แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้อง พ. จำเลย และ ล. เป็นคดีหมายเลขดำที่ 657/2556 ของศาลแพ่งธนบุรีให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนอง จำเลยให้การต่อสู้ว่า พ. ขอให้ ล. นำเงินไปไถ่ถอนจำนองบ้านและที่ดินจากธนาคาร แล้ว พ. กับจำเลยจะเปลี่ยนมาจดทะเบียนจำนองกับ ล. แทน ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยในคดีดังกล่าวคือการจดทะเบียนจำนองระหว่าง พ. และจำเลยกับ ล. เป็นการประกันหนี้ที่มีอยู่จริงหรือไม่ หรือเป็นการแสดงเจตนาลวงฉ้อฉลโจทก์ ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่ต้องพิจารณาคือเงินที่ไถ่ถอนจำนองจากธนาคารเป็นเงินของ พ. หรือ ล. คำเบิกความของจำเลยที่ว่าเงินไถ่ถอนจำนองเป็นของ ล. จึงเป็นข้อสำคัญในคดี เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเงินที่ไถ่ถอนจำนองจากธนาคารเป็นเงินของ พ. มิใช่ของ ล. ตามที่จำเลยยืนยัน คำเบิกความของจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ 657/2556 ของศาลแพ่งธนบุรีฟังได้ว่าเป็นเท็จและเป็นข้อสำคัญในคดี จำเลยจึงมีความผิดฐานเบิกความเท็จ
ส่วนความผิดฐานฟ้องเท็จในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ. 4218/2557 ของศาลชั้นต้นเมื่อจำเลยทราบอยู่ก่อนแล้วว่าเงินที่นำไปไถ่ถอนจำนองจากธนาคารเป็นเงินของ พ. ไม่ใช่ของ ล. การกล่าวอ้างในคำฟ้องว่าโจทก์ฟ้องเท็จและเบิกความเท็จว่า เงินที่ไถ่ถอนจำนองเป็นของ พ. จึงเป็นการเอาความอันเป็นเท็จมาฟ้องโจทก์ต่อศาลว่ากระทำความผิดอาญา เป็นความผิดฐานฟ้องเท็จ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175, 177, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175 (เดิม), 177 วรรคแรก (เดิม) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฟ้องเท็จ จำคุก 6 เดือน ฐานเบิกความเท็จ จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 12 เดือน ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 เดือน ข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาฟ้องเท็จในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ. 4218/2557 ของศาลชั้นต้น และข้อหาเบิกความเท็จในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 657/2556 ของศาลแพ่งธนบุรีด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เดิมนายพนมกร กับจำเลยเป็นสามีภริยากัน จดทะเบียนหย่าเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2555 ในวันที่ 31 สิงหาคม 2555 โจทก์ฟ้องนายพนมกรเป็นคดีหมายเลขดำที่ 1533/2555 ต่อศาลแพ่งธนบุรี ขอให้ชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน 42,000,000 บาท คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษาให้นายพนมกรชำระหนี้แก่โจทก์ ระหว่างการพิจารณาคดีดังกล่าวคือในวันที่ 9 มกราคม 2556 นายพนมกรและจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่ 12664 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ชำระหนี้และจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจากธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) แล้วนำไปจดทะเบียนจำนองกับนางลัดดาวัลย์ น้องสาวนายพนมกร ในจำนวนเงิน 2,480,855 บาท ต่อมาโจทก์มาฟ้องนายพนมกร จำเลยและนางลัดดาวัลย์เป็นคดีหมายเลขดำที่ 657/2556 ต่อศาลแพ่งธนบุรี ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองดังกล่าว คดีถึงที่สุดแล้ว จำเลยเบิกความในคดีหมายเลขดำที่ 657/2557 ว่า เงินที่นำมาไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 12664 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นเงินของนางลัดดาวัลย์ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2557 โจทก์ฟ้องนายพนมกร จำเลยและนางลัดดาวัลย์ต่อศาลแขวงธนบุรีเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ. 1140/2557 ข้อหาร่วมกันโกงเจ้าหนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาไม่รับคดีไว้พิจารณาพิพากษา ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง คดีถึงที่สุด นายพนมกร จำเลยและนางลัดดาวัลย์จึงต่างฟ้องโจทก์เป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้นตามคดีหมายเลขดำที่ อ. 4217/2557, อ. 4218/2557 และ อ. 4219/2557 ตามลำดับข้อหาฟ้องเท็จและเบิกความเท็จ โดยกล่าวอ้างในฟ้องเช่นเดียวกันว่าการที่โจทก์ฟ้องและเบิกความชั้นไต่สวนมูลฟ้องในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ. 1140/2557 ของศาลแขวงธนบุรีเป็นความเท็จเนื่องจากความจริงแล้วการไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 12664 พร้อมสิ่งปลูกสร้างจากธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) นางลัดดาวัลย์เป็นผู้ไถ่ถอนจำนองด้วยเงินของตนเอง และโจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ไปขอคัดรับรองสำเนาโฉนดที่ดินดังกล่าว มิใช่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2556 ซึ่งศาลแพ่งธนบุรีมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 657/2556 หมายเลขแดงที่ 1966/2556 โดยจำเลยเบิกความชั้นไต่สวนมูลฟ้องในคดีหมายเลขดำที่ อ. 4218/2557 ของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องทั้งสามคดี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีทั้งสามคดีถึงที่สุดในชั้นอุทธรณ์สำหรับความผิดฐานเบิกความเท็จในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ. 4218/2557 ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง ต้องห้ามมิให้ฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ไว้เป็นการไม่ชอบศาลฎีกาไปรับวินิจฉัย
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานเบิกความเท็จในคดีหมายเลขดำที่ 657/2556 ของศาลแพ่งธนบุรี ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องนายพนมกร จำเลยและนางลัดดาวัลย์เป็นคดีหมายเลขดำที่ 657/2556 ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนอง จำเลยให้การต่อสู้ว่า นายพนมกรขอให้นางลัดดาวัลย์นำเงินไปไถ่ถอนจำนองบ้านและที่ดินจากธนาคาร แล้วนายพนมกรกับจำเลยเปลี่ยนมาจดทะเบียนจำนองกับนางลัดดาวัลย์แทน ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยในคดีดังกล่าวคือการจดทะเบียนจำนองระหว่างนายพนมกรและจำเลยกับนางลัดดาวัลย์เป็นการประกันหนี้ที่มีอยู่จริงหรือไม่ หรือเป็นแสดงเจตนาลวงฉ้อฉลโจทก์ ดังนั้น ข้อเท็จจริงประการแรกที่ต้องพิจารณาคือเงินที่ไถ่ถอนจำนองจากธนาคารเป็นเงินของนายพนมกรหรือนางลัดดาวัลย์ หากศาลรับฟังและเชื่อตามคำเบิกความของจำเลย ที่ว่านายพนมกรไม่สามารถผ่อนเงินกู้กับธนาคารได้ จึงขอให้นางลัดดาวัลย์ซึ่งเป็นน้องสาวมีฐานะดีไปไถ่ถอนจำนองจากธนาคารแล้วจดทะเบียนจำนองกับนางลัดดาวัลย์แทน ก็ย่อมไม่ฟังว่านายพนมกรมีเจตนาฉ้อฉลโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้อันเป็นผลให้แพ้ชนะในคดีดังกล่าวได้ คำเบิกความที่ว่าเงินไถ่ถอนจำนองเป็นของนางลัดดาวัลย์จึงเป็นข้อสำคัญในคดี แต่จะเป็นความเท็จหรือไม่นั้น เห็นว่า จำเลยเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายพนมกร และจดทะเบียนหย่าเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2555 แต่วันที่ 20 ธันวาคม 