คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5264/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 303 วรรคแรก บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องนั้นท่านว่าจะพึงโอนกันได้ เว้นไว้แต่สภาพแห่งสิทธินั้นเองจะไม่เปิดช่องให้โอนกันได้” เมื่อสิทธิเรียกร้องในหนี้ที่ตกลงโอนให้แก่กันดังกล่าวเป็นสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่ง คดีหมายเลขแดงที่ ง.509/2545 ซึ่งบุคคลที่มีสิทธิขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาจะต้องเป็นคู่ความหรือบุคคลที่เป็นฝ่ายชนะคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ลูกหนี้ที่ 2 ซึ่งต้องร่วมกับลูกหนี้ที่ 1 และพวกชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวให้แก่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โจทก์เดิมและเจ้าหนี้ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก จึงมิใช่คู่ความหรือบุคคลที่เป็นฝ่ายชนะคดีตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 271 และไม่อยู่ในฐานะที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาดังกล่าวได้ ทั้งไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายที่ให้สิทธิแก่ลูกหนี้ที่ 2 และเจ้าหนี้ซึ่งมิใช่คู่ความหรือบุคคลที่เป็นฝ่ายชนะคดีเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวแทนโจทก์เดิมได้ ดังเช่นที่
พระราชกำหนดปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 พระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 พระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 ให้สิทธิแก่สถาบันการเงินหรือบริษัทบริหารสินทรัพย์หรือบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์เดิมได้ ดังนั้น โดยสภาพแห่งสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวจึงไม่เปิดช่องให้โอนแก่ลูกหนี้ที่ 2 และเจ้าหนี้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 303 วรรคแรก นอกจากนี้นิติสัมพันธ์ระหว่างลูกหนี้ที่ 1 และลูกหนี้ที่ 2 ในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวก็มีที่มาจากการที่ลูกหนี้ที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินระหว่างลูกหนี้ที่ 1 กับบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยโจทก์เดิม โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม การที่ลูกหนี้ที่ 2 ชำระเงินให้แก่ธนาคาร ท. จำกัด (มหาชน) ผู้เข้าสวมสิทธิแทนบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยโจทก์เดิมในคดีแพ่งดังกล่าวเป็นค่าตอบแทนการโอนสิทธิเรียกร้องเป็นเงิน 3,000,000 บาท แล้วธนาคาร ท. จำกัด (มหาชน) ตกลงโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวให้แก่ลูกหนี้ที่ 2 โดยให้ลูกหนี้ที่ 2 เป็นผู้ทรงสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ที่ 1 ผู้ค้ำประกันรายอื่น และผู้จำนำ จำนอง ชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว ย่อมมีผลทำให้สิทธิและความรับผิดในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวตกอยู่แก่บุคคลคนเดียวกันคือ ลูกหนี้ที่ 2 และทำให้หนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวเป็นอันระงับสิ้นไปสำหรับลูกหนี้ที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 295 วรรคสอง, 353 ซึ่งมีผลให้ลูกหนี้ที่ 2 ไล่เบี้ยเงินจำนวนเฉพาะที่ได้ชำระหนี้ไปตามคำพิพากษาดังกล่าวคืนจากลูกหนี้ที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 693 เท่านั้น การที่ลูกหนี้ที่ 2 และธนาคาร ท. จำกัด (มหาชน) ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าว โดยตกลงให้ลูกหนี้ที่ 2 เป็นผู้ทรงสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ที่ 1 ผู้ค้ำประกันรายอื่นและผู้จำนำ จำนอง ชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวเต็มจำนวนเป็นเงินรวม 71,728,342.42 บาท แทนแต่เพียงผู้เดียว จึงเป็นการทำนิติกรรมที่มีลักษณะเป็นการซื้อขายความ มีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ.มาตรา 150 ด้วยเหตุดังที่กล่าวมาแล้ว เจ้าหนี้จึงไม่อยู่ในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวได้ตามกฎหมาย จึงไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 ได้

ย่อยาว

เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นเจ้าหนี้รายที่ 8 ในมูลหนี้โอนสิทธิเรียกร้องเป็นเงินรวม 74,326,899.46 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 ในฐานะเจ้าหนี้ไม่มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 94
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 104 แล้ว ลูกหนี้ที่ 1 และลูกหนี้ที่ 3 โต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ว่า การที่ลูกหนี้ที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมกับลูกหนี้ที่ 1 และพวกตามคำพิพากษาของศาลแพ่ง คดีหมายเลขแดงที่ ง.509/2545 ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องและชำระหนี้ให้แก่ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาดังกล่าวมาจากเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเดิม ไม่ทำให้ลูกหนี้ที่ 2 เป็นผู้ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องโดยชอบด้วยกฎหมาย ลูกหนี้ที่ 2 จึงไม่อาจโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวให้แก่เจ้าหนี้ ทั้งการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวยังเป็นการทำนิติกรรมที่เจ้าหนี้และลูกหนี้ที่ 2 รู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้อื่นของลูกหนี้ที่ 1 เสียเปรียบ เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้ ขอให้ยกคำขอรับชำระหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้สอบสวนแล้วเห็นว่า ลูกหนี้ที่ 2 มิใช่บุคคลที่จะเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์ในหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่ง คดีหมายเลขแดงที่ ง.509/2545 ได้ การโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวระหว่างธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) กับลูกหนี้ที่ 2 จึงตกเป็นโมฆะ ลูกหนี้ที่ 2 จึงไม่อาจโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวให้แก่เจ้าหนี้ ทั้งการโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวให้แก่เจ้าหนี้ยังมีลักษณะเป็นการซื้อขายความ ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน นิติกรรมดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ จึงเห็นควรยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้เสียทั้งสิ้น ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 107 (1)
