คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1027/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดฐานมีอาวุธปืน พกอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกับพวกใช้อาวุธปืนดังกล่าวกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยร่วมกับพวกกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์แล้ว ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษายกฟ้องไปถึงความผิดฐานมีอาวุธปืนและพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตของจำเลยได้ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185เพราะเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกัน แม้ว่าความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวจะยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงก็ตาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340, 340 ตรี, 371, 91, 32 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปปกครองแผ่นดินฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 3, 6, 7 และสั่งริบอาวุธปืนของกลาง ให้จำเลยร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 15,050 บาทแก่เจ้าของด้วย จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสองประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี, 371 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 14, 15 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519ข้อ 3, 6, 7 ให้เรียงกระทงลงโทษความผิดฐานปล้นทรัพย์จำคุกคนละ21 ปี ความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครอง จำคุกคนละ 2 ปี ความผิดฐานพาอาวุธปืนซึ่งการกระทำเป็นกรรมเดียว ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ซึ่งมีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี รวมเป็นวางโทษจำเลยคนละ 24 ปี ริบอาวุธปืนของกลางให้จำเลยร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 15,050 บาท แก่เจ้าของ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสองนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “สำหรับความผิดฐานมีอาวุธปืนและฐานพาอาวุธปืนของจำเลยทั้งสอง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 2 ปี และ 1 ปี ตามลำดับจึงต้องห้ามมิให้จำเลยทั้งสองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 คงมีปัญหามาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะความผิดฐานปล้นทรัพย์ พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุมีคนร้ายปล้นเอาทรัพย์ของผู้เสียหายทั้งสองไปตามฟ้อง คดีมีปัญหาว่าจำเลยทั้งสองเป็นคนร้ายรายนี้หรือไม่ ประจักษ์พยานโจทก์คือนางสุวิน คล้ายจินดาผู้เสียหายที่ 1 เบิกความยืนยันว่า คนร้ายมีทั้งหมด 3 คน จำหน้าได้ 2 คน คือจำเลยทั้งสอง โดยมีรายละเอียดเป็นสำคัญว่า ขณะนอนหลับอยู่ในมุ้งกับผู้เสียหายที่ 2 ต้องตื่นขึ้นเพราะจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ซึ่งต่างมีอาวุธปืนพกและไฟฉายคนละกระบอกเข้ามาในมุ้ง จำเลยที่ 1 ยืนคร่อมร่างผู้เสียหายที่ 2 ไว้ส่วนจำเลยที่ 2 ยืนอยู่ที่ปลายเท้าผู้เสียหายที่ 1 เห็นและจำหน้าจำเลยทั้งสองได้จากแสงไฟฉายที่จำเลยทั้งสองส่องฉายหาทรัพย์อยู่ภายในมุ้งนานราว 20 นาทีแต่นายไล่เซ็ง กิจประยูร ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งนอนอยู่ในมุ้งด้วยโดยตลอดมีโอกาสเห็นคนร้ายได้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าผู้เสียหายที่ 1 กลับเบิกความไม่ยืนยันว่าจำเลยทั้งสองเป็นคนร้าย เห็นว่าแม้คำเบิกความของผู้เสียหายที่ 