แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยออกตั๋วสัญญาใช้เงิน5ฉบับให้แก่โจทก์ทั้งสองตามสัญญาแปลงหนี้ใหม่และเพื่อเป็นหลักประกันการใช้เงินจำเลยตกลงจะโอนที่ดินของจำเลยให้แก่โจทก์ทั้งสองข้อตกลงดังกล่าวเป็นเพียงข้อสัญญาข้อหนึ่งในสัญญาที่ตกลงกันไว้ทั้งเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาที่ตกลงกันเพื่อให้โจทก์ทั้งสองมีความมั่นใจว่าจะได้รับชำระหนี้จากจำเลยตามสัญญาที่ตกลงทำกันขึ้นใหม่เพื่อมิให้หนี้เดิมของโจทก์ทั้งสองต้องสูญไปเท่านั้นไม่ใช่เงื่อนไขบังคับหลังที่จะทำให้สัญญาที่ตกลงกันไว้ต้องยกเลิกหรือระงับสิ้นไปเพราะโจทก์ไม่ได้รับโอนที่ดินภายในกำหนดเวลาตามสัญญาการที่จำเลยมิได้โอนที่ดินตามสัญญาให้แก่โจทก์ทั้งสองหาทำให้ตั๋วสัญญาใช้เงินทั้ง5ฉบับที่จำเลยได้ออกชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสองต้องถูกยกเลิกหรือไร้ประโยชน์แต่อย่างใดจำเลยยังต้องผูกพันรับผิดตามตั๋วสัญญาใช้เงินทั้ง5ฉบับที่ออกชำระหนี้ให้แก่โจทก์ทั้งสองอยู่ หนี้ตามคำฟ้องของโจทก์ที่1และโจทก์ที่2เป็นคนละจำนวนต่างหากจากกันมิใช่หนี้ร่วมโจทก์แต่ละคนสามารถแยกฟ้องจำเลยต่างหากจากกันได้อยู่แล้วการที่โจทก์ทั้งสองฟ้องรวมเป็นคดีเดียวกันก็เพราะจำเลยเป็นคนเดียวกันและเพื่อเป็นการสะดวกในการพิจารณาพิพากษาคดีเท่านั้นศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยชำระค่าขึ้นศาลสำหรับคดีของโจทก์ที่1และโจทก์ที่2แยกต่างหากจากกันนั้นถูกต้องแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายโจทก์ที่ 2 ได้จดทะเบียนเลิกบริษัทแล้ว อยู่ระหว่างการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2526 โจทก์ทั้งสองฝ่ายหนึ่งบริษัทบ้านและที่ดินไทย (1979) จำกัด หรือบริษัทไทยแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ซิ่ง (1979) จำกัด และบริษัทที.แอล.เอล.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ฝ่ายหนึ่งซึ่งต่อไปเรียกว่า “คู่สัญญาฝ่ายที่สาม” และจำเลยอีกฝ่ายหนึ่งรวมเป็นสามฝ่ายได้ตกลงทำสัญญาแปลงหนี้ใหม่โดยการหักกลบลบหนี้ของแต่ละฝ่ายที่มีอยู่เดิมแล้ว มีหนี้สุทธิที่จำเลยจะต้องชำระให้โจทก์ที่ 1 แทนคู่สัญญาฝ่ายที่สามจำนวน 62,503,985.89 บาท และชำระให้โจทก์ที่ 2 แทนคู่สัญญาฝ่ายที่สามจำนวน 99,110,445.52 บาท จำเลยได้ชำระหนี้ดังกล่าวให้โจทก์ทั้งสองด้วยตั๋วสัญญาใช้เงิน 5 ฉบับ มีกำหนดชำระเงินตามเรียกหรือเมื่อทวงถาม ไม่มีดอกเบี้ย รวมเป็นเงิน161,614,431.41 บาท และเพื่อเป็นหลักประกันการใช้เงินจำเลยตกลงจะโอนที่ดินของจำเลยรวม 27 โฉนด เนื้อที่ 331 ไร่1 งาน 72.5 ตารางวา คิดเป็นราคาทั้งสิ้น 161,614,431.41 บาทให้โจทก์ทั้งสองภายในวันที่ 30 กันยายน 2526 โดยให้โจทก์ทั้งสองจัดสรรส่วนของที่ดินและผลประโยชน์ระหว่างกันเอง จำเลยได้ทำผิดสัญญาต่อโจทก์ทั้งสอง คือเมื่อครบกำหนดแล้วจำเลยไม่โอนที่ดินให้ตามสัญญา โจทก์ทั้งสองจึงบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยโอนที่ดินและชำระเงินให้โจทก์ทั้งสองตามตั๋วสัญญาใช้เงิน แต่จำเลยเพิกเฉย จำเลยต้องชำระเงินให้โจทก์ทั้งสอง พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2526 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นับถึงวันฟ้องเป็นเงินจำนวน 223,758,410.36 บาทขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 223,758,410.36 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 161,614,431.41 บาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสองถ้าไม่ชำระให้จำเลยโอนที่ดินทั้ง 27 โฉนดตามฟ้องให้โจทก์ทั้งสอง ถ้าไม่ปฏิบัติตามให้ถือคำสั่งศาลเป็นการแสดงเจตนา
