แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยกระทำความผิดเพียงฝ่าฝืนคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัด ที่สั่งห้ามเลี้ยงกุ้งกุลาดำระบบความเค็มต่ำภายใน พื้นที่จังหวัด เครื่องยนต์ ชุดเกียร์ปั่นน้ำ ชุดแกนเหล็กติดใบพันใช้ตีน้ำ ทุ่นรองแกนเหล็กของกลางล้วนเป็นเครื่องมือที่ใช้ประกอบอาชีพเลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้ง เป็นเครื่องมือประกอบอาชีพทั่วไป มิใช่เครื่องมือที่มีไว้จะเป็นความผิดในตัวโดยตรงซึ่งตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ก็ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการริบทรัพย์ไว้โดยเฉพาะ จึงต้องอาศัยบทบัญญัติการริบทรัพย์สินตาม ป.อ. มาตรา 33 จึงเป็นดุลพินิจของศาลที่จะริบหรือไม่ก็ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๔, ๙, ๙๘ ป.อ. มาตรา ๓๓, ๓๗ กับริบทรัพย์ดังกล่าว และสั่งให้จำเลยส่งทรัพย์สินที่ริบให้แก่พนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๔, ๙, ๙๘ วรรคสอง จำคุก ๑ ปี ๖ เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๙ เดือน ริบทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้อง และให้จำเลยส่งทรัพย์ที่ริบแก่พนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๗ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลย ๑๐๐,๐๐๐ บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา ๗๘ แล้วคงปรับ ๕๐,๐๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ ๒ ปี ตาม ป.อ. มาตรา ๕๖ ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา ๒๙, ๓๐ ในกรณีที่มีการกักขังแทนค่าปรับก็ให้กักขังได้เกิน ๑ ปี แต่ไม่เกิน ๒ ปี ไม่ริบทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว ปัญหาว่าควรริบทรัพย์ของกลางตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้อง หรือไม่นั้น เห็นว่าของกลางคดีนี้ มีเครื่องยนต์ยี่ห้อยันมาร์ ยี่ห้อนิสสัน ชุดเกียร์ปั่นน้ำ ชุดแกนเหล็กติดใบพันใช้ตีน้ำ ทุ่นรองแกนเหล็กฯ ล้วนเป็น เครื่องมือที่ใช้ประกอบอาชีพเลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้ง เป็นเครื่องมือประกอบอาชีพทั่วไป มิใช่เครื่องมือที่มีไว้จะเป็นความผิดในตัวโดยตรงซึ่งตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติก็ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการริบทรัพย์ของกลางไว้โดยเฉพาะ จึงต้องอาศัยบทบัญญัติการริบทรัพย์สินตาม ป.อ. มาตรา ๓๓ ซึ่งเป็นดุลพินิจของศาลที่จะริบหรือไม่ก็ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๗ ใช้ดุลพินิจไม่ริบของกลาง คดีนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาส่วนนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่าให้คุมความประพฤติของจำเลยไว้มีกำหนด ๑ ปี โดยให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมความประพฤติทุก ๓ เดือนต่อครั้งและให้จำเลยทำงานบริการสังคมหรืองานเพื่อสาธารณะประโยชน์ตามจำนวนและกำหนดระยะเวลาที่เจ้าพนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๗