แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
แม้การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่เก็บเงินจากลูกค้าของโจทก์แล้วนำไปเป็นประโยชน์ส่วนตนจะเป็นการละเมิดต่อโจทก์ แต่เนื่องจากโจทก์และจำเลยที่ 1 มีความสัมพันธ์กันตามสัญญาจ้างแรงงาน การที่จำเลยที่ 1 กระทำการดังกล่าว จึงเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานอยู่ในตัวด้วย การใช้สิทธิเรียกร้องของโจทก์เกี่ยวกับการผิดสัญญาจ้างแรงงานไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ ต้องอยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 193/30 คือ มีอายุความ 10 ปี มิใช่ 1 ปี หนี้ของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความและแม้จำเลยที่ 1 กับโจทก์จะทำสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวกระทำภายในศาลหลังมีการฟ้องคดีแล้ว เห็นได้ว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อบังคับหนี้ตามฟ้อง มิใช่เพื่อระงับหนี้เดิมและก่อหนี้ใหม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 ไม่มีผลให้หนี้เดิมระงับ จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ยังต้องรับผิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้เข้าทำงานเป็นลูกจ้างโจทก์ในตำแหน่งพนักงานขายสินค้า มีหน้าที่ขายสินค้าและเก็บเงินค่าสินค้าจากลูกค้าของโจทก์และนำส่งมอบให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ตกลงยินยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ได้กระทำไม่ว่าโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ เป็นจำนวนเงินไม่เกิน 500,000 บาท ระหว่างวันที่ 18 กรกฎาคม 2544 ถึงวันที่ 6 กันยายน 2544 จำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายให้ไปเก็บเงินค่าสินค้า แต่จำเลยที่ 1 ได้เบียดบังยักยอกเงินจำนวนดังกล่าวเป็นของตนเอง ไม่ส่งมอบให้แก่โจทก์ตามหน้าที่ ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชดใช้เงินแก่โจทก์จำนวน 713,734.66 บาท และให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องรับผิดนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า การทำหนังสือรับสภาพหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 713,734.66 บาท ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ร่วมรับผิดจำนวนไม่เกิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีนี้จำเลยที่ 1 ตกลงยอมชำระหนี้ตามฟ้องให้แก่โจทก์เป็นจำนวน 713,734.66 บาท ตามสัญญาประนีประนอมยอมความลงวันที่ 9 เมษายน 2545 ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้คดีในการพิจารณาคดีของศาลแรงงานกลาง ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ในตำแหน่งพนักงานขายตามใบสมัครเอกสารหมาย จ. 3 มีหน้าที่ขายสินค้าและเก็บเงินจากลูกค้าส่งมอบให้แก่โจทก์ ระหว่างการทำงานจำเลยที่ 1 กระทำผิดหน้าที่โดยเก็บเงินค่าสินค้าจากลูกค้าโจทก์เป็นเงิน 508,342.66 บาท แล้วนำไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวและจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.8 โดยมีมูลหนี้มาจากจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทำให้โจทก์เสียหายเป็นเงิน 455,392 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 ยอมผ่อนชำระ และจำเลยที่ 1 ยังคงค้างชำระจำนวน 205,392 บาท จากข้อเท็จจริงดังกล่าว ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในวงเงินไม่เกิน 500,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.4 และวินิจฉัยว่าคดีไม่ขาดอายุความ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ในข้อ 2.1 ว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์หนี้เดิมจึงระงับสิ้นไป จำเลยที่ 2 จึงหลุดพ้นหรือไม่ เห็นว่า แม้การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่เก็บเงินจากลูกค้าของโจทก์แล้วนำไปเป็นประโยชน์ส่วนตนจะเป็นการละเมิดต่อโจทก์ แต่เนื่องจากโจทก์และจำเลยที่ 1 มีความสัมพันธ์กันตามสัญญาจ้างแรงงาน การที่จำเลยที่ 1กระทำการดังกล่าวจึงเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานอยู่ในตัวด้วย การใช้สิทธิเรียกร้องของโจทก์เกี่ยวกับการผิดสัญญาจ้างแรงงานไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 คือ มีอายุความ 10 ปี มิใช่ 1 ปี ดังที่จำเลยที่ 2 ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ หนี้ของโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ และแม้จำเลยที่ 1 กับโจทก์จะทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ลงวันที่ 9 เมษายน 2545 แต่สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวกระทำภายในศาลหลังมีการฟ้องคดีแล้วจึงเห็นได้ว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อบังคับหนี้ตามฟ้อง มิใช่เพื่อระงับหนี้เดิมและก่อหนี้ใหม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 จึงไม่มีผลให้หนี้เดิมระงับ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงยังต้องรับผิด อุทธรณ์จำเลยที่ 2 ทั้งข้อ 2.1 และข้อ 2.2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน