แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีแดงที่ 8174-8176/2538
คดีสำนวนที่สองสำหรับโจทก์ที่ 4 นั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 4 โดยฟังข้อเท็จจริงว่าเหตุละเมิดเกิดขึ้นเพราะความประมาทของจำเลยที่ 2 ฝ่ายเดียว จำเลยที่ 1 หาได้มีส่วนประมาทด้วยไม่ จำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 4 ดังนั้นการที่โจทก์ที่ 4 ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 4 เพียง 2,500 บาท เป็นการไม่ถูกต้อง เพราะโจทก์ที่ 4มีสิทธิได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากผู้กระทำละเมิดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายเต็มจำนวน 5,000 บาท เช่นนี้ ถือได้ว่าเป็นการที่โจทก์ที่ 4 ฎีกาขอให้วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายประมาทกระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 4 ด้วย จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 4 นั่นเอง อันเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ซึ่งเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง เมื่อจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาสำหรับคดีสำนวนที่สองไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ.มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ฎีกาของโจทก์ที่ 3 และจำเลยที่ 2 ในสำนวนแรกนั้น โจทก์ที่ 3 และจำเลยที่ 2 ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ที่ 3 และจำเลยที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 172,881.25 บาทแก่โจทก์ที่ 1 คดีจึงมีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ.มาตรา 248 วรรคหนึ่ง เช่นกัน ที่โจทก์ที่ 3 และจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 มีส่วนประมาทเลินเล่อมากกว่าจำเลยที่ 2ค่าเสียหายของโจทก์ที่ 1 มีเพียงใด และโจทก์ที่ 3 ควรมีสิทธิได้รับค่าเสียหายหรือไม่ โจทก์ที่ 3 กับจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 หรือไม่ ล้วนแต่เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนฎีกาข้อกฎหมายของโจทก์ที่ 3 และจำเลยที่ 2 ในข้อที่ว่า การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เหตุละเมิดมิได้เป็นเพราะความผิดของจำเลยที่ 1แต่เป็นเพราะความผิดของจำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียว จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นและมิใช่เป็นประเด็นที่ขึ้นมาสู่ศาลอุทธรณ์เพราะไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์นั้น โจทก์ที่ 1 ได้กล่าวในอุทธรณ์ว่า เหตุที่รถยนต์เกิดชนกันจำเลยที่ 2 เป็นผู้ก่อเพียงฝ่ายเดียว จำเลยที่ 1 ไม่ได้ประมาทเลินเล่อ จึงเป็นข้อที่โจทก์ที่ 1 กล่าวไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์และเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจวินิจฉัยได้
ย่อยาว
คดีทั้งสามสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกันโดยให้เรียกบริษัทนำสินประกันภัย จำกัด ว่า โจทก์ที่ ๑ นายวิฉุ้น แซ่เตีย ว่า โจทก์ที่ ๒ มูลนิธิคาทอลิกสุราษฎร์ธานี ว่า โจทก์ที่ ๓ นางสุรีย์ จันทร ว่า โจทก์ที่ ๔นายวิว ดวงหมุน ว่า โจทก์ที่ ๕ และเรียกนายสมเกียรติหรือกึ้ง เพชรประสิทธิ์ ว่าจำเลยที่ ๑ นายโกศรี เหล่าธารทรัพย์ ว่า จำเลยที่ ๒ นางสาวจำเนียร ซุนฟุ้งหรือซุนฟ้ง ว่า จำเลยที่ ๓ และพระสังฆราชเปโต คาเรตโต ว่า จำเลยที่ ๔
สำนวนแรกโจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ ฟ้องว่า โจทก์ที่ ๑ เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ได้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกน้ำมันหมายเลขทะเบียน ๘๐ – ๑๖๙๕สมุทรสงคราม ไว้จากโจทก์ที่ ๒ จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ และโจทก์ที่ ๓ ร่วมกันเป็นเจ้าของโรงเรียนดาราสมุทรภูเก็ต โรงเรียนดังกล่าวเป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์หมายเลขทะเบียน ม – ๐๑๓๐ ภูเก็ต ซึ่งมีจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ขับขี่ในทางการที่จ้างหรือตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมายของจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ และโจทก์ที่ ๓ เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๓๐เวลา ๙ นาฬิกา จำเลยที่ ๒ ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน ม – ๐๑๓๐ ภูเก็ต ผ่านสี่แยกถนนสายเอเซียตัดกับถนนสายสุราษฎร์ธานี – ตะกั่วป่า ซึ่งอยู่ที่ตำบลโรงช้างอำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมุ่งหน้าจะไปจังหวัดสุราษฎร์ธานี ด้วยความประมาทเลินเล่อปราศจากความระมัดระวัง ไม่หยุดรอให้รถที่แล่นบนถนนสายเอเซียผ่านพ้นไปก่อนตามเครื่องหมายจราจร เป็นเหตุให้ชนกับรถยนต์บรรทุกน้ำมันที่โจทก์ที่ ๑รับประกันภัยไว้ ซึ่งขับโดยจำเลยที่ ๑ ทำให้รถยนต์บรรทุกน้ำมันดังกล่าวเสียหลักไปชนรถยนต์หมายเลขทะเบียน น – ๙๔๖๗ นครศรีธรรมราช ซึ่งขับโดยโจทก์ที่ ๕ที่ริมถนนและไปชนเสากั้นข้างทางและเสาไฟฟ้าแล้วพลิกคว่ำได้รับความเสียหายหลายรายการ โจทก์ที่ ๑ จ่ายค่าอะไหล่และค่าซ่อมให้แก่โจทก์ที่ ๒ ไปแล้วเป็นเงิน๑๖๒,๘๘๑.๒๕ บาท ค่าลากจูงจากสถานีตำรวจภูธรอำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานีไปยังอู่เจริญพล จังหวัดชลบุรี จำนวน ๑๐,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๑๗๒,๘๘๑.๒๕ บาทโจทก์ที่ ๒ จ้างรถยนต์มาขนถ่ายน้ำมันโซล่าที่เหลืออยู่ในรถยนต์บรรทุกน้ำมันดังกล่าวจากที่เกิดเหตุไปยังจังหวัดตรัง เสียค่าจ้าง ๒,๕๐๐ บาท จ่ายค่าเสียหายเป็นค่าน้ำมันโซล่า จำนวน ๗,๘๙๐ ลิตร ให้แก่เจ้าของน้ำมันเป็นเงิน ๕๒,๖๒๗ บาท ค่าลากรถยนต์จากที่เกิดเหตุไปยังสถานีตำรวจภูธรอำเภอพุนพิน เป็นเงิน ๑,๗๐๐ บาท รวมเป็นเงิน๕๖,๘๒๗ บาท นอกจากนั้นโจทก์ที่ ๒ คิดค่าเสื่อมราคาของรถยนต์บรรทุกน้ำมันเป็นเงิน๑๐๐,๐๐๐ บาท ต้องใช้เวลาซ่อมรถยนต์คันดังกล่าว ๖ เดือน ๒๐ วัน ทำให้ขาดประโยชน์เดือนละ ๔๐,๐๐๐ บาท คิดเป็นค่าขาดประโยชน์ ๒๖๐,๐๐๐ บาท รวมเป็นค่าเสียหายที่โจทก์ที่ ๒ ได้รับเป็นเงิน ๔๑๖,๘๒๗ บาท จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ และโจทก์ที่ ๓ ต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ที่ ๒ ด้วยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับตั้งแต่วันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๓๐ ถึงวันฟ้อง (๑๙ ธันวาคม ๒๕๓๑) เป็นเงิน ๓๑,๒๖๒ บาทรวมเป็นเงิน ๔๔๘,๐๘๙ บาท ขอให้บังคับจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ และโจทก์ที่ ๓ร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน ๑๗๒,๘๘๑.