คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8768/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การฎีกาในปัญหาใดๆ ต่อศาลฎีกาย่อมเป็นเรื่องเฉพาะตัวของจำเลยแต่ละคน ดังนั้น จำเลยที่ 2 จะฎีกาแทนจำเลยที่ 1 ไม่ได้
ความผิดฐานเป็นคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เมื่อศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาแก้ ถือได้ว่าศาลอุทธรณ์พิพากษายืน และให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาในความผิดฐานนี้ด้วยนั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์ จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
เมทแอมเฟตามีนของกลางมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกิน 20 กรัมขึ้นไป มีระวางโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 66 วรรคสาม ให้จำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 1,000,000 บาท ถึง 5,000,000 บาท หรือประหารชีวิต การที่ศาลอุทธรณ์วางโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ตลอดชีวิต และปรับ 1,000,000 บาท จึงเป็นโทษขั้นต่ำสุดตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย เมื่อจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ การลดโทษจำคุกตลอดชีวิต จะต้องเปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นจำคุก 50 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 53 และเมื่อลดโทษให้จำเลยที่ 2 กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 25 ปี และปรับ 500,000 บาท ย่อมไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 ให้เบากว่านี้ได้
การกักขังแทนค่าปรับตาม ป.อ. มาตรา 30 วรรคแรก ให้ถืออัตราสองร้อยบาทต่อหนึ่งวัน เว้นแต่ในกรณีที่ศาลพิพากษาให้ปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทขึ้นไป ศาลจะสั่งให้กักขังแทนค่าปรับเป็นระยะเวลาเกินกว่า 1 ปีแต่ไม่เกิน 2 ปี ก็ได้ แต่ศาลจะต้องสั่งไว้ให้ชัดแจ้ง หากศาลไม่ได้สั่งไว้เป็นอย่างอื่นโดยชัดแจ้ง ก็จะกักขังเกินกำหนด 1 ปี ไม่ได้ ถึงแม้ศาลพิพากษาให้ปรับตั้งแต่ 80,000 บาทขึ้นไป เมื่อศาลชั้นต้นไม่ได้สั่งให้กักขังจำเลยทั้งสองไว้เป็นอย่างอื่น ดังนั้น หากจะกักขังแทนค่าปรับก็กักขังได้เพียง 1 ปี การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังเกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี จึงเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสอง โดยโจทก์มิได้อุทธรณ์ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้อง รวมถึงมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้ฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสองและมาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66 วรรคสาม, 101/1, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 83, 91 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 11, 12, 18, 58, 62 และริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่งและวรรคสาม (2) (ที่ถูก มาตรา 15 วรรคสาม (2)), 66 วรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 11, 12 (1), 18 วรรคสอง, 58, 62 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกตลอดชีวิต และปรับคนละ 3,000,000 บาท ฐานเป็นคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จำคุกคนละ 2 เดือน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนในครอบครองเพื่อจำหน่าย คงจำคุกคนละ 25 ปี และปรับคนละ 1,500,000 บาท ฐานเป็นคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จำคุกคนละ 1 เดือน รวมจำคุกคนละ 25 ปี 1 เดือน และปรับคนละ 1,500,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ลงโทษปรับคนละ 1,000,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับคนละ 500,000 บาท รวมลงโทษจำเลยทั้งสองจำคุกคนละ 25 ปี 1 เดือน ปรับคนละ 500,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังเกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “การฎีกาในปัญหาใดๆ ต่อศาลฎีกานั้นย่อมเป็นเรื่องเฉพาะตัวของจำเลยแต่ละคน จำเลยที่ 2 จะฎีกาแทนจำเลยที่ 1 มิได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย และจำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาในความผิดฐานเป็นคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เห็นว่า ความผิดฐานดังกล่าวศาลอุทธรณ์ภาค 6 มิได้พิพากษาแก้ ถือได้ว่าศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน และให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาในความผิดฐานนี้ด้วยนั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 6 จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานนี้ เป็นการมิชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน
คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 เพียงว่า สมควรลดโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายสถานเบากว่าที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาหรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายสำหรับคดีนี้ซึ่งเมทแอมเฟตามีนของกลางมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกิน 20 กรัมขึ้นไป มีระวางโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสาม ให้จำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 1,000,000 บาท ถึง 5,000,000 บาท หรือประหารชีวิต ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วางโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ตลอดชีวิต และปรับ 1,000,000 บาท จึงเป็นโทษขั้นต่ำสุดตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายแล้ว เมื่อจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ สมควรลดโทษให้กึ่งหนึ่ง การลดโทษจำคุกตลอดชีวิตจะต้องเปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นจำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 53 และเมื่อลดโทษให้จำเลยที่ 2 กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 25 ปี และปรับ 500,000 บาท กรณีย่อมไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 ให้เบากว่านี้ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้นชอบแล้ว คำพิพากษาศาลฎีกาในคดีต่างๆ ที่จำเลยที่ 2 ยกขึ้นอ้างในฎีกาเพื่อขอให้ศาลฎีกาลงโทษสถานเบานั้น ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับในคดีนี้ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง เกี่ยวกับการบังคับชำระค่าปรับแก่จำเลยทั้งสอง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 และศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังเกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี นั้น เห็นว่า การกักขังแทนค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 30 วรรคแรก ให้ถืออัตราสองร้อยบาทต่อหนึ่งวัน เว้นแต่ในกรณีที่ศาลพิพากษาให้ปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทขึ้นไป ศาลจะสั่งให้กักขังแทนค่าปรับเป็นระยะเวลาเกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี ก็ได้ แต่ทั้งนี้ศาลจะต้องสั่งไว้ให้ชัดแจ้ง หากศาลไม่ได้สั่งไว้เป็นอย่างอื่นโดยชัดแจ้ง ก็จะกักขังเกินกำหนด 1 ปีไม่ได้ ถึงแม้ศาลพิพากษาให้ปรับตั้งแต่ 80,000 บาท ขึ้นไปก็ตาม คดีนี้ศาลชั้นต้นไม่ได้สั่งให้กักขังจำเลยทั้งสองไว้เป็นอย่างอื่น ดังนั้น หากจะกักขังแทนค่าปรับก็กักขังได้เพียง 1 ปี การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังเกินกว่า 1 แต่ไม่เกิน 2 ปี จึงเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสองโดยโจทก์มิได้อุทธรณ์ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและเป็นหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้อง รวมถึงมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้ฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังไม่เกิน 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6

Share