คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7355/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯ มาตรา 112 ในกรณีที่มีปัญหาค่าอากรสำหรับของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร ผู้นำเข้าสามารถนำหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาวางแทนการวางเงินเพิ่มเติมเป็นประกันก็ได้ และนำสินค้าออกไปจากอารักขาของศุลกากร ทั้งนี้ ก็เพื่อความสะดวกแก่ผู้นำเข้าเองโดยไม่ต้องนำของนั้นไปยังศุลกสถานหรือเก็บไว้ในที่มั่นคงแห่งใด ส่วนการที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะชักตัวอย่างของไว้วินิจฉัยปัญหาเพื่อเปรียบเทียบราคาตลาดกับสินค้าที่มีชนิด คุณภาพ ปริมาณ น้ำหนัก อย่างเดียวกัน แม้พนักงานเจ้าหน้าที่จะมิได้ชักตัวอย่างสินค้าไว้ ก็เป็นภาระของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่จะต้องพิสูจน์ให้ได้ความว่าจำเลยที่ 1 สำแดงราคาสินค้าพิพาทต่ำกว่าราคาตลาด หามีผลทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นไปโดยมิชอบไม่
จำเลยทั้งสองมิได้ให้การว่า การที่พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นสำนักงานจำเลยที่ 1 แล้วยึดเอกสารมาประเมินสินค้านั้น เป็นกรณีไม่มีเหตุที่จะออกหมายค้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 69 หมายค้นที่ออกไม่ชอบด้วยกฎหมาย พยานหลักฐานที่ได้มาจากการตรวจค้นจึงไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้การที่จำเลยทั้งสองเพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ว่า พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นสำนักงานจำเลยที่ 1 แล้วยึดเอกสารมาประเมินราคาสินค้า เป็นการไม่ชอบ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ในการพิจารณาสืบพยานนั้น เป็นดุลพินิจของศาลในการจดบันทึกคำพยานข้อความที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ขอให้ศาลจดบันทึกนั้นเป็นรายละเอียดที่มีอยู่ในเอกสารแล้วศาลจึงไม่จำต้องบันทึกอีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินภาษีอากรและเงินเพิ่มเป็นเงิน102,614.96 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง กับให้จำเลยทั้งสองชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ1 ต่อเดือนจากอากรขาเข้าเป็นเงิน 9,755.24 บาท เงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน ของภาษีการค้าเป็นเงิน 1,215.20 บาท และภาษีบำรุงเทศบาลเป็นเงิน121.52 บาท จนกว่าจำเลยทั้งสองชำระภาษีอากรและเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ทั้งสองครบถ้วน แต่ไม่เกินจำนวนภาษีอากรที่จำเลยทั้งสองจะต้องชำระ

จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้พิพากษายกฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน95,206.22 บาท กับเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของอากรขาเข้าจำนวน 9,755.24 บาท นับแต่วันที่ 22 มีนาคม 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จและเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของภาษีการค้าจำนวน 1,215.20 บาท นับแต่วันที่ 22 มีนาคม 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่เงินเพิ่มที่คำนวณได้ต้องไม่เกินกว่าเงินจำนวน 1,215.20 บาท และเงินเพิ่มภาษีบำรุงเทศบาลในอัตราร้อยละสิบของเงินเพิ่มภาษีการค้าที่คำนวณได้

