แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยรู้ว่ามิได้มีการกระทำผิดในข้อหาลักทรัพย์เกิดขึ้นแต่กลับไปแจ้งความแก่พนักงานสอบสวนว่าได้มีการกระทำผิดในข้อหาลักทรัพย์อันเป็นเท็จเพื่อให้พนักงานสอบสวนเชื่อว่าได้มีความผิดข้อหาลักทรัพย์เกิดขึ้นเพื่อให้โจทก์ร่วมได้รับโทษ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 137 มาตรา 174 วรรคสอง ประกอบมาตรา 173 จำเลยยังมีเจตนาแจ้งความเพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่โจทก์ร่วมอันเป็นการใส่ความโจทก์ร่วมต่อบุคคลที่สามเพื่อให้โจทก์ร่วมถูกดูหมิ่น เกลียดชังและเสียชื่อเสียง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมอีกด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2542 เวลากลางวัน จำเลยซึ่งรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น ได้แจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่ร้อยตำรวจโทรัชทพงศ์ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลภาษีเจริญ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าขณะจำเลยพักอยู่บ้านพักได้มีนางสาวรำพึงฯ (นางสาวลำพึง) มาที่บ้านจำเลยและมีปากเสียงกัน นางสาวรำพึงได้ผลักจำเลยล้มลงบริเวณทางเท้า จำเลยจึงลุกขึ้นมาเพื่อจะผลักนางสาวรำพึง แต่นางสาวรำพึงได้กระชากคอเสื้อจำเลย จำเลยได้ดึงผมของนางสาวรำพึงจนทั้งคู่ตกลงไปในคูน้ำครำ จากนั้นจำเลยได้ยินเสียงคนตะโกนมาทางจำเลยว่า นั้นสร้อยใคร เงินใครตกอยู่ จำเลยได้หันไปดูพบว่านางสาวรำพึงหยิบเอาสร้อยคอทองคำและเงิน 100 บาท ไปแล้ววิ่งหนีไปบ้านของนางสาวรำพึง จำเลยจึงติดตามเพื่อจะไปเอาสร้อยคืนจากนางสาวรำพึง เมื่อไปถึงบ้านนางสาวรำพึงเพื่อเอาสร้อยคอทองคำและเงินคืน นางสาวรำพึงจึงโยนสร้อยคอทองคำให้แก่จำเลย จำเลยหยิบสร้อยดู พร้อมพูดว่าสร้อยได้ขาดหายและพระเครื่องเลี่ยมทองคำ จำนวน 1 องค์ ซึ่งติดอยู่ที่สร้อยคอได้หายไป ต่อมาจำเลยไปติดตามหาสร้อยคอทองคำที่เกิดเหตุ ปรากฏว่าไม่พบสร้อยคอทองคำที่เหลือ จำเลยจึงมาแจ้งความแก่พนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีต่อไป ซึ่งการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าวเป็นการแจ้งแก่พนักงานสอบสวนและผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาว่าได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นเพื่อจะแกล้งให้นางสาวลำพึงหรือรำพึงผู้เสียหายต้องรับโทษหรือรับโทษหนักขึ้น ความจริงมิได้เป็นดังที่จำเลยแจ้ง ผู้เสียหายมิได้ลักทรัพย์เอาสร้อยคอทองคำพร้อมพระเครื่องเลี่ยมทองคำ (ทราบต่อมาภายหลังว่าเป็นหลวงพ่อเกษม) ของจำเลยไป การแจ้งข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหายและเป็นการใส่ความผู้เสียหายต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 173, 174, 326, 90
