คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1490/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยบุกรุกเข้ายึดถือที่ดินตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้อง อันเป็นทางสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่อยู่ในเขตสุขาภิบาลโจทก์ ขอให้ขับไล่. โจทก์ได้คัดสำเนาประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องจัดตั้งสุขาภิบาลพร้อมทั้งภาพถ่ายแสดงเขตสุขาภิบาลตามประกาศให้เห็นเส้นและหลักเขตสุขาภิบาลอย่างชัดเจน. มีมาตราส่วนที่สามารถวัดตรวจสอบได้อย่างละเอียด กับมีแผนที่วิวาทแสดงเขตที่จำเลยบุกรุกซึ่งวัดได้แน่นอน. สามารถเข้าใจได้ว่าที่พิพาทอยู่ตรงไหน จำเลยบางคนให้การปฏิเสธว่าแผนที่แสดงที่พิพาทผิดความจริง. บางคนไม่ปฏิเสธ. แต่ในชั้นพิจารณา ไม่มีจำเลยคนใดนำสืบถึงความไม่ถูกต้องของแผนที่วิวาทท้ายฟ้อง. ดังนี้ เมื่อศาลพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยออกจากทางพิพาท ย่อมหมายถึงที่พิพาทตามแผนที่ท้ายฟ้อง.
ในชั้นบังคับคดี จำเลยอ้างว่าไม่สามารถปฏิบัติตามคำบังคับได้. เพราะการดำเนินคดีมิได้ทำแผนที่กลาง. ศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์จำเลยชี้เขต แล้วมีคำสั่งกำหนดเขตที่พิพาทขึ้นใหม่ต่างไปจากที่พิพาทตามแผนที่ท้ายฟ้อง. คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวย่อมเป็นการแก้ไขคำวินิจฉัยในคำพิพากษาเดิม ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143. ไม่มีผลใช้บังคับ. แม้โจทก์จะมิได้อุทธรณ์คัดค้าน.ก็ยังมีสิทธิขอให้ศาลบังคับจำเลยตามแผนที่ท้ายฟ้องเพื่อให้ถูกต้องตรงตามคำพิพากษาได้. กรณีมิใช่เป็นเรื่องแก้ไขคำสั่งเดิมที่ไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์.

