับแต่วันพ้นโทษคดีก่อน จำเลยกลับมากระทำความผิดคดีนี้ จึงต้องเพิ่มโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 92 และถึงแม้คดีนี้โจทก์จะขอเพิ่มโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 93 ซึ่งเป็นบทหนักมา ศาลก็มีอำนาจเพิ่มโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 92 ซึ่งเบากว่าได้ ไม่เกินคำขอของโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 80, 91, 93, 288, 339, 358, 371, พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบอาวุธปืน มีดปลายแหลมและลูกกระสุนปืนของกลาง เพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่งตามกฎหมาย ให้จำเลยคืนเงิน 6,800 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายที่ 1
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 339 วรรคสอง (ที่ถูก (เดิม)), 358 (ที่ถูก (เดิม)), 371. พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพยายามฆ่า จำคุก 12 ปี ฐานชิงทรัพย์ จำคุก 10 ปี ฐานทำให้เสียทรัพย์ จำคุก 1 ปี ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 2 ปี ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร (ที่ถูก และโดยไม่ได้รับใบอนุญาต) ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับ 1,000 บาท เพิ่มโทษฐานชิงทรัพย์และทำให้เสียทรัพย์กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93 ฐานชิงทรัพย์เป็นจำคุก 15 ปี ฐานทำให้เสียทรัพย์ เป็นจำคุก 1 ปี 6 เดือน รวมจำคุก 31 ปี 6 เดือน และปรับ 1,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 15 ปี 9 เดือน และปรับ 500 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบอาวุธปืน มีดปลายแหลม และลูกกระสุนปืนของกลาง ให้จำเลยคืนเงิน 6,800 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายที่ 1
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานพยายามฆ่ากับฐานทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 358 (เดิม) เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานพยายามฆ่า ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 12 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุก 6 ปี ฐานชิงทรัพย์ คงจำคุก 7 ปี 6 เดือน ฐานมีอาวุธปืนไม่มีเครื่องหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับ คงจำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืน คงจำคุก 6 เดือน ฐานพาอาวุธ คงปรับ 500 บาท รวมจำคุก 14 ปี 12 เดือน และปรับ 500 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ไม่เพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93 ชอบหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้แม้ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าการกระทำของจำเลยในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานพยายามฆ่าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 แต่ศาลอุทธรณ์ก็ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าอันเป็นความผิดต่อชีวิต ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 มิได้ลงโทษและกำหนดโทษจำเลยในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์แต่อย่างใด เช่นนี้จึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93 ได้ แต่เมื่อภายในห้าปีนับแต่วันพ้นโทษคดีก่อน จำเลยกลับมากระทำความผิดคดีนี้ จึงต้องเพิ่มโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 และถึงแม้คดีนี้โจทก์จะขอเพิ่มโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93 ซึ่งเป็นบทหนักมา ศาลก็มีอำนาจเพิ่มโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 ซึ่งเบากว่าได้ ไม่เกินคำขอของโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น อย่างไรก็ดี ที่ศาลล่างทั้งสองวางโทษจำเลยก่อนลดโทษฐานพยายามฆ่าให้จำคุก 12 ปีนั้น หนักเกินไป ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้เหมาะสมแก่รูปคดี
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่า จำคุก 10 ปี เพิ่มโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 แล้ว เป็นจำคุก 13 ปี 4 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 6 ปี 8 เดือน เมื่อรวมกับโทษฐานอื่นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว เป็นจำคุก 14 ปี 20 เดือน และปรับ 500 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share