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางสาวลำพึงหรือรำพึง ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, มาตรา 174 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 173, มาตรา 326 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามมาตรา 174 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 173 อันเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษจำคุก 2 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2542 เวลาประมาณ 17 นาฬิกา โจทก์ร่วมและจำเลยต่างมีปากเสียงทะเลาะวิวาทตบตีกันจนทั้งสองฝ่ายตกลงไปในน้ำครำข้างทางและทรัพย์สินของทั้งสองฝ่ายสูญหายไปกล่าวคือโจทก์ร่วมอ้างว่าตุ้มหูทองคำ 1 ข้างและแหวนเพชร 1 วง หายไป ส่วนจำเลยอ้างว่าสร้อยคอทองคำ 1 เส้น พร้อมพระเครื่องเลี่ยมทองคำ 1 องค์ หายไปเช่นกัน หลังจากนั้นโจทก์ร่วมและจำเลยไปที่สถานีตำรวจนครบาลภาษีเจริญและแจ้งให้ร้อยตำรวจโทรัชทพงศ์ พนักงานสอบสวนดำเนินคดีและให้ชดใช้ราคาทรัพย์สินที่สูญหายไปของแต่ละฝ่าย ร้อยตำรวจโทรัชทพงศ์ พนักงานสอบสวนเห็นว่าเป็นการสมัครใจทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน จึงแจ้งข้อหาแก่โจทก์ร่วมและจำเลยว่าใช้กำลังประทุษร้ายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย โจทก์ร่วมและจำเลยยินยอมให้ร้อยตำรวจโทรัชทพงศ์พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับคนละ 100 บาท และร้อยตำรวจโทรัชทพงศ์แจ้งให้ทั้งสองฝ่ายทราบว่า สำหรับทรัพย์สินที่สูญหายไปนั้นให้ไปฟ้องทางแพ่งต่อไป ตามสำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานเอกสารหมาย จ.1 ต่อมาในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2542 จำเลยไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อร้อยตำรวจโทรัชทพงศ์พนักงานสอบสวนอีกว่าในวันเกิดเหตุดังกล่าว หลังจากโจทก์ร่วมและจำเลยตกลงไปในคูน้ำ จำเลยได้ยินเสียงคนตะโกนมาทางจำเลยว่า นั้นสร้อยใคร เงินใครตกอยู่ จำเลยหันไปดูพบว่าโจทก์ร่วมหยิบเอาสร้อยคอทองคำและเงิน 100 บาท ไป แล้ววิ่งหนีไปที่บ้านของโจทก์ร่วม จำเลยติดตามไปเอาสร้อยคอทองคำคืนจากโจทก์ร่วม เมื่อถึงบ้านโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมโยนสร้อยคอทองคำให้แก่จำเลย จำเลยหยิบดูพร้อมพูดว่าสร้อยคำทองคำได้ขาดหายไปบางส่วนและพระเครื่องเลี่ยมทอง 1 องค์ ได้หายไปด้วย จำเลยไปหาสร้อยคอทองคำในที่เกิดเหตุแต่ไม่พบ จึงได้ไปแจ้งความแก่พนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดี ตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.6 พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่โจทก์ร่วมในข้อหาลักทรัพย์ โจทก์ร่วมให้การปฏิเสธ พนักงานสอบสวนมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีดังกล่าว แต่พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องโจทก์ร่วมในข้อหาลักทรัพย์ต่อศาลแขวงตลิ่งชัน ศาลพิจารณาพิพากษายกฟ้องเพราะพยานโจทก์มีข้อพิรุธน่าสงสัยและขัดต่อเหตุผล จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย (โจทก์ร่วมคดีนี้) ตามสำเนาคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4915/2543 เอกสารหมาย จ.14 