แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เกี่ยวกับกำหนดเวลาจำคุกผู้กระทำผิดตามคำพิพากษานั้นกฎหมายอาญา มาตรา 72 บัญญัตินับแต่วันต้องคุมขัง เว้นแต่ในคำพิพากษาจะสั่งเป็นอย่างอื่น เช่นสั่งให้นับแต่วันคดีถึงที่สุดเป็นต้น
แต่ถ้าจะสั่งให้นับต่อจากคดีเรื่องอื่นก็จำต้องมีคำขอเช่นนั้น ซึ่งโดยปกติโจทก์ต้องขอมาในฟ้อง ถ้าจะขอภายหลังก็ต้องขอก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 แม้ มาตรา 215 จะให้นำบทบัญญัติที่ว่าด้วยการพิจารณาและว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งศาลชั้นต้นมาบังคับในชั้นศาลอุทธรณ์ด้วยโดยอนุโลมก็ดี มาตรา 163 ก็อยู่ในลักษณะฟ้องคดีอาญาและไต่สวนมูลฟ้องหาได้อยู่ในลักษณะการพิจารณาไม่ จึงอาศัยความในมาตรานี้นับโทษต่อให้ไม่ได้
ย่อยาว
คดีทั้งสามสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน
โจทก์ฟ้องทั้งสามสำนวนว่าจำเลยกับพวกที่ศาลลงโทษแล้วและที่หลบหนีบังอาจสมคบกันจับตัวนายคืน น.ส.คำนึง นายหวล นายทวีแล้วใช้ปืนบังคับให้คนทั้ง 4 ไปกับพวกจำเลยเพื่อสินไถ่และทำการหน่วงเหนี่ยวกักขังคนทั้ง 4 ไว้เรียกสินไถ่คนทั้ง 4 รวมเป็นเงิน 2 คราว 100,000 บาท
ก่อนคดีนี้นายนิตย์จำเลยถูกศาลจังหวัดสิงห์บุรีพิพากษาลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน ฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานพ้นโทษยังไม่ครบ 5 ปี ขอให้ลงโทษและเพิ่มโทษนายนิตย์จำเลยตามกฎหมายอาญา มาตรา 270,63, 72 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายอาญา พ.ศ. 2477 (ฉบับที่ 4) มาตรา 3
จำเลยทุกคนปฏิเสธ ต่อสู้อ้างฐานที่อยู่ นายนิตย์จำเลยรับว่าเคยต้องโทษจริงตามฟ้อง
ศาลจังหวัดอ่างทองพิจารณาแล้วเชื่อว่านายนิตย์จำเลยกระทำผิดจริงตามฟ้อง พิพากษาว่านายนิตย์จำเลยมีความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 270 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายอาญา พ.ศ. 2477 (ฉบับที่ 4) มาตรา 3 ให้จำคุก 16 ปี เพิ่มโทษตามมาตรา 72 อีก 1 ใน 3 เป็นโทษจำคุก 21 ปี 4 เดือนแต่คงให้จำคุกไว้เพียง 20 ปี ตามมาตรา 36 ส่วนนายชิต นายพลุนั้น พยานหลักฐานโจทก์ยังเป็นที่สงสัยให้ยกฟ้องคดีเฉพาะตัวนายชิต นายพลุ จำเลย
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษนายชิต นายพลุ จำเลยด้วย ฝ่ายนายนิตย์จำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกนายชิต นายพลุ จำเลยตามกฎหมายอาญา มาตรา 270 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายอาญา พ.ศ. 2477 (ฉบับที่ 4)มาตรา 3 มีกำหนดคนละ 16 ปี นอกนี้คงยืน
ส่วนคำร้องของโจทก์ที่ขอให้นับโทษนายชิตนายพลุต่อจากคดีอาญาแดงที่ 677, 678/2497 ซึ่งศาลจังหวัดอ่างทองลงโทษจำเลยระหว่างศาลอุทธรณ์กำลังพิจารณาคดีนี้อยู่นั้นเห็นว่า คำขอนี้ไม่ใช่เป็นข้อคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น และไม่ใช่ประเด็นในคดีที่ยกขึ้นว่ากันมาในศาลชั้นต้นแล้ว หากเป็นคำขอขึ้นมาใหม่ ให้ยกเสีย
แต่ผู้พิพากษานายหนึ่งมีความเห็นแย้งว่า โจทก์ไม่มีโอกาสที่จะขอในศาลชั้นต้นและโจทก์มิได้ชักช้า เห็นสมควรให้นับโทษต่อได้
โจทก์ฎีกาขอให้นับโทษนายชิต นายพลุ จำเลยต่อจากคดีอาญาแดงที่ 677, 678/2497 ฝ่ายจำเลยขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลฎีกาฟังว่าจำเลยทั้งสามกับพวกได้กระทำผิดรายนี้ดังศาลอุทธรณ์ชี้ขาดมา
ส่วนข้อขอให้นับโทษต่อตามฎีกาของโจทก์นั้นได้ความว่าศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนี้เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2497 วันที่ 20 พฤศจิกายน 2497 พิพากษาลงโทษนายชิต นายพลุ จำเลยตามคดีแดงที่ 677, 678/2497 วันที่ 23 เดือนเดียวกัน โจทก์ยื่นคำร้องในคดีที่นายชิต นายพลุจำเลยถูกฟ้องนี้ ขอให้นับโทษจำเลยทั้งสองต่อจากคดีสองสำนวนนั้น
เห็นว่ากำหนดเวลาจำคุกผู้กระทำผิดตามคำพิพากษานั้นกฎหมายอาญา มาตรา 32 บัญญัติให้นับแต่วันต้องคุมขัง เว้นแต่ในคำพิพากษาจะสั่งเป็นอย่างอื่น เช่นสั่งให้นับแต่วันคดีถึงที่สุด เป็นต้นแต่ถ้าจะสั่งให้นับต่อจากคดีเรื่องอื่น ก็จำต้องมีคำขอเช่นนั้นซึ่งโดยปกติโจทก์ต้องขอมาในฟ้อง ถ้าจะขอภายหลังก็ต้องขอก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 แม้มาตรา 215 จะให้นำบทบัญญัติที่ว่าด้วยการพิจารณาและว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งศาลชั้นต้นมาบังคับในชั้นศาลอุทธรณ์ด้วยโดยอนุโลมก็ดี มาตรา 163 ก็อยู่ในลักษณะฟ้องคดีอาญาและไต่สวนมูลฟ้อง หาได้อยู่ในลักษณะการพิจารณาไม่ นับโทษต่อตามคำขอของโจทก์ไม่ได้ดังศาลอุทธรณ์พิพากษา พิพากษายืน