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ทั้งสองเพราะตามสัญญาแปลงหนี้ใหม่มีเงื่อนไขในข้อ 8 ว่า ถ้าโจทก์ทั้งสองไม่ได้รับโอนที่ดินภายในกำหนด ภาระข้อผูกพันในเรื่องหนี้สินจะยังคงเป็นไปอย่างเดิม คือโจทก์ทั้งสองกลับไปเป็นเจ้าหนี้คู่สัญญาฝ่ายที่สาม จำเลยจึงไม่มีฐานะเป็นลูกหนี้โจทก์ทั้งสองต่อไป ทั้งการที่ยังไม่ได้โอนที่ดินให้โจทก์ทั้งสองนั้นก็ไม่ใช่ความผิดของจำเลยแต่เป็นเพราะคู่สัญญาฝ่ายที่สามไม่ไปจัดการชำระหนี้เพื่อปลดภาระผูกพันเกี่ยวกับที่ดินเหล่านั้นแล้วนำมาดำเนินการตามสัญญาแปลงหนี้ใหม่ จำเลยไม่เคยได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ทั้งสองจึงยังไม่มีการโต้แย้งสิทธิ โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน62,503,985.89 บาท แก่โจทก์ที่ 1 และชำระเงินจำนวน99,110,445.52 บาท แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5ต่อปี นับแต่วันที่ 4 กันยายน 2528 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้เสร็จ คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
จำเลย อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ที่ 1 ถูกศาลชั้นต้นสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอเข้าดำเนินคดีแทนโจทก์ที่ 1 ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า ตามสัญญาแปลงหนี้ใหม่ข้อ 8 มีข้อกำหนดอันเป็นเงื่อนไขบังคับหลังสำหรับสัญญาฉบับนี้ว่าหากโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ไม่ได้รับการโอนที่ดินตามข้อ 6 ภายในวันที่ 30 กันยายน 2526 จะด้วยเหตุใดก็ตาม ก็ให้ภาระผูกพันของลูกหนี้เดิม คือกลุ่มบริษัทที.แอล.เอช.(คู่สัญญาฝ่ายที่สาม)จะต้องชำระหนี้ต่อโจทก์ทั้งสองอย่างเดิมต่อไปอีก ฉะนั้นมูลหนี้เดิมของฝ่ายลูกหนี้หาได้ระงับไปโดยสิ้นเชิงไม่ หากโจทก์ที่ 1และโจทก์ที่ 2 ไม่ได้รับโอนที่ดินตามข้อ 6 ภายในวันที่30 กันยายน 2526 จะด้วยเหตุใดก็ตามภาระผูกพันตามมูลหนี้ของลูกหนี้เดิมก็จะกลับมีขึ้นอย่างเดิมนั้น เห็นว่า เงื่อนไขตามสัญญาข้อ 8 ที่จำเลยยกขึ้นฎีกาว่าเมื่อจำเลยมิได้โอนที่ดินตามสัญญาข้อ 6 ให้โจทก์ทั้งสองภายในวันที่ 30 กันยายน 2526 จะด้วยเหตุใดก็ตาม ภาระผูกพันตามมูลหนี้ของลูกหนี้เดิม จะกลับมีขึ้นอย่างเดิมนั้น เป็นเพียงข้อสัญญาข้อหนึ่งในสัญญาที่ตกลงกันไว้ ทั้งเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาที่ตกลงกันเพื่อให้โจทก์ทั้งสองมีความมั่นใจว่่าจะได้รับชำระหนี้จากจำเลยตามสัญญาที่ตกลบทำกันขึ้นใหม่เพื่อมิให้หนี้เดิมของโจทก์ทั้งสองต้องสูญไปเท่านั้น สัญญาข้อ 8 จึงไม่ใช่เงื่อนไขบังคับหลังที่จะทำให้สัญญาที่ตกลงกันไว้ต้องยกเลิกหรือระงับสิ้นไปเพราะโจทก์ไม่ได้รับโอนที่ดินภายในกำหนดเวลาตามสัญญาข้อ 6 แต่อย่างใด การที่จำเลยมิได้โอนที่ดินตามสัญญาข้อ 6ให้แก่โจทก์ทั้งสองเพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่ได้ออกให้โจทก์ทั้งสองไว้นั้น หาทำให้ตั๋วสัญญาใช้เงินทั้ง 5 ฉบับ ที่จำเลยได้ออกชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสองต้องถูกยกเลิกหรือไร้ประโยชน์แต่อย่างใด จำเลยยังต้องผูกพันรับผิดตามตั๋วสัญญาใช้เงินทั้ง 5 ฉบับที่ออกชำระหนี้ให้แก่โจทก์ทั้งสองอยู่
ที่จำเลยฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า จำเลยมีหน้าที่เสียค่าขึ้นศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 150 ประกอบกับตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ข้อ (1)(ก) คืออัตราสองบาทห้าสิบสตางค์ต่อทุกหนึ่งร้อยบาท แต่ไม่ให้เกินสองแสนบาทโดยมิได้คำนึงถึงจำนวนคู่ความของแต่ละฝ่ายแต่อย่างใด ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เป็นเงินสี่แสนบาทเกินกำหนดตามกฎหมายนั้น เห็นว่า มูลหนี้ตามคำฟ้องของโจทก์ที่ 1และโจทก์ที่ 2 เป็นคนละจำนวนต่างหากจากกัน มิใช่หนี้ร่วมโจทก์แต่ละคนสามารถแยกฟ้องจำเลยต่างหากจากกันได้อยู่แล้ว การที่โจทก์ทั้งสองฟ้องรวมเป็นคดีเดียวกันก็เพราะจำเลยเป็นคน ๆ เดียวกันและเพื่อเป็นการสะดวกในการพิจารณาพิพากษาคดีเท่านั้นที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยชำระค่าขึ้นศาลสำหรับคดีของโจทก์ที่ 1และโจทก์ที่ 2 แยกต่างหากจากกันนั้นถูกต้องแล้ว
พิพากษายืน