2555 จำเลยร่วมกับนายพนมกรทำสัญญาสินเชื่อเบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคาร ในวงเงินจำนวน 2,500,000 บาท นายพนมกรสั่งจ่ายเช็คเบิกถอนเงินจากบัญชีตามสัญญาดังกล่าว ลงวันที่ 7 มกราคม 2556 จำนวน 600,000 บาท และวันที่ 8 มกราคม 2556 จำนวน 500,000 บาท ด้านหลังเช็คทั้งสองฉบับปรากฏลายมือชื่อจำเลยเป็นผู้รับเช็คดังกล่าว วันที่ 7 และ 8 มกราคม 2556 นายพนมกรโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของนางลัดดาวัลย์รวมจำนวน 2,500,000 บาท นอกจากนี้ตามสำเนาคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 1590/2556 ของศาลแพ่งธนบุรีและสำเนาใบสำคัญคดีถึงที่สุด ซึ่งมีคำวินิจฉัยว่านายพนมกรกับจำเลยร่วมกันจดทะเบียนสิทธินิติกรรมที่ดินสามแปลงที่จำเลยอ้างว่าแบ่งกับนายพนมกรเพราะเป็นสินสมรส เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้โจทก์บังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบเพิกถอนการจดทะเบียนขายที่ดินทั้งสามแปลง ทั้งยังสอดคล้องกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5203/2558 ที่วินิจฉัยว่าพฤติการณ์ไถ่ถอนจำนองจากธนาคารและจดทะเบียนจำนองกับนางลัดดาวัลย์ส่อให้เห็นไปในทางว่ามีเจตนาสมรู้ร่วมกันเพื่อฉ้อฉลโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ มากกว่าเป็นการทำนิติกรรมธรรมดา ถือเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กัน ตกเป็นโมฆะและให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองดังกล่าว ดังนี้ จากพฤติการณ์ที่ได้ความเชื่อมโยงให้เห็นชัดว่าจำเลยเกี่ยวข้องกับการทำนิติกรรมและธุรกรรมทางการเงิน การจัดการทรัพย์สินต่าง ๆ ร่วมกับนายพนมกรทั้งก่อนและหลังการจดทะเบียนหย่า รวมทั้งการจัดการที่ดินโฉนดเลขที่ 12664 พร้อมสิ่งปลูกสร้างมาโดยตลอด รูปคดีฟังได้อย่างปราศจากข้อสงสัยว่าเงินที่ไถ่ถอนจำนองจากธนาคารเป็นเงินของนายพนมกร มิใช่ของนางลัดดาวัลย์ตามที่จำเลยยืนยัน คำเบิกความของจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ 657/2556 ของศาลแพ่งธนบุรี ฟังได้ว่าเป็นเท็จและเป็นข้อสำคัญในคดี จำเลยจึงมีความผิดฐานเบิกความเท็จ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้อง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ต่อไปว่า จำเลยมีความผิดฐานฟ้องเท็จในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ. 4218/2557 ของศาลชั้นต้น หรือไม่ เห็นว่า จำเลยฟ้องโจทก์ว่าฟ้องเท็จและเบิกความเท็จเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ. 4218/2557 หลังจากถูกโจทก์ฟ้องว่าร่วมกับนายพนมกรและนางลัดดาวัลย์โกงเจ้าหนี้เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ. 1140/2557 ของศาลแขวงธนบุรี โดยจำเลยทราบอยู่ก่อนแล้วว่าเงินที่นำไปไถ่ถอนจำนองจากธนาคารเป็นเงินของนายพนมกร มิใช่ของนางลัดดาวัลย์ การกล่าวอ้างในคำฟ้องว่าโจทก์ฟ้องเท็จและเบิกความเท็จว่าเงินที่ไถ่ถอนจำนองเป็นของนายพนมกร จึงเป็นการเอาความอันเป็นเท็จมาฟ้องโจทก์ต่อศาลว่ากระทำความผิดอาญา เป็นความผิดฐานฟ้องเท็จในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ. 4218/2557 ที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยไม่มีความผิดศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยในอัตราโทษขั้นสูงนั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175 (เดิม) และตามมาตรา 177 (เดิม) มีระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี ที่ศาลชั้นต้นกำหนดโทษจำคุกจำเลย 6 เดือน เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น