๒๕ บาท แก่โจทก์ที่ ๑ และ ๔๘๘,๐๘๙ บาทแก่โจทก์ที่ ๒ และให้ร่วมกันใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จากต้นเงิน๑๗๒,๘๘๑.๒๕ บาท และ ๔๑๖,๘๒๗ บาท นับตั้งแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ ตามลำดับ
จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ และโจทก์ที่ ๓ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ที่ ๔ และโจทก์ที่ ๓ ไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ที่ ๑ ไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ ๑ จำเลยที่ ๒ มิได้เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ ๔ และหรือโจทก์ที่ ๓ทั้งไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ ความเสียหายเกิดขึ้นเป็นเพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ที่ ๒ ซึ่งขับรถยนต์บรรทุกน้ำมันผ่านสี่แยกที่เกิดเหตุด้วยความเร็วสูงพุ่งเข้าชนรถยนต์ที่จำเลยที่ ๒ ขับอย่างแรงจนรถยนต์ที่จำเลยที่ ๒ ขับกระเด็นไปไกล ๑๐ เมตรเศษ ได้รับความเสียหายมากหลังเกิดเหตุจำเลยที่ ๑ ถูกพนักงานอัยการฟ้องเป็นคดีอาญาที่ศาลแขวงสุราษฎร์ธานีศาลพิพากษาว่าจำเลยที่ ๑ มีความผิดให้จำคุก ๕ เดือน จำเลยที่ ๒ จึงไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ ฟ้องโจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ เคลือบคลุมเพราะไม่เข้าใจว่าฟ้องให้จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ และโจทก์ที่ ๓ รับผิดต่อโจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ ในฐานะใด เพราะจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ มิได้เป็นเจ้าของโรงเรียนดาราสมุทรภูเก็ตมิได้เป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน ม – ๐๑๓๐ ภูเก็ต ตามฟ้อง ทั้งมิได้เป็นนายจ้างหรือผู้มีอำนาจสั่งการให้จำเลยที่ ๒ กระทำการใด ๆ ดังที่โจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ อ้าง โรงเรียนดาราสมุทรภูเก็ตเป็นโรงเรียนในเครือของโจทก์ที่ ๓ โจทก์ที่ ๓เป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน ม – ๐๑๓๐ ภูเก็ต ฟ้องโจทก์ที่ ๑ และที่ ๒มิได้ระบุว่าใครเป็นผู้แทนของโจทก์ที่ ๓ ซึ่งเป็นนิติบุคคล ขอให้ยกฟ้อง
สำนวนที่สอง โจทก์ที่ ๓ และที่ ๔ ฟ้องว่า โจทก์ที่ ๓ เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายและเป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน ม – ๐๑๓๐ ภูเก็ตใช้ในกิจการของโรงเรียนดาราสมุทรภูเก็ตซึ่งเป็นโรงเรียนในเครือของโจทก์ที่ ๓ในการฟ้องคดีนี้จำเลยที่ ๓ เป็นผู้ดำเนินการแทน เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๓๐เวลากลางวัน จำเลยที่ ๑ ได้ขับรถยนต์บรรทุกน้ำมันหมายเลขทะเบียน ๘๐ – ๑๖๙๕สมุทรสงคราม ของโจทก์ที่ ๒ ไปในทางการที่จ้างของโจทก์ที่ ๒ ด้วยความประมาทเลินเล่อปราศจากความระมัดระวังและด้วยความเร็วสูง เมื่อผ่านสี่แยกถนนสายเอเซียตัดกับถนนสายสุราษฎร์ธานี – ตะกั่วป่า