คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8611/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยร่วมกับพวกปลอมบัตรประจำตัวประชาชนอันเป็นเอกสารราชการ ใช้บัตรประจำตัวประชาชนปลอมดังกล่าว แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน แสดงหลักฐานอันเป็นเท็จเพื่อให้ผู้อื่นมีชื่อหรือมีรายการอย่างหนึ่งอย่างใดในทะเบียนบ้านโดยมิชอบ และแจ้งข้อความหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในการขอมีบัตรใหม่ ล้วนแล้วแต่มีความมุ่งหมายเพียงประการเดียวคือเพื่อขอให้เจ้าพนักงานออกบัตรประจำตัวประชาชนใหม่จึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานใช้หรือแสดงบัตรประจำตัวประชาชนปลอมตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชนฯ มาตรา 14 (3) ประกอบมาตรา 14 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 แม้จำเลยมิได้ฎีกาแต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและปรับบทลงโทษให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกอีกหนึ่งคนที่หลบหนีร่วมกันกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยกับพวกร่วมกันปลอมบัตรประจำตัวประชาชนอันเป็นเอกสาราชการที่ออกโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย บัตรเลขหมาย 3180400139450 ขึ้นทั้งฉบับ จำนวน 1 ฉบับ โดยนำภาพถ่ายของนางสุ่ม สีมาราด บุคคลผู้มีสัญชาติลาว มาถ่ายอัดลงในแบบพิมพ์บัตรประจำตัวประชาชน บัตรเลขหมายดังกล่าวใส่ชื่อในบัตรประจำตัวประชาชนว่า ชื่อตัว นางสาวศิริภัทรา ชื่อสกุล เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา อยู่เลขที่ 148 หมู่ที่ 2 ตำบลหาดอาษา อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท และลงลายมือชื่อเจ้าพนักงานผู้ออกบัตรปลอม ประทับตรากระทรวงมหาดไทยปลอมลงในช่องบัตร กับระบุวันออกบัตรว่า 19 มกราคม 2542 บัตรหมดอายุ 18 มกราคม 2548 ไว้ด้านหน้าบัตร ซึ่งความจริงแล้วบัตรประจำตัวประชาชนเลขหมายดังกล่าวฉบับที่แท้จริงนั้น กระทรวงมหาดไทยได้ออกให้แก่นางสาวศิริภัทรา เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา อยู่เลขที่ 239/6 ตรอกหอพักหญิง 6 ถนนห้วยแก้ว ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารราชการที่แท้จริงโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นางสาวศิริภัทรา กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และประชาชน ภายหลังจากที่จำเลยกับพวกร่วมกันกระทำความผิดแล้ว จำเลยกับพวกร่วมกันนำบัตรประจำตัวประชาชนซึ่งเป็นเอกสารราชการปลอมดังกล่าวไปใช้ยื่นแสดงต่อนางอุมา คุขุนทด ผู้ช่วยนายทะเบียนอำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา ผู้มีหน้าที่รับแจ้งการย้ายเข้าและย้ายออก และเพิ่มชื่อใหม่แก่ประชาชนลงในรายการทะเบียนบ้านที่อยู่ในเขตสำนักทะเบียนอำเภอโนนไทยตามกฎหมาย โดยจำเลยกับพวกร่วมกันนำเอาความเท็จแจ้งต่อนางอุมาว่า นางส่มเป็นเจ้าของบัตรประจำตัวประชาชนเลขหมาย 31804 00139 450 ที่ระบุชื่อนางสาวศิริภัทรา และประสงค์จะขอย้ายภูมิลำเนาทะเบียนบ้านปลายทางจากเลขที่ 239/6 ตรอกหอพักหญิง 6 ถนนห้วยแก้ว ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ไปเข้าทะเบียนบ้านเลขที่ 6 หมู่ที่ 6 ตำบลค้างพลู อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา และให้เพิ่มชื่อนางสาวศิริภัทราลงในทะเบียนบ้านเลขที่ดังกล่าว ซึ่งเป็นเอกสารราชการและเป็นเอกสารทะเบียนราษฎรที่มีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานอันเป็นความเท็จ จนทำให้นางอุมาหลงเชื่อว่านางส่มเป็นบุคคลเดียวกับนางสาวศิริภัทราและเป็นเจ้าของบัตรประจำตัวประชาชนที่ระบุชื่อนางสาวศิริภัทรา จึงได้เพิ่มชื่อนางสาวศิริภัทราลงในทะเบียนบ้านโดยมิชอบ ซึ่งการกระทำของจำเลยกับพวกเป็นการกระทำโดยประการที่น่าจะทำให้นางสาวศิริภัทรา นางอุมา สำนักทะเบียนอำเภอโนนไทย กรมการปกครอง ผู้อื่นและประชาชนได้รับความเสียหาย และจำเลยกับพวกร่วมกันนำบัตรประจำตัวประชาชนซึ่งเป็นเอกสารราชการที่จำเลยกับพวกได้ทำปลอมขึ้นและนำรายการทะเบียนบ้านเลขที่ 6 หมู่ที่ 6 ตำบลค้างพลู อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา ที่มีชื่อนางสาวศิริภัทราซึ่งจำเลยกับพวกแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จไปใช้เป็นพยานหลักฐานยื่นแสดงต่อนางอุมาผู้ช่วยนายทะเบียนอำเภอโนนไทยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้ที่มีหน้าที่ออกบัตรประจำตัวประชาชนหลงเชื่อว่านางสาวศิริภัทราเป็นเจ้าของบัตรประจำตัวประชาชนและเป็นบุคคลตามรายการทะเบียนบ้าน ประสงค์ขอมีบัตรประจำตัวประชาชนใหม่เนื่องจากย้ายที่อยู่ใหม่ซึ่งเป็นความเท็จ เป็นเหตุให้นางอุมาหลงเชื่อจึงได้ทำบัตรประจำตัวประชาชนใหม่ระบุชื่อนางสาวศิริภัทราให้จำเลยกับพวก ซึ่งการกระทำดังกล่าวของจำเลยกับพวกเป็นการกระทำโดยประการที่น่าจะทำให้นางสาวศิริภัทรา นางอุมา กรมการปกครอง และผู้อื่นได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 264, 267, 268 พระราชบัญญัติทะเบียนราษฎร (ที่ถูกพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร) พ.ศ.2534 มาตรา 50 พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 6 ทวิ, 14
