คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8625/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีมีข้อความว่า ผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยแก่ผู้ให้กู้สำหรับเงินกู้จำนวนที่ได้เบิกไป โดยมีกำหนดชำระเงินรายเดือนทุก ๆ เดือน ภายในวันสิ้นเดือน ในเวลาทำงานของผู้ให้กู้ แต่ถ้าวันถึงกำหนดชำระดอกเบี้ยเช่นว่านี้ตรงกับวันหยุดงานของผู้ให้กู้ ก็ให้เลื่อนไปชำระในวันเปิดทำงานที่ถัดไป ดังนั้น การคิดดอกเบี้ยทบต้นก่อนวันสิ้นเดือนจึงขัดกับข้อสัญญาเป็นการไม่ชอบ ทำให้มูลหนี้ความรับผิดของจำเลยตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง จึงต้องคิดคำนวนหนี้ของจำเลยในส่วนนี้ใหม่ โดยให้คิดดอกเบี้ยเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยทุกวันสิ้นเดือน แล้วนำดอกเบี้ยทบเข้ากับต้นเงินคงค้าง เพื่อถือเป็นต้นเงินของเดือนต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองเป็นเงิน 7,378,277.42 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงิน 6,950,548.16 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระหรือชำระหนี้ไม่ครบ ให้ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 7,378,277.42 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงิน 6,950,548.16 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 7 พฤศจิกายน 2538) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระหรือชำระไม่ครบ ให้ยึดที่ดินจำนองโฉนดเลขที่ 113 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบถ้วน และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์อย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีรวมสามฉบับ จำนวน 4,196,671.29 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2537 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินและสัญญาเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีเฉพาะสินเชื่อธนวัฏบัตรเครดิตรวมจำนวน 2,267,806.01 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงิน 1,953,435.89 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระหรือชำระหนี้ไม่ครบตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีรวมสามฉบับและสัญญากู้เงินดังกล่าว ให้ยึดที่ดินจำนองตามฟ้องพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ ถ้าได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้โจทก์จนครบถ้วน เฉพาะค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นให้จำเลยใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ฎีกาอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “… ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นก่อนวันสิ้นเดือนเป็นการไม่ชอบนั้น ปรากฏว่าตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี เอกสารหมาย จ. 4, จ. 8, จ. 12 ซึ่งแต่ละฉบับในข้อ 2 มีข้อความว่า ผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยแก่ผู้ให้กู้สำหรับเงินกู้จำนวนที่ได้เบิกไป โดยมีกำหนดชำระเงินรายเดือนทุก ๆ เดือน ภายในวันสิ้นเดือน ในเวลาทำงานของผู้ให้กู้ แต่ถ้าวันถึงกำหนดชำระดอกเบี้ยเช่นว่านี้ตรงกับวันหยุดงานของผู้ให้กู้ ก็ให้เลื่อนไปชำระในวันเปิดทำงานที่ถัดไป ดังนั้น การคิดดอกเบี้ยทบต้นก่อนวันสิ้นเดือนจึงขัดกับข้อสัญญาตามคำเบิกความของนายนรินทร์ ประกอบบัตรบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย จ. 15 ได้ความว่า เมื่อจำเลยทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ฉบับแรกในวันที่ 8 มกราคม 2533 แล้ว ได้มีการเดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์เรื่อยมา ในระหว่างสัญญามีการคิดดอกเบี้ยก่อนวันสิ้นเดือนหลายครั้ง เช่นในปี 2533 เดือนมกราคม ซึ่งมี 31 วัน โจทก์คิดดอกเบี้ยวันที่ 29 แล้วนำเข้าทบกับต้นเงินเพื่อคิดดอกเบี้ยในวันต่อไป เดือนกุมภาพันธ์โจทก์คิดดอกเบี้ยวันที่ 26 เดือนเมษายน โจทก์คิดดอกเบี้ยวันที่ 26 เดือนพฤษภาคมโจทก์คิดดอกเบี้ยวันที่ 28 ปี 2534 เดือนตุลาคมโจทก์คิดดอกเบี้ยวันที่ 28 ปี 2535 เดือนเมษายนโจทก์คิดดอกเบี้ยวันที่ 27 เป็นต้น ดังนั้นการคิดดอกเบี้ยของโจทก์จึงขัดกับข้อสัญญาเป็นการไม่ชอบ ทำให้มูลหนี้ความรับผิดของจำเลยตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง จึงต้องคิดคำนวณหนี้ของจำเลยในส่วนนี้ใหม่ โดยให้คิดดอกเบี้ยเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยทุกวันสิ้นเดือน แล้วนำดอกเบี้ยทบเข้ากับต้นเงินคงค้าง เพื่อถือเป็นต้นเงินของเดือนต่อไป ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น…”
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับหนี้เงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับลงวันที่ 8 มกราคม 2533 วันที่ 3 กันยายน 2533 วันที่ 25 ตุลาคม 2534 ทั้งสามฉบับให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ โดยคิดจำนวนหนี้สินคงค้างใหม่ ให้โจทก์คิดคำนวณดอกเบี้ยเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยทุกวันสิ้นเดือน แล้วนำดอกเบี้ยทบเข้ากับต้นเงินคงค้าง เพื่อถือเป็นต้นเงินของเดือนต่อไปเช่นนี้ทุกเดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2533 หากวันสิ้นเดือนตรงกับวันหยุดงานของโจทก์ ก็ให้เลื่อนไปชำระในวันเปิดทำงานที่ถัดไป ส่วนอัตราดอกเบี้ยและการเคลื่อนไหวในบัญชีเดินสะพัดในการฝากและเบิกถอนให้เป็นไปตามหลักฐานที่ปรากฏในบัตรบัญชีเอกสารหมาย จ. 15 และให้คิดดอกเบี้ยทบต้นไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2537 เมื่อได้จำนวนเงินเท่าใดแล้วหลังจากนั้นให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี แบบไม่ทบต้นนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีทั้งสามฉบับแก่โจทก์เสร็จสิ้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share