มิได้ชะลอความเร็วและพุ่งเข้าชนรถยนต์หมายเลขทะเบียน ม – ๐๑๓๐ ภูเก็ต ของโจทก์ที่ ๓ อย่างแรง ทำให้รถยนต์ของโจทก์ที่ ๓ กระเด็นไป ๑๐ เมตร ได้รับความเสียหายมาก คิดเป็นเงิน ๙๕,๐๐๐ บาทเป็นเหตุให้โจทก์ที่ ๔ ซึ่งโดยสารมาในรถรถยนต์ของโจทก์ที่ ๓ ได้รับบาดเจ็บสาหัสต้องเสียค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท ต้องขาดรายได้เดือนละ ๑,๕๐๐ บาทเป็นเวลา ๓ เดือน เป็นเงิน ๔,๕๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๑๔,๕๐๐ บาท นอกจากโจทก์ที่ ๓ ต้องเสียค่าซ่อมรถยนต์เป็นเงิน ๙๕,๐๐๐ บาท แล้ว ยังต้องเสียค่าจ้างลากรถยนต์จากจังหวัดสุราษฎร์ธานีไปซ่อมที่อำเภอตะกั่วป่า เป็นเงิน ๕,๕๐๐ บาทและโจทก์ที่ ๓ ต้องจ้างรถยนต์อื่นมาใช้ในกิจการของโรงเรียนดาราสมุทรภูเก็ตแทนอัตราวันละ ๑๐๐ บาท เป็นเวลา ๓๖๐ วัน เป็นเงิน ๓๖,๐๐๐ บาท อีกด้วยรวมเป็นค่าเสียหายของโจทก์ที่ ๓ ทั้งสิ้น ๑๓๖,๕๐๐ บาท จำเลยที่ ๑ และโจทก์ที่ ๒ จะต้องเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากค่าเสียหายที่โจทก์ที่ ๓ และที่ ๔ ได้รับดังกล่าว นับแต่วันทำละเมิดเป็นต้นไปด้วย คิดถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ยที่ต้องชำระแก่โจทก์ที่ ๓ เป็นเงิน ๑๐,๒๓๗.๕๐ บาท ชำระแก่โจทก์ที่ ๔ เป็นเงิน๑,๐๘๗.๕๐ บาท ขอให้บังคับโจทก์ที่ ๒ และจำเลยที่ ๑ ร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ ๓ และที่ ๔ พร้อมด้วยดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องเป็นเงิน๑๔๖,๗๓๗.๕๐ บาท และ ๑๕,๕๘๗.๕๐ บาท ตามลำดับ และให้เสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี แก่โจทก์ที่ ๓ และที่ ๔ จากต้นเงิน ๑๓๖,๕๐๐ บาท และ๑๔,๕๐๐ บาท ตามลำดับ นับแต่วันฟ้อง (๑๖ ธันวาคม ๒๕๓๑)เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ที่ ๒ และจำเลยที่ ๑ ให้การว่า ผู้ที่ลงลายชื่อมอบอำนาจให้ฟ้องคดีแทนโจทก์ที่ ๓ ไม่มีอำนาจกระทำการในขณะที่มอบอำนาจ ลายมือชื่อผู้มอบอำนาจไม่ใช่ลายมือชื่อที่แท้จริง โจทก์ที่ ๓ มิได้เป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน ม – ๐๑๓๐ ภูเก็ต จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย และโจทก์ที่ ๔ มิได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากสามีที่ชอบด้วยกฎหมายให้ฟ้องคดีนี้ โจทก์ที่ ๓ และที่ ๔ จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ที่ ๒ ไม่ได้เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกน้ำมันหมายเลขทะเบียน๘๐ – ๑๖๙๕ สมุทรสงคราม มิได้เป็นนายจ้างของจำเลยที่ ๑ เหตุที่รถยนต์ชนกันมิได้เกิดในทางการที่จ้างของโจทก์ที่ ๒ แต่เกิดในกิจการส่วนตัวของจำเลยที่ ๑เอง แต่อย่างไรก็ตามเหตุที่เกิดมิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ ๑จำเลยที่ ๑ ได้ขับรถยนต์บรรทุกน้ำมันเข้าในบริเวณสี่แยกด้วยความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด และด้วยความระมัดระวังอย่างดีแล้ว เหตุที่เกิดขึ้นเป็นเพราะจำเลยที่ ๒ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน ม – ๐๑๓๐ ภูเก็ต ด้วยความประมาทเลินเล่อ เพราะเห็นอยู่แล้วว่าจำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์บรรทุกน้ำมันถึงบริเวณสี่แยก