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ว่า เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามคำขอรับชำระหนี้หรือไม่ เพียงใด ที่เจ้าหนี้อุทธรณ์ว่า การโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่ง คดีหมายเลขแดงที่ ง.509/2545 ระหว่างธนาคารทหารไทย จำกัด(มหาชน) กับลูกหนี้ที่ 2 และระหว่างลูกหนี้ที่ 2 กับเจ้าหนี้เป็นการดำเนินการไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 303 ถึงมาตรา 313 อันเป็นการโอนสิทธิเรียกร้องที่ชอบด้วยกฎหมาย เจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวจากลูกหนี้ที่ 2 จึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 303 วรรคแรก บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องนั้นท่านว่าจะพึงโอนกันได้ เว้นไว้แต่สภาพแห่งสิทธินั้นเองจะไม่เปิดช่องให้โอนกันได้” เมื่อสิทธิเรียกร้องในหนี้ที่ตกลงโอนให้แก่กันดังกล่าวเป็นสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่ง คดีหมายเลขแดงที่ ง.509/2545 ซึ่งบุคคลที่มีสิทธิขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาจะต้องเป็นคู่ความหรือบุคคลที่เป็นฝ่ายชนะคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ลูกหนี้ที่ 2 ซึ่งต้องร่วมกับลูกหนี้ที่ 1 และพวกชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวให้แก่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โจทก์เดิมและเจ้าหนี้ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก จึงมิใช่คู่ความหรือบุคคลที่เป็นฝ่ายชนะคดีตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 และไม่อยู่ในฐานะที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาดังกล่าวได้ ทั้งไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายที่ให้สิทธิแก่ลูกหนี้ที่ 2 และเจ้าหนี้ซึ่งมิใช่คู่ความหรือบุคคลที่เป็นฝ่ายชนะคดีเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวแทนโจทก์เดิมได้ ดังเช่นที่พระราชกำหนดปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 พระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 พระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 ให้สิทธิแก่สถาบันการเงินหรือบริษัทบริหารสินทรัพย์หรือบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์เดิมได้ ดังนั้น โดยสภาพแห่งสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าว จึงไม่เปิดช่องให้โอนแก่ลูกหนี้ที่ 2 และเจ้าหนี้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 303 วรรคแรก นอกจากนี้นิติสัมพันธ์ระหว่างลูกหนี้ที่ 1 และลูกหนี้ที่ 2 ในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวก็มีที่มาจากการที่ลูกหนี้ที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินระหว่างลูกหนี้ที่ 1 กับบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยโจทก์เดิม โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม การที่ลูกหนี้ที่ 2 ชำระเงินให้แก่ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ผู้เข้าสวมสิทธิแทนบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยโจทก์เดิมในคดีแพ่งดังกล่าวเป็นค่าตอบแทนการโอนสิทธิเรียกร้องเป็นเงิน 3,000,000 บาท แล้วธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ตกลงโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวให้แก่ลูกหนี้ที่ 2 โดยให้ลูกหนี้ที่ 2 เป็นผู้ทรงสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ที่ 1 ผู้ค้ำประกันรายอื่น และผู้จำนำ จำนอง ชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว ตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง ย่อมมีผลทำให้สิทธิและความรับผิดในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวตกอยู่แก่บุคคลคนเดียวกันคือ ลูกหนี้ที่ 2 และทำให้หนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวเป็นอันระงับสิ้นไปสำหรับลูกหนี้ที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 295 วรรคสอง, 353 ซึ่งมีผลให้ลูกหนี้ที่ 2 ไล่เบี้ยเงินจำนวนเฉพาะที่ได้ชำระหนี้ไปตามคำพิพากษาดังกล่าวคืนจากลูกหนี้ที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 693 เท่านั้น การที่ลูกหนี้ที่ 2 และธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าว โดยตกลงให้ลูกหนี้ที่ 2 เป็นผู้ทรงสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ที่ 1 ผู้ค้ำประกันรายอื่นและผู้จำนำ จำนอง ชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวเต็มจำนวนเป็นเงินรวม 71,728,342.42 บาท แทนแต่เพียงผู้เดียว จึงเป็นการทำนิติกรรมที่มีลักษณะเป็นการซื้อขายความ มีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ด้วยเหตุดังที่กล่าวมาแล้ว เจ้าหนี้จึงไม่อยู่ในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวได้ตามกฎหมาย จึงไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 ได้ ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้มานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของเจ้าหนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share