คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9238/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามิให้บัญญัติถึงรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติในเรื่องการยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาผู้พิจารณาคดีหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา248วรรคสี่ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา15มาใช้บังคับโดยอนุโลมทั้งนี้มาตรา248วรรคสี่แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้วางหลักเกณฑ์ในเรื่องนี้ไว้ว่าการขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์รับรองว่ามีเหตุผลสมควรที่จะฎีกาได้นั้นให้ผู้ฎีกายื่นคำร้องถึงผู้พิพากษานั้นพร้อมกับคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นคดีนี้แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่1แต่การที่จำเลยที่1ได้ยื่นคำร้องในวันเดียวกันนั้นซึ่งยังอยู่ภายในกำหนดอายุฎีกาขอให้ผู้พิพากษาที่ลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์พิจารณาอนุญาตให้จำเลยที่1ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงโดยที่จำเลยที่1มิได้ยื่นฎีกาฉบับใหม่เข้ามาด้วยเช่นนี้ถือได้ว่าจำเลยที่1ประสงค์จะขอถือเอาฎีกาฉบับเดิมที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับไปแล้วนั้นเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงประกอบคำร้องขออนุญาตฎีกาของจำเลยที่1ต่อไปกรณีย่อมอนุโลมได้ว่าจำเลยที่1ได้ยื่นคำร้องขออนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงพร้อมกับคำฟ้องฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าวแล้วจึงชอบที่ผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จะได้พิจารณาคำร้องและคำฟ้องฎีกาของจำเลยที่1ว่ามีเหตุสมควรจะอนุญาตให้จำเลยที่1ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งเก้าตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 4, 5, 6, 10, 12, 15ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ริบของกลาง และจ่ายสินบนนำจับตามกฎหมายจำเลยทั้งเก้าให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งเก้ามีความผิดตามฟ้อง เรียงกระทงลงโทษทั้งฐานเป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนันสลากกินรวบและเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้รวม 6 กระทง ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละ 5 เดือน รวมจำคุก30 เดือน ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 กระทงละ 5 เดือน ปรับกระทงละ 5,000 บาท รวมจำคุกคนละ 30 เดือน ปรับคนละ 30,000 บาทจำเลยทุกคนให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในห้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จำเลยที่ 1 จำคุก 24 เดือนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 จำคุกคนละ 24 เดือน ปรับคนละ 24,000 บาทพิเคราะห์พฤติการณ์ของจำเลยทั้งเก้าจากรายงานการสืบเสาะและพินิจแล้วไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2ถึงที่ 9 เห็นควรให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ 2 ปี และให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 มารายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 เดือนครั้ง ภายในกำหนดที่ศาลรอการลงโทษ ส่วนโทษปรับไม่ชำระให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง จ่ายสินบนนำจับกึ่งหนึ่งของค่าปรับแก่ผู้นำจับ จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
เมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้จำเลยที่ 1 ฟังในวันที่ 27 ธันวาคม 2538 ต่อมาวันที่ 22 มกราคม 2539จำเลยที 1 ยื่นฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันเดียวกันว่า รอไว้สั่งเมื่อครบกำหนดส่งตัวจำเลยที่ 1 ในวันที่ 29 มกราคม 2539ต่อมาในวันที่ 29 มกราคม 2539 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า ฎีกาของจำเลยที่ 1 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 จึงไม่รับในวันเดียวกันนั้น จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2ทั้งหมดอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องหลังจากศาลมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 1แล้ว จึงให้ส่งคำร้องและสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 2 เพื่อพิจารณาสั่ง และก่อนที่ศาลชั้นต้นจะส่งสำนวนและคำร้องขออนุญาตให้ฎีกาไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิจารณานั้น จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา ศาลฎีกาพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า คำฟ้องฎีกาของจำเลยที่ 1 มีใจความว่าสมควรรอการลงโทษให้จำเลยที่ 1 เช่นเดียวกับจำเลยอื่นนั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจของศาลว่าสมควรเพียงไรจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 1 ชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง
ในส่วนที่เกี่ยวกับคำร้องขอให้ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 2วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้รับรองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่ไม่มีฎีกาของจำเลยที่ 1 แนบมาด้วย จึงไม่อาจรับรองให้จำเลยที่ 1 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ ให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ได้ยื่นฎีกาไว้ก่อนจะยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงแล้ว และฎีการวมอยู่ในสำนวนขอให้ศาลฎีกาส่งคำร้องพร้อมฎีกาของจำเลยที่ 1 ไปให้ผู้พิพากษาในศาลอุทธรณ์ภาค 2 ดังกล่าวพิจารณา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มิได้บัญญัติถึงรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติในเรื่องการยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาผู้พิจารณาคดีหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสี่ ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 มาใช้บังคับโดยอนุโลมทั้งนี้ มาตรา 248 วรรคสี่ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้วางหลักเกณฑ์ในเรื่องนี้ไว้ว่า การขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาได้นั้นให้ผู้ฎีกายื่นคำร้องถึงผู้พิพากษานั้นพร้อมกับคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้น คดีนี้แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 1 แต่การที่จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องในวันเดียวกันนั้นซึ่งยังอยู่ภายในกำหนดอายุฎีกา ขอให้ผู้พิพากษาที่ลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิจารณาอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงโดยที่จำเลยที่ 1 มิได้ยื่นฎีกาฉบับใหม่เข้ามาด้วยเช่นนี้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ประสงค์จะขอถือเอาฎีกาฉบับเดิมที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับไปแล้วนั้นเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงประกอบคำร้องขออนุญาตฎีกาของจำเลยที่ 1 ต่อไป กรณีย่อมอนุโลมได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขออนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงพร้อมกับคำฟ้องฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว ชอบที่ผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 จะได้พิจารณาคำร้องและคำฟ้องฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่ามีเหตุสมควรจะอนุญาตให้จำเลยที่ 1ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยและมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 1 นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษายกคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้ศาลชั้นต้นส่งคำร้องและคำฟ้องฎีกาของจำเลยที่ 1 ไปให้ผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิจารณาดำเนินการต่อไป

Share