แต่จำเลยที่ ๒ไม่หยุดรถตามเครื่องหมายป้าย “หยุด” ซึ่งติดตั้งอยู่ โจทก์ที่ ๒ และจำเลยที่ ๑ขอให้การตัดฟ้องว่า ฟ้องโจทก์ที่ ๓ เคลือบคลุมเพราะไม่ได้บรรยายว่าโจทก์ที่ ๓เสียหายอย่างใดบ้าง ค่าซ่อมรถที่เรียกมา ๙๕,๐๐๐ บาท นั้นสูงเกินไป เพราะอย่างมากไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท ค่าจ้างลากรถยนต์ไปยังอำเภอตะกั่วป่า ไม่เกิน๑,๕๐๐ บาท ค่าจ้างรถยนต์อื่นที่อ้างว่าจ้างมาวันละ ๑๐๐ บาท เป็นเวลา ๓๖๐ วันรวมเป็นเงิน ๓๖,๐๐๐ บาท นั้น ความจริงโจทก์ที่ ๓ มิได้จ้างรถยนต์อื่นแต่อย่างใดค่าเสียหายส่วนนี้จึงไม่มี ส่วนค่ารักษาพยาบาลโจทก์ที่ ๔ นั้น หากมีจริงก็ไม่เกิน๒,๐๐๐ บาท และโจทก์ที่ ๔ มิได้ขาดรายได้เพราะโจทก์ที่ ๔ มีเงินเดือนประจำทุกเดือนระหว่างรักษาตัว โจทก์ที่ ๔ ยังคงได้รับเงินเดือนอยู่ค่าเสียหายส่วนนี้จึงไม่มี ขอให้ยกฟ้อง
สำนวนที่สาม โจทก์ที่ ๕ ฟ้องว่า โจทก์ที่ ๕ เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน น – ๙๔๖๗ นครศรีธรรมราช จำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างของโจทก์ที่ ๒ และจำเลยที่ ๒ เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๓ เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม๒๕๓๐ จำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์บรรทุกน้ำมันหมายเลขทะเบียน ๘๐ – ๑๖๙๕สมุทรสงคราม บรรทุกน้ำมัน ๑๕,๐๐๐ ลิตร ไปตามถนนสายเอเซีย ตามคำสั่งและในทางการที่จ้างของโจทก์ที่ ๒ เพื่อไปยังจังหวัดตรัง เมื่อมาถึงสี่แยกถนนสายเอเซียตัดกับถนนสายสุราษฎร์ธานี – ตะกั่วป่า จำเลยที่ ๒ ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน ม – ๐๑๓๐ ภูเก็ต ตามคำสั่งและในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๓ มาตามถนนสายสุราษฎร์ธานี – ตะกั่วป่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ต่างขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อปราศจากความระมัดระวังและขับรถด้วยความเร็วสูง เป็นเหตุให้รถยนต์ที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ขับมาพุ่งเข้าชนกันแล้วรถยนต์ที่จำเลยที่ ๑ ขับครูดกับถนนผ่านพ้นสี่แยกพุ่งเข้าชนรถยนต์คันที่โจทก์ที่ ๕ เช่าซื้อมาและขับอยู่ในช่องเดินรถของโจทก์ที่ ๕ ในทิศทางรถสวนทางกับจำเลยที่ ๑ อย่างแรง ได้รับความเสียหายมาก โจทก์ที่ ๕ และภรรยาได้รับบาดเจ็บสาหัส ต้องเข้าโรงพยาบาลรักษาตัวเป็นเวลาคนละ ๑ เดือน ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลรวม ๑๒,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๕และภรรยามีอาชีพค้าขายระหว่างจังหวัดมีรายได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ ๑๒,๐๐๐ บาทจึงทำให้ขาดรายได้ไปเป็นเงิน ๑๒,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๕ ต้องเสียค่าลากจูงรถยนต์จากที่เกิดเหตุไปยังสถานีตำรวจภูธรอำเภอพุนพิน และไปยังอู่ซ่อมที่อำเภอฉวางรวมเป็นเงิน ๔,๐๐๐ บาท ต้องเสียค่าซ่อมรถยนต์เป็นเงินทั้งสิ้น ๑๒๕,๗๙๕ บาทซึ่งเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่ ๕ ที่จะต้องซ่อมและฟ้องร้องผู้ทำละเมิดตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ของโจทก์ที่ ๕ เป็นรถยนต์ใหม่เมื่อถูกชนทำให้เสื่อมสภาพลงคิดค่าเสื่อมราคาเป็นเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท รถยนต์ดังกล่าวต้องใช้เวลาซ่อม ๓ เดือน โจทก์ที่ ๕ จึงต้องจ้างรถยนต์อื่นมาใช้บรรทุกสินค้าแทนเป็นเวลา ๓ เดือน เป็นเงิน ๒๗,๐๐๐ บาทรวมค่าเสียหายทั้งสิ้นเป็นเงิน ๒๑๐,๗๙๕ บาท โจทก์ที่ ๕ ได้ติดตามทวงถามให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ และโจทก์ที่ ๒ ใช้ค่าเสียหายแล้ว แต่จำเลยและโจทก์ดังกล่าวไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ และโจทก์ที่ ๒ ร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าเสียหายจำนวน ๒๑๐,๗๙๕ บาท แก่โจทก์ที่ ๕ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๑ และโจทก์ที่ ๒ ให้การว่า โจทก์ที่ ๕ มิใช่ผู้เช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน น – ๙๔๖๗ นครศรีธรรมราช จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย โจทก์ที่ ๕ ฟ้องคดีนี้โดยมิได้รับความยินยอมจากภรรยาเป็นหนังสือ โจทก์ที่ ๕ จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ที่ ๒ ไม่ได้เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกน้ำมันหมายเลขทะเบียน ๘๐ – ๑๖๙๕ สมุทรสงคราม จำเลยที่ ๑ มิได้ขับรถบรรทุกน้ำมันในทางการที่จ้างของโจทก์ที่ ๒ แต่ได้ขับไปในกิจการส่วนตัวของจำเลยที่ ๑ เอง โจทก์ที่ ๒จึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๑ เหตุที่รถยนต์ชนกันมิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ ๑ แต่เป็นเพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ ๒ แต่เพียงฝ่ายเดียว ฟ้องของโจทก์ที่ ๕ ที่เกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลเป็นฟ้องเคลือบคลุมเพราะมิได้บรรยายให้ชัดแจ้งว่าค่ารักษาพยาบาลส่วนของโจทก์ที่ ๕ มีอะไรบ้างจำนวนเท่าใด จำเลยที่ ๑ และโจทก์ที่ ๒ เห็นว่าค่ารักษาพยาบาลในส่วนของโจทก์ที่ ๕ อย่างมากไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท เพราะโจทก์ที่ ๕ ได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อยส่วนค่ารักษาพยาบาลในส่วนของภรรยาโจทก์ที่ ๕ นั้น โจทก์ที่ ๕ ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่ารักษาพยาบาลแทนได้ ฟ้องโจทก์ที่ ๕ ที่ว่า โจทก์ที่ ๕ และภรรยาร่วมกันประกอบอาชีพค้าขายเป็นฟ้องเคลือบคลุม เพราะมิได้บรรยายว่า ค้าขายอะไร รายได้ส่วนตัวของโจทก์ที่ ๕ จำนวนเท่าใด ค่าเสียหายส่วนนี้จึงไม่เกิน ๓,๐๐๐ บาท ค่าลากจูงรถยนต์ของโจทก์ที่ ๕ นั้นสูงเกินไป อย่างมากไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท ฟ้องโจทก์ที่ ๕เกี่ยวกับค่าเสียหายของรถยนต์ที่ว่าได้รับความเสียหายมากนั้นเป็นฟ้องเคลือบคลุมเพราะมิได้บรรยายว่าเสียหายอะไรบ้างรวมเป็นเงิน ๑๒๕,๗๙๕ บาท ซึ่งความจริงค่าเสียหายไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท รถยนต์ของโจทก์ที่ ๕ เมื่อซ่อมแล้วไม่ได้เสื่อมราคาลงแต่อย่างใดเพราะสามารถขายได้ราคาดีกว่าเดิม ค่าเสียหายส่วนนี้จึงไม่มีโจทก์ที่ ๕ มิได้จ้างรถยนต์อื่นมาใช้งานแทน เพราะไม่มีหลักฐานที่แสดงให้ทราบได้ค่าเสียหายทั้งสิ้นจึงไม่ควรเกิน ๒๕,๐๐๐ บาท อย่างไรก็ตามคดีนี้เกิดเหตุวันที่ ๑๙ธันวาคม ๒๕๓๐ โจทก์ที่ ๕ ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๒ จึงขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้การว่า โจทก์ที่ ๕ เป็นแต่เพียงผู้เช่าซื้อรถยนต์ มิได้เป็นเจ้าของหรือได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของให้ฟ้องคดีแทนจึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายใด ๆ ที่เกี่ยวกับรถยนต์ดังกล่าวจากจำเลยที่ ๒และที่ ๓ โจทก์ที่ ๕ มิได้บาดเจ็บสาหัส ความจริงโจทก์ที่ ๕ บาดเจ็บเพียงเล็กน้อยรักษา ๑๐ วันหาย ตามที่โจทก์ที่ ๕ เคยเบิกความที่ศาลจังหวัดทุ่งสง เมื่อวันที่ ๖พฤษภาคม ๒๕๓๑ ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๑๔๖๒/๒๕๓๑ ของศาลแขวงสุราษฎร์ธานีดังนั้นที่โจทก์ที่ ๕ อ้างใบรับรองแพทย์ท้ายฟ้องหมายเลข ๒ ว่า รักษาตัวเป็นเวลา๑ เดือน จึงไม่ถูกต้อง โจทก์ที่ ๕ อ้างว่าโจทก์ที่ ๕ และภรรยาประกอบอาชีพค้าขายระหว่างจังหวัดมีรายได้รวมกันเดือนละ ๑๒,๐๐๐ บาท เมื่อเกิดเหตุแล้วประกอบอาชีพไม่ได้ ขาดรายได้ไป ๑ เดือน เป็นเงิน ๑๒,๐๐๐ บาท และรถยนต์ของโจทก์ที่ ๕ต้องซ่อมเป็นเวลา ๓ เดือน ต้องจ้างรถยนต์อื่นมาแทนเป็นเงิน ๒๗,๐๐๐ บาท นั้นโจทก์ที่ ๕ ไม่มีหลักฐานมายืนยันให้รับฟังได้ ฟ้องโจทก์ที่ ๕ เกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ และค่าเช่ารถยนต์เป็นฟ้องเคลือบคลุม เพราะจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ไม่อาจต่อสู้คดีได้ว่าโจทก์ที่ ๕ เสียหายไปเท่าใด ทั้งภรรยาของโจทก์ที่ ๕ มิได้มอบอำนาจให้ฟ้องเรียกค่าเสียหาย โจทก์ที่ ๕ จึงไม่มีอำนาจฟ้องแทนภรรยา จำเลยที่ ๒ มิได้ทำละเมิดต่อโจทก์ที่ ๕ แต่ความเสียหายเกิดจากการทำละเมิดของจำเลยที่ ๑ แต่ผู้เดียว จำเลยที่ ๓ มิได้เป็นนายจ้างของจำเลยที่ ๒เป็นแต่เพียงผู้ร่วมงานกันโดยมีโจทก์ที่ ๓ เป็นนายจ้าง ฟ้องโจทก์ที่ ๕ เกี่ยวกับค่าเสียหายขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ที่ ๕ ถึงแก่ความตาย นางพาณิชย์ ดวงหมุนภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๒ และโจทก์ที่ ๓ ร่วมกันชำระค่าสินไหมทดแทนจำนวน ๖๒,๕๐๐ บาท แก่โจทก์ที่ ๑ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ ๒ และโจทก์ที่ ๓ ร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน ๙๓,๔๑๓.๕๐ บาท แก่โจทก์ที่ ๒ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๓๐ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ ๑ และโจทก์ที่ ๒ ใช้ค่าเสียหายจำนวน ๒,๕๐๐ บาท แก่โจทก์ที่ ๔ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๓๐จนกว่าจะชำระเสร็จ ยกฟ้องโจทก์ที่ ๓ และที่ ๕
โจทก์ที่ ๑ ที่ ๓ ที่ ๔ และจำเลยที่ ๒ อุทธรณ์สำนวนแรกและสำนวนที่สอง
ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๒ และโจทก์ที่ ๓ ร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน ๑๗๒,๘๘๑.