คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 124/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถยนต์บรรทุกคันที่เกิดเหตุชนหลักเสาหินกันโค้ง และรางระบายน้ำคอนกรีตของโจทก์เสียหาย รถยนต์บรรทุกดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 2 เช่าซื้อมาจากบริษัท ค. ซึ่งตามป.พ.พ. มาตรา 572 จำเลยที่ 2 คงมีสิทธิที่จะครอบครองใช้ประโยชน์รถยนต์คันดังกล่าวระหว่างเช่าซื้อเท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ครอบครองหรือควบคุมดูแลรถยนต์ในขณะเกิดเหตุตามความหมายของ ป.พ.พ. มาตรา 437 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดของจำเลยที่ 1 ด้วย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลเป็นเจ้าของเสาหลักกันโค้งและรางระบายน้ำคอนกรีตริมทาง บริเวณทางหลวงกิโลเมตรที่ 106+900ทางหลวงหมายเลข 1035 ตอนวังเหนือ-แม่ขะจาน เมื่อวันที่ 23 กันยายน2527 จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 84-0707กรุงเทพมหานคร ซึ่งจำเลยที่ 2 เช่าซื้อมาจากบริษัทโค้วยู่ฮะมอเตอร์จำกัด บรรทุกขิงแล่นไปตามทางหลวงหมายเลข 1035 โดยประมาทด้วยความเร็วสูง เป็นเหตุให้รถชนเสาหลักกันโค้ง 3 ต้น และรางระบายน้ำคอนกรีตยาว 33 เมตร ซึ่งอยู่ที่บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 106+900ของโจทก์เสียหายใช้การไม่ได้ คิดค่าเสาหลักกันโค้งเป็นเงิน 750 บาทและค่ารางระบายน้ำเป็นเงิน 9,900 บาท รวมเป็นเงิน 10,650 บาทจำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองรถยนต์คันดังกล่าว ซึ่งเป็นยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล จึงต้องร่วมกันกับจำเลยที่ 1รับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น จึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าเสียหายดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 12,358.43 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 10,650 บาทนับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 12 พฤศจิกายน 2529) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 400 บาท สำหรับจำเลยที่ 2ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาเฉพาะข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์ว่า ตามคำฟ้องและทางพิจารณาถือได้หรือไม่ว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 84-0707 กรุงเทพมหานครซึ่งจะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ผู้กระทำละเมิด เห็นว่า แม้ปรากฏตามคำบรรยายฟ้องใจความว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้เช่าซื้อและครอบครองรถยนต์คันดังกล่าว และจำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดพิจารณา ไม่ได้ต่อสู้ว่าจำเลยที่ 2 ไม่ใช่ผู้ครอบครองรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับก็ตาม แต่โจทก์ก็ยังมีหน้าที่จะต้องนำพยานหลักฐานมาสืบให้ศาลเห็นว่าข้ออ้างตามฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมายในคดีนี้คงได้ความตามทางพิจารณาว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถยนต์บรรทุกคันที่เกิดเหตุชนหลักเสาหินกันโค้งและรางระบายน้ำคอนกรีตของโจทก์เสียหาย และรถยนต์บรรทุกดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 2 เช่าซื้อมาจากบริษัทโค้วยู่ฮะมอเตอร์ จำกัด ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 จำเลยที่ 2 คงมีสิทธิที่จะครอบครองใช้ประโยชน์รถยนต์คันดังกล่าวระหว่างเช่าซื้อเท่านั้นเมื่อไม่ปรากฏตามทางพิจารณาว่าจำเลยที่ 2 ครอบครองหรือควบคุมดูแลรถยนต์ในขณะเกิดเหตุตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 437 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดของจำเลยที่ 1 ด้วย ศาลล่างสองศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 2ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น และคำพิพากษาฎีกาที่โจทก์ยกขึ้นอ้าง ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้”
พิพากษายืน.

Share