คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2604/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ว่าผู้ตายเป็นผู้ออกคำสั่งให้จำเลยถอนรถ จำเลยจะต้องพิจารณาว่าการถอยรถในลักษณะเช่นนั้นปลอดภัยหรือไม่ การนำขดลวดสายไฟฟ้าลงจากรถยนต์บรรทุกคันหนึ่งโดยวิธีใช้เหล็กท่อน้ำให้ปลายข้างหนึ่งยันขดลวดสายไฟฟ้า และปลายอีกข้างหนึ่งยันที่กระบะท้ายรถยนต์บรรทุกอีกคันหนึ่งที่จำเลยขับ ผู้ตายจับเหล็กท่อน้ำไว้ระหว่างกระบะท้าย รถยนต์บรรทุกทั้งสองคัน แล้วให้จำเลยเดินเครื่องยนต์ถอยรถเพื่อให้แรงของรถยนต์บรรทุกที่จำเลยขับถอยหลังนี้ดันเหล็กท่อน้ำ เพื่อเหล็กท่อน้ำจะได้ดันให้ขดลวดสายไฟฟ้าเคลื่อนที่จากแนวขวางเป็นแนวตรงนั้น เป็นวิธีที่ไม่ปลอดภัย เพราะถ้าเหล็กท่อน้ำหลุดจากขดลวดสายไฟฟ้าหรือจากกระบะท้ายรถยนต์บรรทุกที่ยันหรือจากมือผู้ตาย กระบะท้ายรถยนต์บรรทุกที่จำเลยขับก็จะอัดผู้ตายเข้ากับกระบะท้ายรถยนต์บรรทุกอีกคันหนึ่ง การถอยรถของจำเลยจึงเป็นความประมาทปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นจำเลยจะต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และจำเลยอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่
ตามพฤติการณ์แห่งคดี เป็นการทำงานร่วมกันของผู้ตายกับจำเลยและผู้ตายมีส่วนประมาทด้วย ประกอบกับมีการชดใช้ค่าเสียหายให้แก่มารดาของผู้ตายจนเป็นที่พอใจ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน สมควรให้จำเลยกลับตัวโดยให้รอการลงโทษจำคุก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ขับรถยนต์บรรทุกถอยหลังในลักษณะที่ท้ายรถยนต์หันเข้าหากันกับรถยนต์บรรทุกอีกคันหนึ่งซึ่งจอดอยู่ เพื่อดันวงล้อขดลวดสายไฟฟ้าซึ่งอยู่บนรถยนต์บรรทุกคันที่จอดให้วงล้อหันไปในทิศทางที่สะดวกกับการขนลงจากรถ โดยใช้เหล็กท่อน้ำยาวประมาณ ๒ เมตร ยันไว้ที่ท้ายกระบะรถยนต์ที่จำเลยขับและปลายอีกข้างหนึ่งยันที่วงล้อขดลวดสายไฟฟ้าแล้วจำเลยเร่งเครื่องยนต์ถอยโดยแรงโดยมิได้ใช้ความระมัดระวังดูให้ปลอดภัยเสียก่อนว่ามีใครอยู่ระหว่างท้ายรถยนต์บรรทุกทั้งสองคันหรือไม่ จำเลยอาจใช้ความระมัดระวังในลักษณะดังกล่าวได้ แต่หาใช้ให้เพียงพอไม่ เป็นเหตุให้รถยนต์บรรทุกที่จำเลยขับดับตัวนายวิมล แสวงวิทย์ ซึ่งอยู่ระหว่างท้ายรถทั้งสองคันอัดกับท้ายรถยนต์บรรทุกคันที่จอดอยู่โดยแรงเป็นเหตุให้นายวิมลถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๙๑
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๙๑ จำคุก ๑ ปี ๖ เดือน คำเบิกความของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๗๘ คงจำคุกจำเลย ๑ ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า วันเวลาเกิดเหตุ ห้างหุ้นส่วนจำกัดภูเก็ตแหลมทองขนส่ง ได้สั่งให้จำเลยกับนายสมหมาย เดชากุล ขับรถยนต์บรรทุกขดลวดสายไฟฟ้าจำนวน ๒ คัน ไปส่งที่โรงแรมเพิร์ลวิลเล็จนายวิมล แสวงวิทย์ ผู้ตาย