๒๕ บาท แก่โจทก์ที่ ๑ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้อง (๑๙ ธันวาคม ๒๕๓๑) ไปจนกว่าจะชำระแก่โจทก์ที่ ๑ เสร็จ ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ ๔ นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์ที่ ๓ และจำเลยที่ ๒ ฎีกาสำนวนแรก และโจทก์ที่ ๔ฎีกาสำนวนที่สอง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีสำนวนที่สองสำหรับโจทก์ที่ ๔ นั้นศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ ๔ โดยฟังข้อเท็จจริงว่าเหตุละเมิดเกิดขึ้นเพราะความประมาทของจำเลยที่ ๒ ฝ่ายเดียว จำเลยที่ ๑ หาได้มีส่วนประมาทด้วยไม่ จำเลยที่ ๑ และโจทก์ที่ ๒ ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ ๔ ดังนั้น การที่โจทก์ที่ ๔ ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่ ๑ และโจทก์ที่ ๒ ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ ๔ เพียง ๒,๕๐๐ บาทเป็นการไม่ถูกต้อง เพราะโจทก์ที่ ๔ มีสิทธิได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากผู้กระทำละเมิดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายเต็มจำนวน ๕,๐๐๐ บาท เช่นนี้ ถือได้ว่าเป็นการที่โจทก์ที่ ๔ ฎีกาขอให้วินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ เป็นฝ่ายประมาทกระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ ๔ ด้วย จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ ๔ นั่นเอง อันเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค ๓ ซึ่งเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง เมื่อจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาสำหรับคดีสำนวนที่สองไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา๒๔๘ วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
สำหรับฎีกาของโจทก์ที่ ๓ และจำเลยที่ ๒ ในสำนวนแรกนั้นโจทก์ที่ ๓ และจำเลยที่ ๒ ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๓ ที่พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ที่ ๓ และจำเลยที่ ๒ ร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน ๑๗๒,๘๘๑.๒๕ บาทแก่โจทก์ที่ ๑ คดีจึงมีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา๒๔๘ วรรคหนึ่ง เช่นกัน ที่โจทก์ที่ ๓ และจำเลยที่ ๒ ฎีกาว่า จำเลยที่ ๑ มีส่วนประมาทเลินเล่อมากกว่าจำเลยที่ ๒ ค่าเสียหายของโจทก์ที่ ๑ มีเพียงใด และโจทก์ที่ ๓ ควรมีสิทธิได้รับค่าเสียหายหรือไม่ โจทก์ที่ ๓ กับจำเลยที่ ๒ จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ที่ ๑ และโจทก์ที่ ๒ หรือไม่ ล้วนแต่เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนฎีกาข้อกฎหมายของโจทก์ที่ ๓ และจำเลยที่ ๒ ในข้อที่ว่าการที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ วินิจฉัยว่า เหตุละเมิดมิได้เป็นเพราะความผิดของจำเลยที่ ๑แต่เป็นเพราะความผิดของจำเลยที่ ๒ แต่ผู้เดียว จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นและมิใช่เป็นประเด็นที่ขึ้นมาสู่ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ เพราะไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์นั้นเห็นว่า ในข้อนี้โจทก์ที่ ๑ ได้กล่าวในอุทธรณ์ว่า เหตุที่รถยนต์เกิดชนกันจำเลยที่ ๒เป็นผู้ก่อเพียงฝ่ายเดียว จำเลยที่ ๑ ไม่ได้ประมาทเลินเล่อ จึงเป็นข้อที่โจทก์ที่ ๑กล่าวไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์และเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นศาลอุทธรณ์ภาค ๓ ย่อมมีอำนาจวินิจฉัยได้
พิพากษายืน.