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์จำเลยทั้งสองว่า จำเลยที่ 1 ได้รับแจ้งการประเมินอากรขาเข้าและภาษีการค้าตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 21 และแผ่นที่ 21/1 หรือไม่ โจทก์มีนางฉันท์ลินี โรจน์วัฒนวงศ์ เป็นพยานเบิกความว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ได้ส่งแบบแจ้งการประเมินตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 21 และ 21/1 ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับตามใบตอบรับของการสื่อสารแห่งประเทศไทย เอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 22 ส่วนจำเลยมีจำเลยที่ 2 เบิกความว่าจำเลยที่ 1 ไม่เคยได้รับแบบแจ้งการประเมิน เห็นว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ส่งแบบแจ้งการประเมินตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 21 และ 21/1 ไปยังภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ตามที่จดทะเบียนโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ และมีนายชัยรัตน์เป็นผู้รับแบบแจ้งการประเมินไว้ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 22 จึงถือว่าจำเลยที่ 1 ได้รับแบบแจ้งการประเมินตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 21 และ 21/1 แล้ว ส่วนที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่าเลขที่หนังสือในใบตอบรับเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 22 เป็นคนละเลขที่กับแบบแจ้งการประเมินเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 21 และ 21/1 นั้น เห็นว่า ตามแบบแจ้งการประเมินเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 21 และ 21/1 ระบุเลขที่หนังสือที่ กค 0617(ก)/1340124 และที่ กค 0617(ก)/1340125 ตามลำดับ ตรงกับในใบตอบรับซึ่งระบุเลขที่ กค 0617/1340124-5 ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 22 โดยมีนายชัยรัตน์เป็นผู้รับแบบแจ้งการประเมิน ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า เลขที่ในแบบแจ้งการประเมินและใบตอบรับถูกต้องแล้ว ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์จำเลยทั้งสองต่อไปมีว่าการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 ที่ให้ยึดสินค้าจำเลยที่ 1 ไปเก็บไว้ยังศุลกสถานเพื่อวินิจฉัยว่าราคาสินค้าที่จำเลยที่ 1สำแดงถูกต้องหรือไม่นั้น พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 บัญญัติว่า”ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่ามีปัญหาเกี่ยวกับจำนวนค่าอากรสำหรับของที่กำลังผ่านศุลกากร ให้นำของนั้นไปยังศุลกสถานหรือนำไปเก็บไว้ในที่มั่นคงแห่งใดแห่งหนึ่งเว้นแต่พนักงานเจ้าหน้าที่และเจ้าของหรือตัวแทนจะตกลงกันยอมให้เอาแต่ตัวอย่างของไว้วินิจฉัยปัญหาและเพื่อรักษาประโยชน์รายได้ของแผ่นดินให้ชำระอากรตามจำนวนที่ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออก แล้วแต่กรณีสำแดงไว้ในใบขนสินค้า และให้วางเงินเพิ่มเติมเป็นประกันจนครบกำหนดเงินอากรสูงสุดที่อาจจะพึงต้องเสียสำหรับของนั้น แต่อธิบดีจะประกาศกำหนดให้รับการค้ำประกันของกระทรวงการคลัง หรือธนาคารแทนการวางเงินเพิ่มเติมเป็นประกันดังกล่าว โดยอาจกำหนดให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เห็นสมควรก็ได้” เห็นว่าในกรณีที่มีปัญหาค่าอากรสำหรับของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร ผู้นำเข้าสามารถนำหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาวางแทนการวางเงินเพิ่มเติมเป็นประกันก็ได้และนำสินค้าออกไปจากอารักขาของศุลกากร ทั้งนี้ ก็เพื่อความสะดวกแก่ผู้นำเข้าเองโดยไม่ต้องนำของนั้นไปยังศุลกสถานหรือเก็บไว้ในที่มั่นคงแห่งใด ส่วนการที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะชักตัวอย่างของไว้วินิจฉัยปัญหาก็เพื่อเปรียบเทียบราคาตลาดกับสินค้าที่มีชนิดคุณภาพ ปริมาณ น้ำหนัก อย่างเดียวกัน แม้พนักงานเจ้าหน้าที่จะมิได้ชักตัวอย่างสินค้าไว้ก็เป็นภาระของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่จะต้องพิสูจน์ให้ได้ความว่า จำเลยที่ 1 สำแดงราคาสินค้าพิพาทต่ำกว่าราคาตลาด หามีผลทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นไปโดยมิชอบไม่ ส่วนที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า การที่พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นสำนักงานจำเลยที่ 