คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8533/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2544 ภายหลังจาก พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.พ. (ฉบับที่ 19)ฯ มีผลใช้บังคับแล้ว คำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยทั้งสองจึงอยู่ภายใต้บังคับของ ป.วิ.พ. มาตรา 207 ที่ให้นำบทบัญญัติมาตรา 199 เบญจ มาใช้บังคับโดยอนุโลม คดีนี้จำเลยทั้งสองอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ย่อมเป็นที่สุดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว จำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิฎีกาต่อไปได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 12/1 หมู่ที่ 9 ออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 60652 และ 60653 แขวงราษฎร์บูรณะ เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ ให้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ 2,000 บาท และชดใช้ค่าเสียหายเดือนละ 1,000 บาท นับแต่วันฟ้อง จนกว่าจำเลยทั้งสองจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินของโจทก์ ให้ร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ ศาลช้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปรากฏข้อเท็จจริงตามสำนวนว่า โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2544 ภายหลังจากพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2543 มีผลใช้บังคับแล้ว คำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยทั้งสองจึงอยู่ภายใต้บังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 207 ที่ให้นำบทบัญญัติมาตรา 199 เบญจ มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้คำสั่งศาลที่อนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ให้เป็นที่สุด แต่ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาต ผู้ขออาจอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด คดีนี้จำเลยทั้งสองอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ย่อมเป็นที่สุดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว จำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิฎีกาต่อไปได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยทั้งสองมาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาของจำเลยทั้งสอง

Share