ย่อยาว

กรณีเนื่องจากศาลพิพากษาให้จำเลยออกจากทางสาธารณะพิพาทโดยให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปและทำทางให้คงคืนสภาพเดิม จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ ศาลเรียกจำเลยมาสอบถาม จำเลยแถลงว่าไม่สามารถปฏิบัติได้ เพราะการดำเนินคดีไม่ได้ทำแผนที่กลาง ศาลนัดโจทก์จำเลยมาตกลงเขตที่แน่นอน จำเลยแถลงว่าพอมีทางตกลงกันได้ ขอให้ฝ่ายโจทก์เป็นผู้ไปชี้เขตว่าจะเอาตั้งแต่ตรงไหน ถ้าชี้แล้ว จำเลยเห็นว่าไม่เสียเปรียบ ก็ขอปรองดองตามนั้น เมื่อโจทก์จำเลยไปดูสถานที่แล้ว ได้แถลงร่วมกันต่อศาล ปรากฏว่าแนวที่โจทก์จำเลยชี้ไม่ตรงกัน จึงตกลงกันไม่ได้ ขอให้ศาลสั่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2511 ว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยบุกรุกเขตสุขาภิบาล ศาลก็ต้องถือหลักเขตสุขาภิบาลเป็นหลักสมมุติ โดยถือกึ่งกลางของหลักเขตสุขาภิบาลและหลักเขตจังหวัด คือ 30 เซ็นติเมตร เป็นประมาณ เป็นจุดสมมุติว่าใกล้เคียงที่สุด ทางสาธารณะต้องวัดจากจุดกึ่งกลางนี้ไปทางเหนือในเขตสุขาภิบาลโจทก์ 2.50 เมตร และไปทางใต้ 2.50 เมตร ต่อมาวันที่ 7 มีนาคม 2511 โจทก์กลับยื่นคำร้องใหม่ว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยออกจากที่พิพาท โดยให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไป กับทำให้ทางคงสภาพเดิม และฟังข้อเท็จจริงว่าที่พิพาทอยู่ในเขตจังหวัดกาญจนบุรีส่วนหนึ่ง ดังปรากฏตามแผนที่ท้ายฟ้องของโจทก์ และศาลฎีกาพิพากษายืนฉะนั้นที่พิพาทตามที่ศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยออกจากที่สาธารณะในคดีนี้ ก็คือที่สาธารณะตามแผนที่ท้ายฟ้องโจทก์ คู่ความจะโต้แย้งเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เพราะคดีถึงที่สุดแล้ว จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาและคำบังคับ ขอให้มีคำสั่งจับกุมและกักขังจำเลยไว้จนกว่าจะปฏิบัติตาม จำเลยแถลงว่า โจทก์มิได้จัดการกับเขตทางตามที่ศาลสั่งกำหนดเขต จำเลยจึงไม่มีทางจะปฏิบัติหรือขัดขวางอย่างใด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งลงวันที่ 10 เมษายน 2511 ว่า ให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากทางสาธารณะพิพาท รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปและทำทางให้คงคืนสภาพเดิม สำหรับสิบตำรวจเอกเขียนจำเลยให้วัดจากเขตโฉนดของนางมาลีตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องไป2.50 เมตร ยาวตลอดเขตในแผนที่ ส่วนนางเป้าจำเลย ให้วัดจากหลักเขตโฉนดของนางหอมตามแผนที่สีแดงท้ายฟ้องไป 2.50 เมตร และ7.70 เมตร ยาวตลอดเนื้อที่ จำเลยอุทธรณ์ว่า คำสั่งศาลลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2511 ยุติแล้ว ไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์คำสั่งใหม่ขัดคำสั่งเดิม และเป็นการเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งเดิมโดยไม่ชอบ ใช้บังคับไม่ได้ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คำสั่งลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2511ไม่ใช่คำสั่งที่วินิจฉัยชี้ขาดคดี หากแต่เป็นคำสั่งชั้นบังคับคดีเพื่อให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งศาลชั้นต้นมีอำนาจสั่งได้เมื่อเห็นสมควรตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 กรณีไม่เข้ามาตรา 147 พิพากษายืน จำเลยฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีสองสำนวนนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองว่าต่างบุกรุกเข้ายึดถือที่ดินตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้อง อันเป็นทางสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่อยู่ในเขตสุขาภิบาลโจทก์ โจทก์ได้คัดสำเนาประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องจัดตั้งสุขาภิบาลโจทก์ พร้อมทั้งภาพถ่ายแสดงเขตสุขาภิบาลตามประกาศให้เห็นเส้นและหลักเขตสุขาภิบาลอย่างชัดเจน มีมาตราส่วนที่สามารถจะวัดตรวจสอบให้ทราบได้อย่างละเอียด กับมีแผนที่วิวาทแสดงเขตที่จำเลยทั้งสองบุกรุกซึ่งวัดได้เป็นจำนวนเมตรและเซ็นติเมตรอย่างแน่นอน สามารถเป็นที่เข้าใจได้ว่าที่พิพาทอยู่ตรงไหน สิบตำรวจเอกเขียนจำเลยปฏิเสธแผนที่แสดงที่พิพาทว่าผิดจากความจริง ส่วนางสาวเป้าจำเลยไม่ได้ปฏิเสธแผนที่วิวาทท้ายฟ้องเลย และในชั้นพิจารณา จำเลยทั้งสองก็มิได้นำสืบถึงความไม่ถูกต้องของแผนที่วิวาทท้ายฟ้องว่าที่ถูกต้องควรจะเป็นอย่างไร คงมีข้อโต้เถียงกันคือ โจทก์ว่าเคยมีทางเกวียนสาธารณะเป็นเส้นแบ่งเขตจังหวัด ต่อมาทางเกวียนค่อยเลือนหายไป และจำเลยเข้ายึดถือเอาทางเกวียนเป็นของตน แต่ฝ่ายจำเลยว่าทางเกวียนสาธารณะไม่เคยมี แต่แล้วศาลฎีกาก็เห็นว่าหลักฐานพยานจำเลยทั้งสองไม่อาจหักล้างพยานโจทก์ได้ ฟังว่าเคยมีทางเกวียนสาธารณะเป็นเส้นแบ่งเขตจังหวัดกาญจนบุรีกับจังหวัดราชบุรี แล้วจำเลยเข้ายึดถือเอาเสียจริง ดังนี้จึงต้องถือว่าที่ที่ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองออกจากที่พิพาท คือที่พิพาทตามแผนที่ท้ายฟ้อง ไม่ใช่ที่ที่ศาลชั้นต้นสั่งกำหนดใหม่การที่ศาลชั้นต้นมาสั่งกำหนดเขตที่พิพาทใหม่ ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2511 ทำให้ผิดไปจากที่พิพาทตามแผนที่ท้ายฟ้อง ซึ่งจำเลยทั้งสองสำนวนจะต้องถูกบังคับ ย่อมเป็นการแก้คำวินิจฉัยในคำพิพากษาเดิม ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 วรรคสองไม่มีผลใช้บังคับโจทก์ย่อมมีสิทธิขอให้ศาลบังคับจำเลยตามแผนที่วิวาทท้ายฟ้องเพื่อให้ถูกต้องตรงตามคำพิพากษาได้ กรณีไม่ใช่เป็นเรื่องแก้ไขคำสั่งเดิมที่ไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์ ดังจำเลยยกเป็นข้อฎีกา พิพากษายืน.

Share