โจทก์ร่วมจึงแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยเป็นคดีนี้ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมมีว่าจำเลยมีความผิดฐานหมิ่นประมาทกับแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงานซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นเสียหาย และแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวนเสียหายต้องรับโทษตามฟ้องโจทก์หรือไม่ เห็นว่า มูลเหตุคดีนี้เกิดจากโจทก์ร่วมและจำเลยต่างมีปากเสียงทะเลาะวิวาทตบตีกันจนทั้งสองฝ่ายตกลงไปในคูน้ำครำข้างทางและทรัพย์สินทั้งสองฝ่ายสูญหายไป ทั้งสองฝ่ายต่างไปแจ้งความกล่าวหาอีกฝ่ายหนึ่งในวันเกิดเหตุ ร้อยตำรวจโทรัชทพงศ์พนักงานสอบสวนได้เปรียบเทียบปรับทั้งสองฝ่ายในข้อหาใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นเหตุเกิดอันตรายแก่กาย ส่วนทรัพย์สินที่สูญหายทั้งสองฝ่ายต่างจะไปฟ้องกันทางแพ่งต่อไป จำเลยมิได้แจ้งความเพื่อให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ร่วมในข้อหาลักทรัพย์แต่ประการใด หลังจากเกิดเหตุแล้วเป็นเวลาเดือนกว่า จำเลยจึงไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อร้อยตำรวจโทรัชทพงศ์พนักงานสอบสวนอีกว่า เหตุทะเลาะวิวาทกันในครั้งนั้น จำเลยเห็นโจทก์ร่วมหยิบเอาสร้อยคอทองคำของจำเลยแล้ววิ่งหนีไป จำเลยจึงได้ติดตามไปเอาสร้อยคอทองคำคืนจากโจทก์ร่วมที่บ้านของโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมได้โยนสร้อยคอทองคำที่ขาดให้แก่จำเลยและจำเลยได้ไปตามหาสร้อยคอทองคำที่เหลือพร้อมพระเครื่องเลี่ยมทองคำในที่เกิดเหตุ แต่ไม่พบ ข้อเท็จจริงที่จำเลยแจ้งเพิ่มเติมดังกล่าวนี้ ทางฝ่ายโจทก์และโจทก์ร่วมมีตัวโจทก์ร่วม นายโสภณกับนางสาวจิรภัทร์ ผู้เห็นเหตุการณ์และร้อยตำรวจโทรัชทพงศ์พนักงานสอบสวนเป็นพยานเบิกความว่า ในวันเกิดเหตุโจทก์ร่วมและจำเลยต่างหาทรัพย์สินของตนที่สูญหายไปในที่เกิดเหตุแต่ไม่มีฝ่ายใดหาทรัพย์สินพบและไม่ปรากฏว่ามีเหตุการณ์เกี่ยวกับโจทก์ร่วมหยิบเอาสร้อยคอทองคำของจำเลยซึ่งตกอยู่ในที่เกิดเหตุไป โจทก์ร่วมมิได้ลักทรัพย์สร้อยคอทองคำและพระเครื่องเลี่ยมทองคำตามที่จำเลยได้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวหาต่อพนักงานสอบสวน อีกทั้งในครั้งแรก จำเลยไม่ได้แจ้งความว่าโจทก์ร่วมลักทรัพย์ดังกล่าวไป ส่วนจำเลยมีตัวจำเลยเบิกความว่า โจทก์ร่วมหยิบเศษสร้อยคอทองคำของจำเลยไปแล้ววิ่งหนีกลับไปที่บ้านจำเลยไปทวงคืน โจทก์ร่วมโยนสร้อยคอทองคำที่ขาดให้แก่จำเลย โดยจำเลยมีเด็กชายพินิจมาเบิกความสนับสนุนว่า เห็นโจทก์ร่วมกับจำเลยทะเลาะกันตกลงไปในคูน้ำครำข้างทาง โจทก์ร่วมขึ้นมาจากน้ำคนแรกและได้หยิบเศษสร้อยคอทองคำที่ตกอยู่แล้วกลับไปที่บ้านทันที จำเลยขึ้นจากน้ำวิ่งตามไปทันเพื่อทวงสร้อยคอทองคำคืนและจำเลยกลับมาในที่เกิดเหตุบอกว่า ผู้ใดหาสร้อยคอทองคำส่วนที่เหลือพร้อมพระเครื่องเลี่ยมทองคำได้แล้วจะให้รางวัล 1,000 บาท พยานโจทก์และโจทก์ร่วมในคดีนี้คือนายโสภณ นางจิรภัทร์ และร้อยตำรวจโทรัชทพงศ์ ต่างก็เป็นพยานในคดีที่โจทก์ถูกฟ้องในความผิดฐานลักทรัพย์นอกจากนี้ในคดีดังกล่าวยังมีนายสมพงษ์ ผู้รู้เห็นเหตุการณ์มาเบิกความเป็นพยานด้วย