คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2127/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาจาก พ.ซึ่งก่อนหน้านี้พ. ไม่ได้แจ้งการครอบครองที่ดินพิพาทตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 โจทก์ เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทต่อเนื่องตลอดมา เมื่อมีการประกาศกำหนดท้องที่และวันเริ่มต้นของการเดินสำรวจ เพื่อออกโฉนดที่ดินโจทก์ไม่ได้แจ้งการครอบครองที่ดินพิพาท ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดินฯ มาตรา 27 ตรี เนื่องจากโจทก์เดินทางไปประกอบอาชีพที่อื่น แต่โจทก์ได้ไปพบพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อนำสำรวจรังวัดออกโฉนดที่ดินเมื่อมีการเดินสำรวจแล้ว แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ให้รออยู่ก่อนครั้นเมื่อไปพบตามกำหนดก็ได้รับแจ้งว่าหมดโครงการเดินสำรวจแล้ว แสดงว่าเหตุขัดข้องซึ่งทำให้ไม่มีการสำรวจรังวัดที่ดินพิพาท ตามวันเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่ปิดประกาศ มิใช่เป็นความผิด ของโจทก์ ดังนั้น การที่โจทก์ได้นำเจ้าพนักงานที่ดิน ไปทำการรังวัดที่ดินพิพาทเพื่อขอออกโฉนด ย่อมถือได้ว่า โจทก์ยังประสงค์จะได้สิทธิในที่ดินพิพาทและเป็นผู้ปฏิบัติตาม มาตรา 27 ตรี ซึ่งยังไม่พ้นระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด การขอออกโฉนดที่ดินของโจทก์จึงเป็นกรณีผู้ตกค้างการแจ้ง การครอบครองสามารถขอออกโฉนดเป็นการเฉพาะรายได้ตาม ประมวลกฎหมายที่ดินฯ มาตรา 59 ทวิ วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518ไม่ได้ยกเลิกสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินฯ แต่อย่างใดเมื่อโจทก์ดำเนินการขอออกโฉนดที่ดินตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กฎหมายกำหนดโดยจำเลยที่ 2 ได้มีหนังสือแจ้งต่อผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อขอรังวัดออกโฉนดที่ดินเฉพาะรายโดยมิได้แจ้งการครอบครองว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะออกโฉนดที่ดินได้และเห็นควร ออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ได้ โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำการ รังวัดตรวจสอบรายละเอียดและดำเนินการตามระเบียบ ของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จำเลยทั้งสองจะปฏิเสธไม่ยอมออกโฉนดที่ดินพิพาทเพียงเพื่อให้โจทก์ไป ดำเนินการขอเอกสารสิทธิในที่ดินพิพาทตาม พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ อีก เพราะโจทก์มีสิทธิดำเนินการตามประมวลกฎหมายที่ดินฯ ได้อยู่แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันดำเนินการออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่ได้ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันออกโฉนดที่ดินให้อีกครั้ง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ดินของโจทก์อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน โจทก์ต้องไปดำเนินการขอออกเอกสารสิทธิตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518ขอให้ยกฟ้อง
ก่อนสืบพยานคู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า เดิมที่ดินพิพาทเป็นของนายพูน สงสุวรรณ ได้มาโดยการเข้าจับจองเมื่อประมาณปี 2494 แล้วครอบครองทำประโยชน์ตลอดมาปรากฏตาม ภ.บ.ท.5และแบบสำรวจเนื้อที่ดินเพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่เอกสารหมายจ.ล.2 และ จ.ล.3 นายพูนไม่ได้แจ้งการครอบครองที่ดินพิพาทตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497เพราะเป็นที่ดินหัวไร่ปลายนาจึงเข้าใจว่าเมื่อครอบครองทำประโยชน์แล้วก็จะได้สิทธิในที่ดิน จึงแจ้งการครอบครองเฉพาะที่นา ปรากฏตามบันทึกถ้อยคำเอกสารหมาย จ.ล.4 ถึง จ.ล.6 ปี 2510 นายพูนขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ แล้วโจทก์ก็เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมาปรากฏตามสัญญาซื้อขาย ภ.บ.ท.5 และใบเสร็จรับเงินภาษีบำรุงท้องที่เอกสารหมาย จ.ล.7 ถึง จ.ล.9เมื่อมีการประกาศกำหนดท้องที่และวันเริ่มต้นของการเดินสำรวจเพื่อออกโฉนดที่ดิน โจทก์ไม่ได้แจ้งการครอบครองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 27 ตรีเนื่องจากโจทก์เดินทางไปประกอบอาชีพที่อื่น แต่โจทก์ได้ไปพบพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อนำสำรวจรังวัดออกโฉนดที่ดินเมื่อมีการเดินสำรวจแล้ว แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ให้รออยู่ก่อน เมื่อไปพบตามกำหนดก็ได้รับแจ้งว่าหมดโครงการเดินสำรวจแล้วปรากฏตามบันทึกถ้อยคำเอกสารหมาย จ.ล.10 และ จ.ล.11 ปี 2531นายสุรินทร์ กุลโพธิ์ นำที่ดินพิพาทบางส่วนไปออกหลักฐานเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 9402 ตำบลวังโรงใหญ่ (กฤษณา) อำเภอสีคิ้วจังหวัดนครราชสีมา โจทก์จึงยื่นฟ้องต่อศาลขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าวจำเลยที่ 2 ดำเนินการตามคำพิพากษาแล้ว ปรากฏตามโฉนดที่ดินและคำพิพากษาเอกสารหมาย จ.ล.12 และ จ.ล.13 วันที่ 19 เมษายน 2536 โจทก์ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาท พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการสำรวจรังวัดพิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์แล้วจำเลยที่ 2 จึงทำเรื่องเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาให้ออกโฉนดที่ดินแก่โจทก์ปรากฏตามคำขอ รายงานการรังวัด และหนังสือสำนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สาขาสีคิ้วเอกสารหมาย จ.