2 จะแตกต่างกับคำให้การชั้นสอบสวนของตน ตามเอกสารหมาย จ.7 ที่ให้การว่า จำเลยทั้งสองเป็นคนร้ายก็ตาม แต่คำเบิกความของผู้เสียหายที่ 2 ในชั้นพิจารณาของศาลกระทำต่อหน้าคู่ความย่อมมีน้ำหนักควรแก่การรับฟังมากกว่าคำให้การชั้นสอบสวนซึ่งเป็นเพียงพยานชั้นที่ 2 ที่ผู้เสียหายที่ 2เบิกความไม่ยืนยันว่า จำเลยทั้งสองเป็นคนร้ายจะฟังว่า เพื่อช่วยเหลือให้จำเลยทั้งสองพ้นผิดก็ไม่น่าจะเป็นได้ เพราะหากกรณีเป็นไปดังกล่าวนั้น ผู้เสียหายที่ 1 ก็น่าจะเบิกความโดยไม่ยืนยันว่าจำเลยทั้งสองเป็นคนร้าย ทำนองเดียวกับผู้เสียหายที่ 2ผู้เป็นสามีและต่างก็เบิกความในการพิจารณาคดีของศาลนัดเดียวกันเหตุนี้จึงเชื่อว่าผู้เสียหายที่ 2 จำคนร้ายไม่ได้ดังที่เบิกความส่วนผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเบิกความยืนยันว่า จำเลยทั้งสองเป็นคนร้ายเห็นและจำได้โดยแสงสว่างจากไฟฉายที่คนร้ายฉายส่องหาทรัพย์นั้น เห็นว่าเมื่อคนร้ายฉายไฟแสงย่อมพุ่งไปข้างหน้าผู้เสียหายที่ 1 จึงเห็นคนร้ายได้จากแสงสะท้อนเท่านั้นซึ่งสว่างอย่างเลือนรางไม่ชัดเจนและได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ว่า คนร้ายฉายไฟส่องหาทรัพย์เฉพาะภายในมุ้งโดยได้นาฬิกาข้อมือที่ผู้เสียหายที่ 2 สวมใส่อยู่กับเงินสดและสร้อยคอทองคำที่ห่อรวมกันวางไว้ที่มุมมุ้งตอนปลายเท้าเท่านั้นดังนี้ ที่ผู้เสียหายที่ 1 เบิกความว่าคนร้ายฉายไฟส่องหาทรัพย์อยู่นานราว 20 นาที จึงไม่น่าเชื่อและไม่น่าเชื่อว่าคนร้ายจะฉายไฟอยู่ตลอดเวลาด้วย ประกอบกับตลอดเวลาที่คนร้ายอยู่ภายในมุ้งผู้เสียหายที่ 1 ย่อมต้องอยู่ในภาวะตกใจกลัวอยู่ด้วย การที่จะจดจำรูปร่างหน้าตาคนร้ายให้ได้แม่นยำจึงเป็นไปได้ยาก ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น จากการนำสืบของโจทก์ก็มีข้อน่าสังเกตว่า ตอนที่ผู้เสียหายที่ 1 ไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจไม่ได้ระบุชื่อจำเลยที่ 2 คงได้ความจากคำเบิกความของร้อยตำรวจตรีชัยวัฒน์มังคะวัฒน์ว่า ที่ไปจับกุมจำเลยที่ 2 เพราะสืบทราบจากสายลับว่าจำเลยที่ 2 เป็นคนร้ายด้วย แต่คำเบิกความดังกล่าวของร้อยตำรวจตรีชัยวัฒน์ เป็นคำเบิกความลอย ๆ ไม่มีรายละเอียดว่าสายลับรู้มาได้อย่างไร ดังนี้เหตุที่ไปจับกุมจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่าทราบจากสายลับจึงไม่สมเหตุสมผล จากการตรวจค้นบ้านของจำเลยทั้งสองก็หาได้ทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดของผู้เสียหายที่ถูกปล้นไปไม่ ตอนจับกุมจำเลยทั้งสองต่างก็ยอมให้จับกุมโดยดีไม่มีข้อพิรุธให้เป็นที่ประจักษ์ พยานโจทก์คงมีแต่ผู้เสียหายที่ 1ปากเดียวที่เบิกความยืนยันว่าจำเลยทั้งสองเป็นคนร้าย พยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีที่จะฟังประกอบก็ไม่มีที่ผู้เสียหายที่ 1ไปแจ้งความระบุว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายก็ดี และเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งสองได้ ผู้เสียหายที่ 1ดูแล้วยืนยันว่าจำเลยทั้งสองเป็นคนร้ายก็ดี ยังไม่สนิทใจที่จะเชื่อว่าจะไม่ผิดตัว พยานหลักฐานโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะให้รับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันเป็นคนร้ายปล้นทรัพย์รายนี้ และเมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ในคดีนี้ฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดฐานมีอาวุธปืนและฐานพาอาวุธปืนของจำเลยทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185เพราะเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองมานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ แต่ของกลางให้ริบ

Share