1 แล้วยึดเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 26 มาประเมินราคาสินค้าจำเลยที่ 1 เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า ตามคำให้การของจำเลยทั้งสองนั้น จำเลยทั้งสองมิได้ให้การว่า ไม่มีเหตุที่จะออกหมายค้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 69 เพราะสินค้าของจำเลยได้ผ่านศุลกากรไปแล้ว หมายค้นที่ออกจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายพยานหลักฐานที่ได้มาจากการตรวจค้นจึงไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในศาลได้ จำเลยทั้งสองเพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่จำเลยทั้งสองระบุพยานเพิ่มเติมตามคำร้องลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2542 โดยอ้างว่าจำเลยที่ 2 เพิ่งมีโอกาสพบกับพันตำรวจเอกสุเทพ พรหมใจรักษ์ และเพิ่งค้นพบคำร้องอุทธรณ์นั้น เห็นว่า จำเลยทั้งสองมิได้อ้างเหตุตามข้อกำหนดคดีภาษีอากร พ.ศ. 2539 ที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้องนั้นชอบแล้ว และที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ขอให้ศาลฎีกาสั่งให้ศาลภาษีอากรกลางสืบพยานปากนายถาวร โอฬารานนท์ จำเลยที่ 2 ในข้อที่ศาลภาษีอากรกลางไม่ได้จดบันทึกไว้เสียใหม่นั้น เห็นว่า ในการพิจารณาสืบพยานนั้นเป็นดุลพินิจของศาลในการจดบันทึกคำพยาน ข้อความที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ขอให้ศาลจดบันทึกนั้นเป็นรายละเอียดที่มีอยู่ในเอกสารแล้ว จึงไม่จำต้องบันทึกอีก ศาลภาษีอากรกลางใช้ดุลพินิจสั่งชอบแล้ว ส่วนที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่าการที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 นำเอกสารหมาย จ.1แผ่นที่ 26 มาใช้เป็นหลักในการประเมินราคาสินค้าโดยถือว่าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดได้หรือไม่นั้น เห็นว่า โจทก์มีนายไพศาล ชื่นจิตร และนายสมคิด เดชโต เบิกความเป็นพยานว่าได้ค้นพบบัญชีราคาสินค้าของปี 2532 ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 26 และพบว่าในปีเดียวกันจำเลยที่ 1 นำสินค้าเข้า 2 ครั้ง ตามใบขนเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 10 กับเอกสารประกอบแผ่นที่ 11 ถึง 14 และเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 16 กับเอกสารประกอบแผ่นที่ 17 ถึง 19 เมื่อตรวจสอบเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 26 กับใบขนสินค้าขาเข้าทั้งสองฉบับพบว่าจำเลยที่ 1 สำแดงราคาต่ำจึงเชิญจำเลยที่ 2 ไปสอบถาม จำเลยที่ 2 รับว่าสำแดงราคาต่ำกว่าราคาที่แท้จริง และได้ทำบันทึกปากคำไว้ตามเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 2 ถึง 4 พนักงานเจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อหาจำเลยที่ 1 ว่า สำแดงเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงอากรตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 และ 99 จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอระงับคดีตามเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 8 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองสำแดงราคาสินค้าที่นำเข้าต่ำกว่าราคาท้องตลาดจริง จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่าคำให้การของจำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 2 ถึง 4 และคำร้องขอทำความตกลงระงับคดีเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 8 และ 9 นั้น ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้เพราะมิได้เกิดจากความสมัครใจของจำเลยทั้งสองนั้น เห็นว่า ความสมัครใจของจำเลยที่ 2 เป็นอย่างไร จำเลยที่ 2 เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวจะนำมาหักล้างพยานหลักฐานที่จำเลยที่ 2 กระทำหาได้ไม่ อุทธรณ์จำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share