ล.14 ถึง จ.ล.17 แล้วจำเลยที่ 1 แจ้งแก่จำเลยที่ 2 ผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ถือปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า เมื่อมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินแล้ว และในเขตปฏิรูปที่ดินดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เข้าไปดำเนินการแล้วหรือยังไม่ได้เข้าไปดำเนินการก็ตาม พนักงานเจ้าหน้าที่จะออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินให้แก่ราษฎรที่ครอบครองและทำประโยชน์อยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับไม่ได้ถ้าราษฎรดังกล่าวไม่ได้แจ้งการครอบครองที่ดินตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 หรือมิได้แจ้งความประสงค์จะได้สิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 27 ตรี ไว้ก่อนมีการกำหนดเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ทั้งนี้ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในท้องที่อำเภอสีคิ้ว อำเภอสูงเนิน และอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2534 ใช้บังคับเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2534 ปรากฏตามพระราชกฤษฎีกา หนังสือของกรมที่ดินและหนังสือของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเอกสารหมาย จ.ล.18 ถึง จ.ล.22 สำหรับที่ดินแปลงอื่นซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับที่ดินพิพาทนั้น จำเลยที่ 2 ดำเนินการออกโฉนดที่ดินให้แล้ว ปรากฏตามโฉนดที่ดินและระวางแผนที่เอกสารหมาย จ.ล.23 และจ.ล.24 แล้ว คู่ความทั้งสองฝ่ายไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันดำเนินการออกโฉนดที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.ล.1 แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความแถลงรับกันฟังเป็นยุติว่า โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาจากนายพูน สงสุวรรณ เมื่อปี 2510 ที่ดินพิพาทนี้นายพูนครอบครองทำประโยชน์ติดต่อกันตลอดมาตั้งแต่ปี 2494 แต่นายพูนไม่ได้แจ้งการครอบครองที่ดินพิพาทตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทต่อเนื่องตลอดมา เมื่อมีการประกาศกำหนดท้องที่และวันเริ่มต้นของการเดินสำรวจเพื่อออกโฉนดที่ดิน โจทก์ไม่ได้แจ้งการครอบครองที่ดินพิพาทต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 27 ตรี เนื่องจากโจทก์เดินทางไปประกอบอาชีพที่อื่นแต่โจทก์ได้ไปพบพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อนำสำรวจรังวัดออกโฉนดที่ดินเมื่อมีการเดินสำรวจแล้ว แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ให้รออยู่ก่อนครั้นเมื่อไปพบตามกำหนดก็ได้รับแจ้งว่าหมดโครงการเดินสำรวจแล้วคดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองเพียงประการเดียวว่าการที่จำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์นั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่าข้อเท็จจริงที่โจทก์ให้ถ้อยคำตามบันทึกถ้อยคำเอกสารหมาย จ.ล.10 และตามเอกสารหมาย จ.ล.17 ที่จำเลยที่ 2 ได้ทำหนังสือแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาว่า เห็นควรออกโฉนดที่ดินในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์เป็นการเฉพาะรายแสดงว่าเหตุขัดข้องซึ่งทำให้ไม่มีการสำรวจรังวัดที่ดินพิพาทตามวันเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่ปิดประกาศ มิใช่เป็นความผิดของโจทก์ โจทก์จึงไม่ได้กล่าวอ้างลอย ๆ ตามที่จำเลยทั้งสองฎีกาแต่อย่างใด และโจทก์ได้นำเจ้าพนักงานที่ดินไปทำการรังวัดที่ดินพิพาทเพื่อขอออกโฉนดแล้ว ตามคำขอออกโฉนดที่ดินและรายงานการรังวัดเอกสารหมาย จ.ล.14 ถึง จ.ล.16 ถือได้ว่าโจทก์ยังประสงค์จะได้สิทธิในที่ดินพิพาทและเป็นผู้ปฏิบัติตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งยังไม่พ้นระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น การขอออกโฉนดที่ดินของโจทก์จึงเป็นกรณีผู้ตกค้างการแจ้งการครอบครองสามารถขอออกโฉนดเป็นการเฉพาะรายได้ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 ทวิ วรรคหนึ่ง
อนึ่ง พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518ไม่ได้ยกเลิกสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินแต่อย่างใดเมื่อปรากฏว่าโจทก์ดำเนินการขอออกโฉนดที่ดินตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนดโดยจำเลยที่ 2 ได้มีหนังสือแจ้งต่อผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เรื่องการขอรังวัดออกโฉนดที่ดินเฉพาะรายโดยมิได้แจ้งการครอบครอง ตามเอกสารหมาย จ.ล.17เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2537 ว่าที่ดินพิพาทอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะออกโฉนดที่ดินได้ เห็นควรออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ได้โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำการรังวัดตรวจสอบรายละเอียดและดำเนินการตามระเบียบของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติแล้วจึงไม่มีเหตุที่จำเลยทั้งสองจะปฏิเสธไม่ยอมออกโฉนดในที่ดินพิพาทเพียงเพื่อให้โจทก์ไปดำเนินการขอเอกสารสิทธิในที่ดินพิพาทตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 อีกเพราะโจทก์มีสิทธิดำเนินการตามประมวลกฎหมายที่ดินได้อยู่แล้วที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้วฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share