ซึ่งมีหน้าที่ขนของลงจากรถไปกับจำเลยด้วยเมื่อรถทั้งสองคันไปถึงโรงแรมผู้ตายต้องการให้ขดลวดสายไฟฟ้าที่วางขวางอยู่บนรถหันไปตามความยาวของรถเพื่อสะดวกในการขนส่ง จึงสั่งให้จำเลยจอดรถโดยหันท้ายรถเข้าหาท้ายรถที่นายสมหมายขับให้ห่างกันประมาณ ๑ เมตร หลังจากนั้นผู้ตายใช้เหล็กท่อน้ำยันขดลวดสายไฟฟ้าที่วางขวางอยู่บนรถที่นายสมหมายขับ ส่วนอีกด้านหนึ่งยันที่กระบะท้ายรถที่จำเลยขับ ผู้ตายจับเหล็กท่อน้ำไว้แล้วสั่งให้จำเลยถอยรถตามที่ผู้ตายบอก ขณะถอยรถเหล็กท่อน้ำหลุดจากขดลวดสายไฟฟ้า รถที่จำเลยถอยจึงทับผู้ตายถึงแก่ความตาย ข้อที่ต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกามีว่า จำเลยกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายหรือไม่ เห็นว่าจำเลยมีหน้าที่ขับรถจำเลยจึงต้องมีความระมัดระวังซึ่งคนขับรถในภาวะเช่นจำเลยจะต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ แม้ว่าผู้ตายซึ่งมีหน้าที่นำขดลวดสายไฟฟ้าลงจากรถ จะเป็นผู้ออกคำสั่งให้จำเลยถอยรถก็ตาม จำเลยจะต้องพิจารณาว่าการถอยรถในลักษณะเช่นนั้นปลอดภัยหรือไม่ จะเห็นได้ว่าการเอาขดลวดสายไฟฟ้าลงจากรถยนต์บรรทุกโดยวิธีใช้เหล็กท่อน้ำให้ปลายข้างหนึ่งยันขดลวดสายไฟฟ้าและปลายอีกข้างหนึ่งยันที่กระบะท้ายรถยนต์บรรทุกที่จำเลยขับ ผู้ตายจับเหล็กท่อน้ำไว้ระหว่างกระบะท้ายรถยนต์บรรทุกทั้งสองคันแล้วให้จำเลยเดินเครื่องยนต์ถอยรถเพื่อให้แรงของรถยนต์บรรทุกที่จำเลยขับถอยหลังนี้คันเหล็กท่อน้ำ เพื่อเหล็กท่อน้ำจะได้ดันให้ขดลวดไฟฟ้าเคลื่อนที่จากแนวขวางเป็นแนวตรงนั้น เป็นวิธีที่ไม่ปลอดภัย เพราะถ้าเหล็กท่อน้ำหลุดจากขดลวดสายไฟฟ้าหรือจากกระบะท้ายรถยนต์บรรทุกที่ยันหรือจากมือผู้ตายแล้ว กระบะท้ายรถยนต์บรรทุกที่จำเลยขับก็จะอัดผู้ตายเข้ากับกระบะท้ายรถยนต์บรรทุกที่นายสมหมายขับเพราะไม่มีอะไรกั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะที่จำเลยขับถอยหลังนั้นจำเลยยังไม่เห็นกระบะท้ายรถยนต์บรรทุกทั้งสองคันเพราะขดลวดสายไฟฟ้าที่บรรทุกอยู่บนรถยนต์ที่จำเลยขับบังอยู่ จำเลยไม่มีโอกาสจะเห็นว่าเหล็กท่อน้ำซึ่งกั้นระหว่างผู้ตายกับกระบะท้ายรถยนต์บรรทุกทั้งสองคันยังยันอยู่หรือไม่ การถอยรถของจำเลยจึงเป็นความประมาทปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นจำเลยจะต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และจำเลยอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้แต่หาได้ใช้เพียงพอไม่การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้อง
พิพากษากลับ จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๑ให้จำคุก ๑ ปี ปรับ ๒,๐๐๐ บาท และตามพฤติการณ์แห่งคดี เป็นการทำงานร่วมกันของผู้ตายกับจำเลย และผู้ตายมีส่วนประมาทอยู่ด้วย ประกอบกับได้มีการชดใช้ค่าเสียหายให้แก่มารดาของผู้ตายจนเป็นที่พอใจทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน สมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัว โทษจำคุกให้รอการลงโทษ ๒ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐.

Share