โดยพยานทั้งหมดดังกล่าวต่างไม่ได้เบิกความยืนยันข้อเท็จจริงดังที่จำเลยมาแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ทั้งๆ ที่พยานโจทก์ดังกล่าวอยู่ในเหตุการณ์นี้ด้วย และจำเลยมิได้ให้ข้อเท็จจริงนี้ในครั้งแรกแต่ประการใด แม้ในคดีนี้จำเลยจะมีเด็กชายพินิจมาเบิกความสนับสนุนจำเลย แต่เด็กชายพินิจไม่เคยไปให้การในชั้นสอบสวนในคดีนี้และคดีที่โจทก์ร่วมถูกฟ้อง ทั้งไม่เคยไปเป็นพยานในคดีที่โจทก์ร่วมถูกฟ้องด้วยคงมาเบิกความเป็นพยานสนับสนุนจำเลยในคดีนี้เป็นครั้งแรก ดังนั้น คำเบิกความของเด็กชายพินิจย่อมไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ ข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์ร่วมหยิบเอาเศษสร้อยคอทองคำของจำเลยไปจึงคงมีแต่คำของจำเลยเพียงผู้เดียวโดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดสนับสนุน เหตุที่สร้อยคอทองคำพร้อมเครื่องพระเลี่ยมทองคำของจำเลยสูญหายไปเพราะเกิดจากการทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกันระหว่างจำเลยกับโจทก์ร่วมและตกไปในคูน้ำครำข้างทาง การที่จำเลยยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าวว่าจำเลยเห็นโจทก์ร่วมหยิบเอาเศษสร้อยคอทองคำของจำเลยไปและได้แจ้งความแก่พนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีโจทก์ร่วมในข้อหาลักทรัพย์จึงเป็นข้อความอันเป็นเท็จ โดยจำเลยรู้ดีว่ามิได้มีการกระทำผิดในข้อหาลักทรัพย์เกิดขึ้น แต่กลับไปแจ้งความแก่พนักงานสอบสวนดังกล่าวว่าได้มีการกระทำผิดข้อหาลักทรัพย์อันเป็นเท็จดังกล่าวเพื่อให้พนักงานสอบสวนเชื่อว่าได้มีความผิดข้อหาลักทรัพย์เกิดขึ้นเพื่อให้โจทก์ร่วมได้รับโทษ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 มาตรา 174 วรรคสอง ประกอบมาตรา 173 นอกจากนี้ จำเลยยังมีเจตนาแจ้งความเพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่โจทก์ร่วมอันเป็นการใส่ความโจทก์ร่วมต่อบุคคลที่สามเพื่อให้โจทก์ร่วมถูกดูหมิ่น เกลียดชังและเสียชื่อเสียง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมอีกด้วย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังขึ้น แต่ตามพฤติการณ์แห่งคดีไม่ใช่เรื่องร้ายแรงนัก ประกอบกับจำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนยังอยู่ในวิสัยที่พนักงานคุมประพฤติจะแก้ไขฟื้นฟูให้จำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีได้ ศาลฎีกาเห็นสมควรรอการลงโทษกับให้ปรับจำเลยอีกสถานหนึ่งและคุมประพฤติจำเลยไว้ด้วย”
พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 มาตรา 174 วรรคสอง ประกอบมาตรา 173 และมาตรา 326 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามมาตรา 174 วรรคสอง ประกอบมาตรา 173 อันเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี ปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกรอไว้มีกำหนด 2 ปี และคุมความประพฤติจำเลย 2 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 3 ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรกำหนด ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30