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 267, 268 พระราชบัญญัติทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 มาตรา 50 (ที่ถูกพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง) พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (1) (2) และ (3) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมตามฟ้อง ข้อ ก, ข และ ค เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทระหว่างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 และมาตรา 268 วรรคแรก กับพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (2) และ (3) ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชนอันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 โดยให้ลงโทษตามมาตรา 14 วรรคสอง ความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ และใช้หรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จเพื่อให้ผู้อื่นมีชื่อในทะเบียนบ้านตามฟ้องในข้อ ข เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทระหว่างพระราชบัญญัติทะเบียนราษฎร (ที่ถูกพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร) และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 และ 268 วรรคแรก ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติทะเบียนราษฎร (ที่ถูกพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร) อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ส่วนความผิดฐานแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในการขอมีบัตรประจำตัวประชาชนใหม่ตามฟ้อง ข้อ ค ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (1) ฐานใช้บัตรประจำตัวประชาชนปลอม จำคุก 1 ปี ฐานใช้หรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จเพื่อให้ผู้อื่นมีชื่อในทะเบียนบ้าน จำคุก 6 เดือน และฐานแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในการขอมีบัตรประจำตัวประชาชนใหม่ จำคุก 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานใช้บัตรประจำตัวประชาชนปลอม จำคุก 6 เดือน ฐานใช้หรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จเพื่อให้ผู้อื่นมีชื่อในทะเบียนบ้าน จำคุก 3 เดือน ฐานแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในการขอมีบัตรประจำตัวประชาชนใหม่ จำคุก 3 เดือน รวมจำคุก 12 เดือน พิเคราะห์การกระทำของจำเลยแล้วเป็นการกระทำที่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศโดยรวมและอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประเทศได้ จึงไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษให้แก่จำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษนั้น เห็นว่า จำเลยร่วมกับพวกปลอมบัตรประจำตัวประชาชนอันเป็นเอกสารราชการ ใช้บัตรประจำตัวประชาชนปลอมดังกล่าวแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน แสดงหลักฐานอันเป็นเท็จเพื่อให้ผู้อื่นมีชื่อหรือมีรายการอย่างหนึ่งอย่างใดในทะเบียนบ้านโดยมิชอบ และแจ้งข้อความหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในการขอมีบัตรประจำตัวประชาชนใหม่โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ลักษณะของการกระทำเป็นไปโดยไม่นำพาต่อกฎหมายบ้านเมือง ผิดปกติวิสัยของสุจริตชน ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการจัดเก็บข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรของทางราชการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาความมั่นคงของชาติ อันเป็นความเสียหายโดยตรงในทางสาธารณะ พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง ลำพังแต่จำเลยอ้างมูลเหตุชักจูงใจในการกระทำความผิดว่าเป็นไปโดยต้องการช่วยเหลือภริยานอกกฎหมายของตนผู้ไม่มีสัญชาติไทยให้มีบัตรประจำตัวประชาชนเพื่อสามารถใช้ชีวิตร่วมกันตลอดไป ยังไม่เพียงพอที่จะเห็นเป็นการสมควรให้โอกาสจำเลยได้กลับตัวด้วยการรอการลงโทษจำคุกและกำหนดมาตรการในการคุมประพฤติแก่จำเลย ที่ศาลล่างทั้งสองไม่รอการลงโทษจำเลยเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ศาลฎีกาไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ตามการที่จำเลยร่วมกับพวกปลอมบัตรประจำตัวประชาชนอันเป็นเอกสารราชการ ใช้บัตรประจำตัวประชาชนปลอมดังกล่าวแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน แสดงหลักฐานอันเป็นเท็จเพื่อให้ผู้อื่นมีชื่อหรือมีรายการอย่างหนึ่งอย่างใดในทะเบียนบ้านโดยมิชอบ และแจ้งข้อความหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อพักงานเจ้าหน้าที่ในการขอมีบัตรใหม่ก็ล้วนแล้วแต่มีความมุ่งหมายเพียงประการเดียวคือเพื่อขอให้เจ้าพนักงานออกบัตรประจำตัวประชาชนใหม่เท่านั้น จึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานใช้หรือแสดงบัตรประจำตัวประชาชนปลอมตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พศ.2526 มาตรา 14 (3) ประกอบมาตรา 14 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แม้จำเลยจะมิได้ฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและปรับบทลงโทษให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (3) ประกอบมาตรา 14 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share